xs
xsm
sm
md
lg

ฮั้ว1.2พันล.-รฟท.ฮุบJJ! ปม “ชัจจ์” ถูกซักฟอก-สว.ขู่ขัดรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(18 พ.ย.55 นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดเผยว่า จะได้ข้อยุติในวันอังคารที่ 20 พ.ย. นี้ กรณีวันซักฟอกรัฐบาลของวุฒิสภา โดยจะรอดูท่าทีของรัฐบาลอีกครั้ง ทั้งนี้หากมีหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรก็พร้อมจะเข้าใจ เพราะวุฒิสภาไม่ได้ยืนกรานที่จะใช้วันที่ 23-24 พ.ย. เท่านั้น
ส่วนสาเหตุที่รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจใช้วันดังกล่าว เพราะกำลังวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมือง และตรงกับวันชุมนุม พร้อมยืนยันว่าวุฒิสภาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม ขณะเดียวกันหากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจก็อยากให้รัฐมนตรีเข้ามาชี้แจงแทน เนื่องจากตามมาตรา 161 ระบุไว้ชัดเจนว่า หากไม่เข้ามาชี้แจงก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ และอาจทำให้สมาชิกตำหนิหรือยื่นฟ้องรัฐบาลต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ในวันที่ 20 พ.ย. ทางพรรคจะมีการประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ของพรรคฝ่ายค้าน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 25-27 พ.ย. ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลที่คาดว่าฝ่ายค้านจะนำมาอภิปราย เชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะสามารถตอบคำถามและชี้แจงได้อย่างไม่มีปัญหา
อย่างไรก็ตาม พรรคไม่กังวลใจกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้าน ที่จะใช้เวลา 3 วัน แต่กลับเป็นห่วงประเด็นที่นักการเมืองในสภาฯ ใช้วิธีการเดิน 2 ขา คือ ขาตรวจสอบในระบบรัฐสภา และ ขาที่ชวนประชาชนให้เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ในวันที่ 24 พ.ย. นี้ ซึ่งประเด็นนี้อาจทำให้ประชาชนสับสน รวมถึงกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่น การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวจากนานาประเทศได้ โดยขณะนี้หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เดินทางมาเยือนประเทศไทย และอีกไม่นานผู้นำประเทศจีน จะเดินทางมาเยือนอีก ทำให้ประเทศไทยถูกจับตาเป็นอย่างยิ่ง
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลพยายามจัดการกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ที่จะเป็นผู้นำการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในวันที่ 26-27 พ.ย.นี้ ว่า เป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการจัดการศัตรูทางการเมืองให้ได้ ในช่วงเวลานี้ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลและผู้มีบารมีนอกรัฐบาล พยายามเจรจาหลายช่องทางที่จะให้พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยอมรับการนิรโทษกรรม ล้างผิดคนโกง แต่บุคคลทั้งสองไม่ยินยอมให้มีการนิรโทษกรรม โดยขอให้ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อเอาผิดกับทุกฝ่ายที่ทำผิดตามกฎหมาย โดยเฉพาะพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่หลบหนีหลายคดี ทำให้รัฐบาลและผู้มีบารมีนอกรัฐบาล จึงหาทางจัดการนายอภิสิทธิ์ ใน 3 ขั้นตอน คือ
1. ทำลายล้างคุณความดีของนายอภิสิทธิ์ ที่สะสมมาอย่างยาวนานด้วยการกล่าวหาว่า หนีทหาร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลก็ยอมรับว่า เป็นทหารดำเนินการปลดออกจากทหารแทน เป็นยุทธศาสตร์ทำลายล้าง
2. คือการสร้างปัญหา โดยมีการเร่งรีบออกคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์ ในช่วงเวลาเดียวกับการยื่นถอดถอนรัฐมนตรี และอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพื่อสร้างปัญหาในการตรวจสอบ ทำให้สังคมตั้งคำถาม และรัฐบาลเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ ลาออกจากการเป็นส.ส.เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นผู้นำการอภิปราย เพื่อไม่ให้กระทบถึงนายกรัฐมนตรี แต่ก็ตามสกัดไม่ได้ เพราะนายอภิสิทธิ์ ได้ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม โดยยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง และ ป.ป.ช.
3. พยายามฆ่านายอภิสิทธิ์ ให้ตายทางการเมือง โดยยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระหลายแห่ง ว่าการถูกปลดดังกล่าวต้องพ้นสภาพความเป็นส.ส. ซึ่งเป็นการฆ่าให้ตายทางการเมือง ทั้งนี้เห็นว่า ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ ไม่เออออห่อหมกในเรื่องล้างผิดคนโกง และจะมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป แต่พรรคก็พร้อมที่จะรับมือกับรัฐบาล และผู้มีบารมีนอกรัฐบาล เพื่อเรียกความชอบธรรมให้ นายอภิสิทธิ์ เพราะเชื่อมั่นในองค์กรอิสระว่า จะให้ความเป็นธรรมได้
มีรายงานข่าวแจ้งว่า พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตรมช.คมนาคม
ที่พรรคฝ่ายค้านยื่นถอดถอนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พบว่ามีสาเหตุจากทำหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานสำคัญอย่างกรมเจ้าท่า และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
คาดว่าจะถูกอภิปรายในเรื่องของการใช้งบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟูเยียวยาจากที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย วงเงิน 1,215 ล้านบาท ซึ่งจะต้องจัดหาผู้รับเหมาด้วยวิธีพิเศษ จากรายชื่อผู้รับเหมาที่ขึ้นบัญชีกับกรมเจ้าท่าไว้ประมาณ 20 ราย และมีโครงการที่ต้องดำเนินการอยู่ประมาณ 26 โครงการ
“โดยเฉพาะข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะไม่ได้มีการประกาศประกวดราคา (ทีโออาร์) อย่างเป็นทาง หรือเปิดกว้างให้สาธารณชนได้รับทราบ”
รวมทั้งในฐานะกำกับดูแล ร.ฟ.ท. กรณีบอร์ด ร.ฟ.ท. มีมติไม่ต่อสัญญาให้กรุงเทพมหานคร บริหารตลาดนัดจตุจักรต่อไป หลังครบสัญญาวันที่ 1 มกราคม 2555 โดย ร.ฟ.ท. ดึงกลับมาบริหารเองจนเป็นเหตุให้เกิดวิวาทะ ขัดแย้ง ต่อปากต่อคำกันระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ กับผู้บริหาร ร.ฟ.ท.
นายพร้อมพงศ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิด พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีถอดยศนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า เป็นการเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง เพื่อปกป้องพวกพ้อง ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าเป็นการยื่นฟ้องผิดที่ พร้อมตั้งคำถามว่า ทำไมนายอภิสิทธิ์ จึงไม่ฟ้องศาลยุติธรรมเหมือนกรณีที่เคยฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ก่อหน้านี้ จึงมองว่าการกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการปกป้องพวกเดียวกันเอง โดยไม่คำนึงถึงข้อเรียกร้องของประชาชน ที่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการแถลงข่าวของนายพร้อมพงศ์ ได้มีแม่บ้าน ประจำพรรคเพื่อไทย ได้เดินมาสอบถามกับผู้สื่อข่าว ถึงเจ้าของของกระเป๋าเป้ สีดำ ที่วางอยู่ภายในห้องแถลงข่าว พรรคเพื่อไทย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ซึ่งยังไม่มีผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของ ทั้งนี้ไม่มีผู้สื่อข่าวที่มาทำข่าวคนใดแสดงตัวเป็นเจ้าของ ทำให้ต้องมีการเรียก เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจพิสูจน์ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของพรรคเพื่อไทย มีอาการหวาดผวาอย่างเห็นได้ชัด เพราะเกรงว่าในกระเป๋าดังกล่าวจะมีการซุกซ่อนระเบิดไว้
ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า ภายในไม่มีวัตถุระเบิด พบเพียงแค่หนังสือ, เอกสาร, และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการทำข่าว เช่น ปากกา เท่านั้น นอกจากนั้นแล้วยังพบพาสปอร์ต ของนายศุภกร จันทรศรีสุริยะวงษ์ อายุ 22 ปี และเมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบจนแน่ใจว่าไม่มีวัตถุอันตราย จึงได้นำกระเป๋าดังกล่าวไปเก็บไว้ที่ฝ่ายกองงาน พรรคเพื่อไทย เพื่อรอให้เจ้าของมาติดต่อรับคืนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น