“ทูตสุรพงษ์” ไม่เชื่อศาลอาญาระหว่างประเทศรับสอบสลายชุมนุมแดงจริง เพราะไม่เข้าเงื่อนไขหลายประการ ท้าโชว์หลักฐาน เผยไม่ใช่เรื่องง่าย และหากรับเรื่องยังต้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอนุมัติด้วย เมื่อพบว่าเป็นเพียงการกำจัดศัตรูทางการเมืองเรื่องก็จะตกไปอยู่ดี
วันที่ 6 พ.ย. นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูต 5 ประเทศ กล่าวในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ช่วงหนึ่งว่า คนสับสนระหว่างศาลอาญาระหว่างประเทศ ICC กับอีกอันศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ICJ อันหลังพิจารณาคดีรัฐต่อรัฐ อย่างเช่นคดีปราสาทพระวิหาร ส่วน ICC นั้นจะพิจารณาตัวบุคคลในความผิดทางอาญา มี 4 ประการ 1.เข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คือ การที่รัฐบาล หรือกลุ่มบุคคลในประเทศใดก็ตามมีการไตร่ตรอง วางแผนกำจัดศัตรูบนพื้นฐานเรื่องของความต่างทางศาสนา ความต่างทางชาติพันธุ์ โดยทำอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ 2.การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เช่น เมื่อเกิดสงครามกลางเมือง ฝ่ายที่ขัดแย้งในแต่ละประเทศมีการชำเรา ทรมาน เข่นฆ่า โดยเกิดเป็นขั้นตอนและต่อเนื่อง 3.การก่ออาชญากรรมสงคราม อันนี้ยังเป็นปัญหามาก เพราะยังไม่ตกลงคำจำกัดความของอาชญากรรมสงครามไม่ได้ว่าคืออะไรกันแน่ 4.การรุกรานอธิปไตย ก็คือประเทศหนึ่งรุกรานอีกประเทศหนึ่ง
โดยศาลอาญาระหว่างประเทศนี้มีประมาณ 120 กว่าประเทศที่ร่วมลงนามเห็นชอบให้ก่อตั้ง รวมไทยด้วย แต่มีประมาณ 100 กว่าประเทศที่ให้สัตยาบันยอมรับอำนาจศาล แต่ไทยไม่ได้ให้สัตยาบัน
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าประเทศต่างๆ ที่ให้สัตยาบันแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าศาลนี้มีอำนาจอธิปไตยเหนือประเทศนั้นๆ ถ้ารัฐที่ให้สัตยาบันแล้ว เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มีการร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาเอาผิด ก็ไม่ใช่ว่า ICC จะเข้ามาพิจารณาได้โดยอัตโนมัติ สิ่งแรกเขาต้องถามว่าประเทศนั้นไม่มีกฎหมายที่เอาผิดได้เองหรือ สอง หากมีกฎหมายแต่รัฐล้มเหลวเพราะมีสงครามกลางเมือง สาม กระบวนการยุติธรรมของประเทศนั้นถูกแทรกแซงไม่สามารถเชื่อถือได้ สี่ ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ามีการเข้าข่ายทำผิดจริง และหากผ่านแล้วก็ไม่ใช่จะทำอะไรได้เลย เพราะต้องขึ้นอยู่กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย โดยเขาจะดูว่าเป็นการฟ้องเพื่อยืมมือศาลมากำจัดฝ่ายการเมืองตรงกันข้ามหรือเปล่า ถ้าเห็นว่าเป็นคดีที่มีวาระซ่อนเร้นภายในก็จะไม่อนุมัติ แล้วหากหนึ่งในห้าสมาชิกถาวร (จีน, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา) ใช้สิทธิยับยั้งเรื่องก็จะตกไป ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ที่สำคัญ ประเทศไทยยังไม่ให้สัตยาบัน ซึ่งจะทำให้เรื่องหยุดชะงักแค่นี้ เพราะ ICC จะเข้ามาพิจารณาเฉพาะประเทศที่ให้สัตยาบันแล้วเท่านั้น แล้วหากจะไปลงนามให้สัตยาบันก็ต้องเอาเข้าสภาก่อนตามมาตรา 190
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า กรณีสลายการชุมนุมปี 53 มันเป็นคำตอบในตัวอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องการเมืองทั้งนั้น โอกาสเป็นไปได้ยากที่ศาลจะรับพิจารณา และถ้าบอกว่าศาลยอมรับเรื่อง ก็ต้องเอาหลักฐานมาดูว่าศาลกล้าจริง หรือเพราะเท่ากับว่าเล่นการเมืองไม่ใช่ศาลแล้ว และผู้พิพากษา 18 คน ต้องรับผิดชอบต่อประเทศที่ให้สัตยาบัน
การสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์เป็นสิทธิอำนาจของรัฐในการสลายการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย หากเทียบกับกรณีตากใบ ในทัศนะของตน แม้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงก็จริง แต่ไม่ใช่การตริตรอง วางแผนล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ จึงไม่เข้าข่ายอำนาจศาลเช่นกัน แต่กรณีฆ่าตัดตอนยาเสพติดเข้าข่ายมาก
ส่วนกรณีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อถามว่าจะมีผลต่อประเทศไทยอย่างไร นายสุรพงษ์ กล่าวว่า มั่นใจได้เลยไม่ว่าใครจะชนะ นโยบายต่อประเทศเราไม่เปลี่ยนแปลง อย่าว่าแต่แค่ประเทศเรา นโยบายต่างประเทศของทุกประเทศในโลกมักสานต่อกันมาเรื่อยๆ อาจต่างกันที่วิธีการ ยุทธวิธี แต่เนื้อหา เป้าหมายไม่เปลี่ยน
โดยเป้าประสงค์ของอเมริกาต่อภูมิภาคอาเซียน ก็คือ 1.ไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งเข้ามาช่วงชิงอำนาจเหนือสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ 2.หาทางรักษา ปกป้องเส้นทางเดินเรือเพื่อการพาณิชย์ 3.รักษาเสถียรภาพความมั่นคงในภูมิภาค เพื่อผลประโยชน์ต่อสหรัฐฯ เอง 4.รักษาความมั่นคงกับประเทศที่เป็นพันธมิตร เช่น ไทย และสนับสนุนประเทศที่เป็นพันธมิตรมีฐานะเป็นรัฐบริวาร และหารัฐบริวารเพิ่มขึ้นอีก 5.ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ตราบใดที่ไม่ขัดกับผลประโยชน์ 4 ข้อข้างต้น กล่าวคือ หากประเทศใดเป็นเผด็จการแต่ไม่ขัดผลประโยชน์ ก็จะไม่ทำอะไร แต่ถ้าขัดผลประโยชน์ก็จะเอาเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เข้าไปเล่นงาน นอกจากนี้ ต้องทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้ เพราะแตกแยกมากเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องพึ่งสหรัฐฯ มากเท่านั้น
นายสุรพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า นโยบายของไทยหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ ต้องไม่ให้ไทยเป็นรัฐบริวารของเขา เราต้องยอมรับว่าไทยเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เป็นพื้นที่ของการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจหลายประเทศ แต่ตัวละครหลักก็คือ จีนและสหรัฐฯ นโยบายต่างประเทศของไทยต้องตระหนักว่าเป้าประสงค์ของเขาหมือนเดิม ฉะนั้น ทำอย่างไรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเราไว้ ให้มีอำนาจต่อรองได้ นโยบายต้องไม่ไร้ทิศไร้ทางแบบที่ผ่านมา ไม่ใช่อะไรก็ได้ เพราะอำนาจนำทางเศรษฐกิจมาอยู่ทางเอเชียหมดแล้ว อเมริกา ยุโรป เสื่อมลงเรื่อยๆ ขั้วอำนาจกระจายตัวมาก ต้องอ่านสถานการณ์ให้ออก ไม่ใช่ว่าเห็นจีนกำลังผงาดแล้วต้องเลือกข้างจีน ที่ถูกต้องไม่เลือกข้าง และไม่เอาทั้งสองข้าง เราต้องแสวงหาพื้นที่ให้แก่ไทยภายใต้ความขัดแย้งของมหาอำนาจ ด้วยการหาผลประโยชน์จากความร่วมมือ และขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน