xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.จี้ รบ. แจงมะกันตั้งฐานทัพเรือรบในไทย หวั่นร่วมกรอบทีพีพี กระทบจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา(แฟ้มภาพ)
“คำนูณ” อ้างแหล่งข่าวนายทหารแฉสหรัฐฯ ใช้เอกชนบังหน้า ลอบนำเรือสงครามจอดแหลมฉบัง ยกเหตุช่วยน้ำท่วม จี้ รบ.เคลียร์เรื่องอธิปไตย โวยนี่ขนาดยังไม่รวมกรอบความตกลงทีพีพี “เจตน์” เตือนสหรัฐฯ ยืมมือไทยจัดการจีน ขออย่าเร่งรัดทำกรอบความตกลง เชื่อทำไปกระทบซื้อยาแพง โดนสหรัฐฯ กดดัน แจงเข้าข่าย ม.190 ต้งให้สภาสอบก่อน

วันนี้ (19 พ.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า จากกรณีที่นิตยสารสุดสัปดาห์ฉบับหนึ่งระบุถึงคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ นายทหารที่เกษียณอายุราชการ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลแห่งสถาบันพระปกเกล้า “วันนี้ไม่มีใครรู้ว่าอเมริกามาตั้งฐานทัพเรืออยู่ที่ประเทศไทย ก่อนหน้านี้ ขอมายังกองทัพเรือไทยแต่ไม่อนุญาต กองทัพสหรัฐฯ จึงใช้บริษัทเอกชนมาบังหน้า เข้ามาเช่าที่ในท่าเรือแหลมฉบัง และขนเรือรบมาจอดประจำการฝั่งไทย โดยอ้างว่าเป็นเรือเพื่อใช้สำหรับช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม แต่รู้หรือไม่ว่านั่นคือ เรือรบนิวเคลียร์ที่มีอยู่ 1 ใน 6 ลำของโลก เป็นเรือที่สามารถบรรทุกเครื่องบินรบได้” ตนอยากถามว่าสหรัฐอเมริกานำเรือที่ใช้ในการรบสงครามมาจอดในประเทศไทยได้อย่างไร ซึ่งอยากฝากไปยังนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมดให้ช่วยชี้แจงถึงความเป็นจริงหรือไม่จริงอย่างไร และถ้ามีความเป็นจริงเป็นผลเสียแก่อธิปไตยประเทศอย่างไร ซึ่งตนขอตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ขณะที่เรายังไม่ได้ร่วมลงนามกรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ก็มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น และถ้าร่วมเป็นพันธมิตรแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป

ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธานนท์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า กลุ่มเขตการค้าเสรีใหม่ (ทีพีพี) ที่มีอยู่ 16 ประเทศ แต่ไม่มีไทย โดยมีสหรัฐฯ เป็นหัวเรือใหญ่นั้น มีสิ่งที่น่าสนใจคือสมาชิกของทีพีพีทั้งหมดก็เป็นสมาชิกของความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ทั้งสิ้น โดยประกอบด้วย 21 ประเทศ รวมสาธารณรัฐประชาชนจีน ซี่งนายกฯ กำลังจะนำประเทศไปสู่การเขาควาย ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นอกจากนี้ ทีพีพีได้ประชุมมาแล้ว 14 ครั้ง ในระยะเวลาเพียง 2 ปี และครั้งที่ 15 จะจัดประชุมที่โฟลคแลนด์ ระหว่างวันที่ 3-12 ธ.ค.55 ซึ่งตนสงสัยว่าเหตุใดจึงมีความเร่งรีบ และทำไมถึงต้องทำการเขตการค้าเสรี โดยไม่ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่นเข้าร่วม

นพ.เจตน์กล่าวต่อว่า และเมื่อดูเป้าประสงค์ที่เปิดเผยก็จะเห็นว่า ต้องการขยายการค้าส่งออก และการสร้างงานในต่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกาเอง และเจรจาทางการเงิน และการลงทุน สิ่งแวดล้อม การค้า ที่สำคัญคือ ทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการการใช้สิทธิ (จีแอล) โดยไม่ขัดกฎทางการค้า อีกทั้งการเจรจาครั้งนี้จะทำให้คนไทยซื้อยาราคาที่แพงขึ้น ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะเปิดการค้าได้ตามต้องการ ตามความพร้อมของประเทศนั้นๆ แต่ทีพีพีจะต้องเผชิญกับแรงกดดันของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเปิดตลาดด้านการเงิน รัฐบาลจึงจะต้องรอบคอบ และยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และเห็นว่าการทำข้อตกลงดังกล่าวเข้าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ซึ่งรัฐบาลควรต้องส่งเรื่องให้รัฐสภาเห็นชอบ อีกทั้งยังต้องทำประชาพิจารณ์ถามทุกฝ่าย และให้เวลาอย่ารวบรัดด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น