วาระ ครม.คลังชงร่าง พ.ร.ฎ.ลดอัตรารัษฎากร ส่งเสริมกองเรือพาณิชย์ไทย-ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์กรคลังสินค้าลุยธุรกิจหารายได้ ส่วน กก.กลั่นกรอง ศก.ชุดกิตติรัตน์ เสนอโครงการเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานปรับปรุงทางรถไฟเกือบหมื่นล้าน-ชงอนุมัติ 1.4 พันล้านช่วยลาวสร้างถนน 2 สายเชื่อมพะเยา-ชง ธ.อิสลามบริการรับชำระหนี้-บัตรเครดิต ขณะที่ สปน.ของบ 27 ล้านชดเชยราษฎรเดือดร้อนสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยปล้อง อ.เทิง จ.เชียงราย ด้าน มท.1 ชงตั้ง 18 ผวจ. เผยโผมุ้งการเมืองมาเพียบ
วันนี้ (12 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล มีรายงานว่าการประชุม ครม.ในวันนี้ มีวาระการประชุมโดยกระทรวงพาณิชย์เสนอเรื่องร่างพระราชกฤษฎีการจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. …. ให้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีการจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา 1. ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่ม 2. กำหนดบทนิยามคำว่า “กรรมการ” และ “ลูกจ้าง” 3. เปลี่ยนสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่จากจังหวัดพระนคร เป็นจังหวัดนนทบุรี 4. ปรับปรุงวัตถุประสงค์ให้ อคส. สามารถดำเนินธุรกิจอื่นที่เป็นประโยชน์แก่กิจการของ อคส. 5. เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ให้สามารถดำเนินธุรกิจเช่าซื้อ จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ถือหุ้นหรือเข้าเป็นหุ้นส่วน ร่วมลงทุนหรือเข้าร่วมกิจการกับนิติบุคคลอื่นตลอดจนกระทำการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ อคส. 6. เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการ อคส. เพื่อแก้ปัญหาองค์ประกอบของคณะกรรมการไม่ ครบ เป็นเหตุให้ อคส. ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ 7. ให้ผู้อำนวยการ อคส. มาจากการจ้าง โดยคณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจจ้างและเลิกจ้าง รวมทั้ง กำหนดอัตราเงินเดือนด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ 8. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การรักษาการแทนในกรณีตำแหน่งผู้อำนวยการ อคส. ว่างลง หรือไม่อาจ ปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ขณะที่คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ซึ่งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ เป็นประธาน เสนอเรื่องการบริหารโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan : DPL) ซึ่งเป็นใปตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เป็นประธานกรรมการ ในคราวประชุมครั้งที่ 14/2555 เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2555 ดังนี้ 1. รับทราบผลการพิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นของโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เรียงตามลำดับความสำคัญ ดังนี้ (1) โครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย (2) โครงการติดตั้งเครื่องกั้นเสมอระดับและปรับปรุงเครื่องกั้นจำนวน 105 แห่ง และ (3) งานติดตั้งรั้วสองข้างทางตามแนวเขตทางรถไฟ จำนวน 17 รายการ
2. อนุมัติให้ดำเนินโครงการและอนุมัติการจัดสรรวงเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan : DPL) ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (คณะกรรมการเงินกู้ DPL) ดังนี้ (1) โครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัยของ ร.ฟ.ท. กระทรวงคมนาคม (คค.) จำนวน 4 สายทาง ระยะทาง 265 กิโลเมตร ได้แก่ 1) ระหว่างสถานีคลองรังสิต-ชุมทางบ้านภาชี ระยะทาง 120 กิโลเมตร 2) ระหว่างชุมทางบ้านภาชี-มาบกะเบา (เดิม) ระยะทาง 44 กิโลเมตร 3) ระหว่างชุมทางศรีราชา-ชุมทางเขาชีจรรย์-สัตหีบ ระยะทาง 66 กิโลเมตร และ 4) ระหว่างชุมทางเขาชุมทอง-นครศรีธรรมราช ระยะทาง 35 กิโลเมตร วงเงินรวมทั้งสิ้น 2,939.2523 ล้านบาท (2) โครงการติดตั้งเครื่องกั้นเสมอระดับและปรับปรุงเครื่องกั้นจำนวน 105 แห่ง วงเงิน 195.42 ล้านบาท (3) โครงการ GFMIS-SOE ส่วนขยาย (ระยะที่ 2) ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กค. วงเงิน 87 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดต่อไปด้วย
3. อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการ และอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินในประเทศและให้การรถไฟแห่งประเทศไทยกู้เงินต่อจากกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัยในสายทางที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรแหล่งเงินลงทุนจำนวน 8 สายทาง ระยะทาง 849 กิโลเมตร รวมวงเงิน 8,874.62 ล้านบาท และให้สำนักงบประมาณ พิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นงบชำระหนี้ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อใช้ชำระหนี้คืนแก่แหล่งเงินกู้โดยตรงทั้งในส่วนเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังจะได้ตกลงกับการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อไป ส่วนงานติดตั้งรั้วสองข้างทางตามแนวเขตทางรถไฟ จำนวน 17 รายการ วงเงิน 3,046.13 ล้านบาท ให้มีการทบทวนความเหมาะสมของโครงการให้รอบคอบ และนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ คณะที่ 4 ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
กระทรวงการคลังเสนอ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อการส่งเสริมกองเรือพาณิชย์ไทย) สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา เป็นการกำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้ที่นำมาคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 1 สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าเช่าเรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งการเช่าเรือนั้นได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวี ทั้งนี้ เฉพาะค่าเช่าที่มีการจ่ายตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556
เสนอเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป.ลาว สำหรับโครงการปรับปรุงและก่อสร้างถนนช่วงบ้านฮวก (จ.พะเยา)-เมืองคอบ-เมืองเชียงฮ่อน และเมืองคอบ-เมืองปากคอบ-บ้านก้อนตื้น สปป.ลาว โดยขอเห็นชอบในหลักการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ทั้งนี้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการปรับปรุงและก่อสร้างถนนช่วงบ้านฮวก (จ.พะเยา)-เมืองคอบ-เมืองเชียงฮ่อน และเมืองคอบ-เมืองปากคอบ-บ้านก้อนตื้น สปป.ลาว ตามประมาณการราคาเบื้องต้น จำนวน 1,473.88 ล้านบาท นอกจากนี้ให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) จะได้ไปศึกษา สำรวจออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างให้เสร็จเรียบร้อย และนำผลศึกษาประมาณราคาค่าใช้จ่ายเสนอให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติรูปแบบวิธีการ และเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่เหมาะสมแก่โครงการดังกล่าวต่อไป
เสนอเรื่องร่างกฎกระทรวงกำหนดกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….ให้ที่ประชุมพิจารณา โดยขออนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. ก่อนให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง มีรายละเอียดดังต่อใปนี้ คือ 1. กำหนดให้ ธอท.สามารถประกอบกิจการดังต่อไปนี้ได้ 1) การให้บริการเป็นตัวแทนรับชำระหนี้ 2) การให้บริการบัตรเครดิต 3) จัดตั้งหรือร่วมกิจการกับบุคคลอื่นเพื่อจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับตราสารศุกูก 2. กำหนดให้ ธอท.อาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการ กำไร หรือผลตอบแทนใดๆ อันเนื่องมาจากการประกอบกิจการตามข้อ 1 ได้
ด้านสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยปล้อง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย โดยขออนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ ดังนี้ 1. ขออนุมัติหลักการให้จ่ายเงินเยียวยาค่าชดเชยที่ดินและค่าเสียโอกาสในการทำกินเป็นกรณีพิเศษให้แก่ราษฎร จำนวน 48 ราย เนื้อที่รวม 682-2-62 ไร่ ในอัตราไร่ละ 40,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 27,306,200 บาท โดยใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้ สปน.นำมาใช้จ่ายเพื่อการนี้ 2. ขออนุมัติให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบและกำกับดูแลการจ่ายเงินเยียวยา ค่าชดเชยที่ดินและค่าเสียโอกาสในการทำกินเป็นกรณีพิเศษให้แก่ราษฎรดังกล่าวให้เป็นไปอย่างถูกต้องเรียบร้อย ด้วยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร และระมัดระวังมิให้มีการจ่ายเงินให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิ โดยถือความเห็นของคณะกรรมการเป็นหลักฐานประกอบในการอนุมัติจ่ายเงิน รวมทั้งป้องกันมิให้มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลแสวงหาผลประโยชน์จากการจ่ายเงินให้แก่ราษฎร ดังนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็น ประธานกรรมการ คณะกรรมการประกอบด้วย อัยการจังหวัดเชียงราย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย นายอำเภอเทิง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย นายจรูญ ไชยคำ (ตัวแทยราษฎร) นายพัด จักรดี (ตัวแทนราษฎร) โดยมี ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการกองคลัง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
นอกจากนี้ มีรายงานว่า นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย เตรียมเสนอบัญชีรายชื่อแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด 18 ตำแหน่ง และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย 4 ตำแหน่ง ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยก่อนหน้านี้ได้เปิดสอบคัดเลือกจากรองผู้ว่าฯ และรองอธิบดีผ่านการคัดเลือกมีสิทธิ์สอบในตำแหน่งผู้ว่าฯ 83 ราย ส่วนตำแหน่งผู้ตรวจ ฯ 22 ราย ล่าสุดบัญชีรายชื่อที่คาดว่า จะได้รับการแต่งตั้งในพื้นที่ต่างๆ ล้วนเป็นบุคคลที่ได้รับการผลักดันสนับสนุนจากมุ้งการเมืองของพรรคเพื่อไทยเป็นส่วนใหญ่ และนักการเมืองเจ้าของพื้นที่ อาทิ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ จะดูแลพื้นที่ภาคเหนือนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช พื้นที่ภาคอีสาน นอกจากนี้จังหวัดที่เป็นของพรรคร่วมรัฐบาล อย่างนายบรรหาร ศิลปอาชา หรือนายฐานิสร์ เทียนทอง ก็ได้ส่งชื่อผู้ที่ได้รับการสนับสนุนมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้กว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาแล้ว
สำหรับบัญชีรายชื่อผู้ว่าฯ 18 จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งไล่เรียงเป็นรายภาค โดยพื้นที่ภาคอีสาน 6 จังหวัด มีดังนี้ นายสุวิทย์ สุบงกฎ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็น ผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ นายนพวัชร สิงห์ศักดา รอง ผวจ.อุดรธานีเป็นผู้ว่าฯบึงกาฬ นายสมเกียรติ สังขาวสุทธิรักษ์ รอง ผวจ.ภูเก็ต เป็นผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ นายธนวัฒน์ พลอยโสภณ รอง ผวจ.ขอนแก่น เป็นผู้ว่าฯ อำนาจเจริญ นายธงชัย ลืออดุลย์ รอง ผวจ.มุกดาหาร เป็นผู้ว่าฯ มุกดาหาร นายภัครธรณ์ เทียนไชย รอง ผวจ.ชลบุรี เป็นผู้ว่าฯ สระแก้ว
ส่วนพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและล่างมี 6 จังหวัด ดังนี้ นายชูชาติ กีฬาแปง รอง ผวจ.เชียงใหม่ เป็นผู้ว่าฯ พะเยา นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รอง ผวจ.สมุทรสาคร เป็นผู้ว่าฯ แพร่ นายชุมพร แสงมณี รอง ผวจ.ลำพูน เป็นผู้ว่าฯ น่าน นายพินิจ หาญพานิชย์ รอง ผวจ.เชียงราย เป็นผู้ว่าฯ ลำพูน นายสกลสฤษฎ์ บุญประดิษฐ์ รอง ผวจ.นครราชสีมา เป็นผู้ว่า ฯ อุตรดิตถ์ นายสุรพล แสวงศักดิ์ รอง ผวจ.ราชบุรี เป็นผู้ว่าฯ สุโขทัย
ขณะที่พื้นที่ภาคกลางและใต้มี 6 จังหวัด ดังนี้ นายมณเฑียร ทองนิตย์ รองอธิบดีกรมที่ดิน เป็นผู้ว่าฯสิงห์บุรี นายสุภัทร์ ศรีสุนทรพินิต รอง ผวจ.สุพรรณฯ เป็นผู้ว่าฯ สุพรรณบุรี นายฉัตรป้อง ฉัตรภูมิ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้ว่าฯ เพชรบุรี นายวิทยา พานิชพงศ์ รอง ผวจ.ปัตตานี เป็นผู้ว่าฯ ระนอง นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี นายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ รอง ผวจ.ชุมพร เป็นผู้ว่าฯ สตูล
สำหรับตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย 4 ตำแหน่งนั้น มีดังนี้ ว่าที่ ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต รองอธิบดี ปภ. นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองอธิบดี พช. (รกน.ที่ปรึกษาฯ) นายพงศธร สัจจชลพันธ์ รอง ผวจ.กาญจนบุรี นายศุภชัย เหลืองแสงทอง รอง ผวจ.พังงา