xs
xsm
sm
md
lg

ประชุม ครม.เตรียมชงเจ้าภาพ “เอเปก 2022” แก้ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน-ศุลกากร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากแฟ้ม)
วาระการประชุม ครม.วันพรุ่งนี้ จับตาการแก้ พ.ร.บ.ห้ามสถาบันการเงินปล่อยกู้-ค้ำประกันหนี้ผู้บริหาร ด้าน ธอส.ขอกู้ในประเทศ 4 พันล้าน ทดแทนพันธบัตรเดิม แก้ พ.ร.บ.ศุลกากร ปลดล็อกอุปสรรคการค้าการลงทุน รองรับเออีซี ด้านกระทรวงการต่างประเทศ ชง ครม.ดันไทยเจ้าภาพเอเปก ปี 2022 เสริมภาพลักษณ์ไทยบนเวทีโลก-คว้าโอกาสทางเศรษฐกิจ และจัดประชุมการพัฒนาอย่างยั่งยืนประเทศอนุภูมิภาคแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง อีกด้านชงบริจาคเพิ่มยูเอ็นหน่วยบรรเทาผู้อพยพปาเลสไตน์

มีรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 พ.ย.กระทรวงการคลัง เสนอร่างพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน (ฉบับที่ ...) พ.ศ.… (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 48(1) แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน (พ.ศ.2551) จากนั้นให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดห้ามมิให้สถาบันการเงิน ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม ให้สินเชื่อทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ หรือประกันหนี้แก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว เว้นแต่เป็นการให้สินเชื่อในรูปของบัตรเครดิตตามอัตราขั้นสูงที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด หรือการให้สินเชื่อเพื่อเป็นสวัสดิการแก่บุคคลดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. ประกาศกำหนด หรือการให้สินเชื่อตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท.ประกาศกำหนด เมื่อเห็นว่าการให้สินเชื่อนั้นไม่ได้เป็นการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินออกจากสถาบันการเงินโดยมิชอบ

อีกด้านหนึ่ง กระทรวงการคลัง เสนอเรื่องการกู้เงินของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ปีงบประมาณ 2556 โดยขออนุมัติดังนี้ 1.ขออนุมัติให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กู้เงินในประเทศในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 4,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนพันธบัตรเดิมที่ครบกำหนดโดย กระทรวงการคลัง ค้ำประกัน 2.ขออนุมัติให้ กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงิน และการค้ำประกันในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังขอความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ...) พ.ศ.… รวม 2 ฉบับ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติรวม 2 ฉบับ ดังนี้ คือ 1.ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ.…. และ 2.ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) พ.ศ.…. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แล้วให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเท็จจริงกระทรวงการคลังเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า กรมศุลกากรได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ.… และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ...) พ.ศ.… รวม 2 ฉบับ เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน และเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกสินค้าและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชนในการนำเข้า ส่งออก และดำเนินธุรกิจการค้าการลงทุน โดยเป็นร่างกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพิธีการศุลกากรที่เรียบง่ายและสอดคล้องกัน (The International Convention on the Simplification and Harmonization of Customs Procedures) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทำให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันประเทศไทยได้ ตลอดจนเพื่อให้มีกฎหมายรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 จึงสมควรแก้ไขกฎหมายศุลกากรดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ.… เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนการถ่ายลำออกนอกราชอาณาจักรและอำนาจของพนักงานศุลกากรในการตรวจสอบ ตรวจค้นของผ่านแดนหรือของถ่ายลำ และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการร้องขอให้อธิบดีกรมศุลกากรพิจารณากำหนดราคาของของนำเข้า กำหนดถิ่นกำเนิดของของที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักรและตีความพิกัดอัตราศุลกากรเพื่อจำแนกประเภทของของในพิกัดอัตราศุลกากร เป็นการล่วงหน้า กำหนดอำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรในการจำกัดการใช้อำนาจทางศุลกากร เพื่อตรวจของและป้องกันการลักลอบหนีศุลกากร กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในการศุลกากร

สำหรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 (ฉบับที่ ...) พ.ศ.… กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดอัตราอากรตามราคาหรือตามสภาพ เพื่อปฏิบัติตามข้อผูกพันตามสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ กำหนดอำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรในการพิจารณากำหนดถิ่นกำเนิดของของที่จะ นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเป็นการล่วงหน้า ก่อนการนำของเข้ามาในราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังกำหนดอำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรในการพิจารณาตีความพิกัดอัตราศุลกากรเพื่อจำแนกประเภทของของที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการล่วงหน้าก่อนการนำของเข้ามาในราชอาณาจักร รวมทั้งกำหนดประเภทของของที่ได้รับยกเว้นอากรเพิ่มขึ้น

ด้านกระทรวงการต่างประเทศ เสนอเรื่อง การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปี 2565 (ค.ศ. 2022) โดยขออนุมัติดังนี้ คือ 1.ขอให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปี 2565 (ค.ศ. 2022) และ 2. ขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงานต่างๆ ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อเตรียมการสำหรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกในปี 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญของเรื่อง กต.รายงานข้อเท็จจริงว่า 1.ในระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 20 ณ นครวลาดิวอสต็อก สหพันธรัฐรัสเซีย นายกรัฐมนตรีได้แจ้งความประสงค์ของไทยที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปี 2565 (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 กันยายน 2555) ทั้งนี้ สมาชิกเอเปกจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในแต่ละปี โดยจะต้องจัดการประชุมที่เกี่ยวข้องตลอดปีทั้งในระดับรัฐมนตรีสาขาต่างๆ เจ้าหน้าที่อาวุโส คณะกรรมการ และคณะทำงาน ซึ่งการประชุมที่สำคัญที่สุด คือ การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปี

2.ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งเอเปก ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 (ค.ศ.1989) ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ความร่วมมือในกรอบเอเปคเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการกับสมาชิกเอเปคที่เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไทย ทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 3.ในขณะนี้มีเขตเศรษฐกิจสมาชิกเสนอตัวเป็นเจ้าภาพเอเปคแล้วจนถึงปี 2564 (ค.ศ.2021) กอปรกับเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วหลังจากไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี (APEC Ministerial Meeting-AMM) เมื่อปี 2535 (ค.ศ.1992) และการประชุมระดับผู้นำ (APEC Economic Leaders Meeting-AELM) เมื่อปี 2546 (ค.ศ.2003) ภายใต้หัวข้อหลัก “A World of Differences : Partnership for the Future” ดังนั้น การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกของไทยในปี 2565 จึงถือเป็นช่วงจังหวะเวลาเหมาะสมที่ไทยจะมีบทบาทเด่นและสร้างสรรค์ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศชั้นนำอีกครั้ง

4.ไทยควรแจ้งความจำนงในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคต่อสำนักเลขาธิการ เอเปกอย่างเป็นทางการในโอกาสแรก เพื่อเป็นการดำเนินการตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ต่อที่ประชุมผู้นำ และเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของไทยในเรื่องดังกล่าว อันจะช่วยรักษาโอกาสของไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2565 และ 5.การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์และภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งในแง่บทบาทของไทยในเวทีเอเปก ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นนำกรอบหนึ่งของโลก การผลักดันประเด็นสำคัญต่างๆ เชิงนโยบาย และการแสดงศักยภาพของไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับนานาชาติ รวมทั้งผลประโยชน์ทางอ้อมทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ การเตรียมการเพื่อให้ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมดังกล่าวได้อย่างเรียบร้อยและสำเร็จลุล่วงอย่างเต็มภาคภูมิ ต้องอาศัยความร่วมมือและการดำเนินการของส่วนราชการหลายภาคส่วน จึงต้องขอความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรีเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการและมีส่วนร่วมในคณะทำงาน/คณะกรรมการด้านต่างๆ ซึ่งจะมีการจัดตั้งขึ้นในระยะต่อไปสำหรับการเตรียมงานจัดการประชุมในปี 2565

อีกด้านหนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้ ครม.พิจารณา เรื่องการบริจาคเงินเพิ่มเติมแก่หน่วยบรรเทาและปฏิบัติงานเพื่อผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ของสหประชาชาติ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ขออนุมัติในหลักการให้ไทยเพิ่มเงินบริจาคโดยสมัครใจให้แก่หน่วยบรรเทาและปฏิบัติงานเพื่อผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ของสหประชาชาติ (The United Nations Relief and Works Agency for Palestine Refugees in the Near East – UNRWA) จากปีละ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2557 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการบริจาค หรือสถานการณ์ในปาเลสไตน์ หรือบริบททางสภาวะเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ กต.จะประสานขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้กับสำนักงบประมาณต่อไป

ขณะเดียวกัน กระทวงการต่างประเทศ เสนอเรื่อง ขออนุมัติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง โดยกต.ขออนุมัติให้ประเทศไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (International Conference on Sustainable Development in the Lancang-Mekong Sub-Region) เพื่อเป็นเวทีสำหรับการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในระดับนโยบายเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคแม่น้ำล้านช้างและแม่น้ำโขงที่ประกอบด้วยกัมพูชา จีน เมียนมาร์ ส.ป.ป.ลาว ไทย และเวียดนาม ซึ่งจะมีผลในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือในสาขาต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการภัยพิบัติจากน้ำ ความร่วมมือด้านการเกษตรและการประมง การท่องเที่ยว และความปลอดภัยในการเดินเรือในแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม อันจะส่งผลดีต่อประชาชนในไทยและในอนุภูมิภาค

โดยการประชุมจะแบ่งเป็น 2 ช่วงการประชุม คือ การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2555 ณ กรุงเทพฯ และการประชุมระดับรัฐมนตรี (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 มกราคม 2556 ณ จังหวัดเชียงใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น