“ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน” ขอบคุณ ป.ป.ช.มีมติสอบฮั้วประมูล 3G พร้อมชง กทค.ละเว้นหน้าที่ ผิด ม.157 ซัดพบพิรุษเพียบเอื้อประโยชน์เอกชน ไม่เห็นด้วยให้อัยการร่วมไต่สวน เหตุมีผลประโยชน์ร่วม พร้อมเร่งทำหน้าที่ หลัง กทค.รวบรัดเล็งออกใบอนุญาติ 20 พ.ย. ยกเคสปัญหาทรู-CAT เป็นตัวอย่าง ยันเลยอำนาจ กทค.สอบกันเองแล้ว ลั่นอยากให้มี 3G แต่ต้องปลอดโกง
วันนี้ (26 ต.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ระบุเห็นด้วยและขอบคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่มีมติตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนตรวจสอบกรณีการประมูล 3G ว่าเข้าข่ายขัดต่อ พ.ร.บ.ฮั้วประมูลหรือไม่ ซึ่งแนวที่ ป.ป.ช.วางไว้ คือ การสอบทั้งในส่วนพฤติกรรมของเอกชนผู้เข้าประมูล และในส่วนที่เป็นพฤติกรรมของคณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง โดยในคำร้องของตนได้เสนอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนการปฏิบัติหน้าที่ของ กทค.ด้วยว่าเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 ด้วยหรือไม่
นายสุริยะใสระบุต่อว่า อนุฯ ป.ป.ช.สามารถเรียกเอกสาร บันทึกการประชุมหรือการเตรียมการก่อนการประมูลจะพบความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง มาตั้งแต่ต้นว่าเป็นการล็อกสเปกหรือไม่ เช่นการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในประกาศครอบงำฯ เพื่อให้เอกชนต่างชาติมี คุณสมบัติเข้าประมูลได้ ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม และยกเลิกหลักเกณฑ์ที่ผู้ได้รับอนุญาตคลื่นความถี่ใหม่ต้องคืนคลื่น เก่าที่มีอยู่เดิม (โดยเฉพาะจากสัมปทาน) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ทั้งที่มีหลักเกณฑ์นี้ในกฎการประมูลฉบับเดิมอยู่แล้ว และต้องดำเนินการตามนโยบายคืนคลื่นความถี่ รวมทั้งการอนุญาตให้มีการนำเข้าอุปกรณ์ 3G ล่วงหน้ามาเป็นปีทั้งๆ ที่ยังไม่มีผู้ได้รับใบอนุญาต ซึ่งนอกจากผิดขั้นตอนแล้วยังเป็นการให้ประโยชน์แก่เอกชนไว้ล่วงหน้าก่อนการประมูลโดยไม่เหมาะสม ทำให้เอกชนลงทุนสร้างโครงข่ายไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงไม่มีใครอยากเข้าประมูลเพื่อแข่งขันในตลาดที่มีความได้เปรียบ เสียเปรียบสูงเช่นนี้
นายสุริยะใสยังระบุถึงข้อสงสัยต่อ กทค.อีกถึงการยกเลิกหลักเกณฑ์ N-1 โดยไม่มี เหตุผลสมควร ทำให้ไม่มีการแข่งขันการประมูล N-1 เป็นการประกันว่าจะมีการแข่งขัน หากมีผู้เข้าประมูลน้อย และหากมีผู้เข้าประมูลมากก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการประมูล และการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่บนสมมติฐานที่ผิดจากความจริง ให้เป็นประโยชน์แก่เอกชน ทั้งๆ ที่รู้ว่าปัจจุบันตลาด 3G เกิดขึ้นแล้วมีมูลค่ามหาศาล จากการให้บริการที่มีอยู่ของผู้ให้บริการรายเดิมทั้ง 3 ราย ทำให้ปัจจุบันมีความเสี่ยงน้อยมากในการลงทุน ไม่เหมือนเมื่อ 3 ปีก่อนที่ยังไม่เกิดตลาด 3G จึงประเมินราคาบนพื้นฐานความเสี่ยงสูงกว่า แต่ กสทช.กลับประเมินได้ราคาใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง รวมไปถึงการยกเลิกหลักเกณฑ์ในรายละเอียดที่มีผลอย่างสำคัญในตลาดได้แก่ยกเลิกการกำหนดให้มี MVNO ในใบอนุญาต 3G ทำให้ไม่มีการแข่งขันและยกเลิกหลักเกณฑ์กำหนด ให้มี roaming 2G และ 3G ทำให้ไม่มี ผู้ให้บริการรายใหม่กล้าเข้ามาแข่ง หากตนเองไม่มี 2G เดิม หรืออาจพูดอีกอย่างได้ว่า กสทช.ตั้งสมมติฐานไว้เรียบร้อยแล้วว่า ผู้ให้บริการ 3G คือผู้ให้บริการ 2G เดิม
ทั้งนี้ ผู้ประสานงานกลุ่มกรีนเผยว่า ไม่ค่อยสบายใจที่มีข่าวว่า ป.ป.ช.จะเชิญตัวแทนจากทางฝ่ายอัยการมาร่วมเป็นอนุกรรมไต่สวนด้วย เพราะมีอัยการหลายคนไปนั่งเป็นอนุกรรมการหลายชุดใน กทค.อาจเกิดกรณีการมีส่วนได้เสียเกิดขึ้น จึงควรเชิญนักวิชาการ นักกฎหมายที่มีความอิสระและน่าเชื่อถือเข้ามาแทนจะดีกว่า ขณะเดียวกัน อนุกรรมการไม่ควรใช้เวลาเนิ่นนานเกินไป เพราะฝ่าย กทค.พยายามรวบรัดออกใบอนุญาตภายในวันที่ 20 พ.ย.นี้ หากผลการไต่สวนออกมาภายหลังจะเกิดปัญหาที่ยุ่งยากและสลับซับซ้อน มากขึ้น เช่น กรณี True กับ CAT ที่อนุฯ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมากกว่า 3 เดือนแล้ว แต่ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ยังไม่ดำเนินการใดๆ
ส่วนการตั้งคณะกรรมการโดย กทค.เพื่อตรวจสอบการประมูลครั้งนี้นั้น นายสุริยะใสระบุว่า ไม่มีประโยชน์อะไรเพราะ กทค.ตั้งธงและรับรองการประมูลไปแล้ว และข้อพิพาทเรื่องนี้เลยขั้นตอนการตรวจสอบภายในกันเองไปไกลแล้ว ตอนนี้เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลเท่านั้น
“อยากบอก กทค.บางคนว่าไม่มีขบวนการล้ม 3G ทุกฝ่ายอยากให้มี 3G ทั้งนั้น แต่ที่ส่วนต่างๆ ออกมาตรวจสอบครั้งนี้เป็นเรื่องพฤติกรรมการประมูลที่ไม่โปร่งใสทั้งในส่วนของเอกชนกับ กทค.เท่านั้น อย่าพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะถ้าการประมูลโปร่งใสแรงต้านคงไม่มีน้ำหนักขนาดนี้” นายสุริยะใสระบุ