xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” ชี้ กทค.สั่งเอกชนลดค่าบริการแค่วัวหายล้อมคอก หวังลดกระแสฮั้วประมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (ภาพจากแฟ้ม)
ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ชี้กรณีที่ กทค.จะกำกับค่าบริการ 3จี 15-20% แค่มาตรการวัวหายล้อมคอก หวังลดกระแสวิจารณ์ประมูลไม่โปร่งใส ชี้ไม่เคยปรากฏในเงื่อนไขการประมูล อีกทั้งอยู่ในแผนแม่บทโทรคมนาคมอยู่แล้ว ซัดที่ผ่านมา กทค.ปล่อยให้โอเปอเรเตอร์มีอำนาจเหนือผู้บริโภค อัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบฮั้วประมูลไม่มีประโยชน์

วันนี้ (23 ต.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (Green Politics) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) จะมีการกำกับดูแลอัตราค่าบริการทั้งประเภทเสียง และข้อมูลของบริการ 3G บนย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ให้ลดลงไม่น้อยกว่า 15-20% ของอัตราค่าบริการในปัจจุบัน แก่ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายที่ชนะการประมูลว่า จริงๆ แล้วการกำกับราคาค่าบริการหรือคุณภาพการบริการโดยเฉพาะการลดราคาค่าบริการ อยู่ในแผนแม่บทโทรคมนาคมอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่ กทค.ต้องทำไม่ว่าจะมีการประมูล 3G หรือไม่ กทค.จึงไม่ควรนำเอาประเด็นการลดค่าบริการมาต่อรองกับเอกชน หรือหวังผลลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การประมูลที่ไม่โปร่งใสจากสังคม

ทั้งนี้ การลดค่าบริการ 3จี ลง 15-20% ในระยะเวลา 15 ปี จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ กว่า 1.1 ล้านล้านบาทนั้น ถ้าฐานการคำนวณเป็นจริง ในทางกลับกันย่อมชี้ให้เห็นถึงตัวเลขกำไรสุทธิทั้งระบบที่เอกชนหรือผู้ประกอบการจะได้รับจากการถือมบอนุญาต 3จี มีมูลค่ามหาศาลกว่า 5 ล้านล้านบาท ในขณะที่ที่ราคาประมูลทั้งหมดแค่ 41,625 ล้านบาทเท่านั้น และประการสำคัญไม่เคยมีใครทราบข้อเท็จจริงของราคาต้นทุนการบริการ 3จี เอกชนก็ไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดที่แท้จริง ในทางปฏิบัติ กทค.ยังไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้จริง กลับพบว่าผู้ประกอบมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าในทุกๆ เรื่อง เช่น ปัญหาบัตรเติมเงินกำหนดวันหมดอายุทั้งที่ในบัตรยังมีเงินเหลืออยู่ หรือการให้ผู้บริโภคสามารถย้ายโครงข่ายได้ ก็ทำได้เพียงวันละกว่า 4,000 เลขหมาย ทั้งที่ปัจจุบันมีโทรศัพท์ 90 ล้านเลขหมาย หรือปัญหาสัญญาณล่ม หรือหมายเลขโทรศัพท์สวยๆ คล้ายๆ เลขทะเบียนรถ ก็ให้เอกชนไปขายเอง เป็นต้น

“การสร้างเงื่อนไขใหม่ให้เอกชนทำข้อตกลงลดราคาค่าบริการ 3จี ก่อนออกใบอนุญาต เป็นมาตรการวัวหายล้อมคอก มาตรการนี้ไม่เคยปรากฏในเงื่อนไขการเข้าร่วมประมูล การกำหนดในภายหลังอาจทำให้เอกชนฟ้องร้อง กสทช.ได้ หรือถ้าเอกชนยินยอมก็มีคำถามว่ามีแรงจูงใจอะไรที่ต้องยอมรับเงื่อนไขที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขก่อนประมูลและก่อนรับใบอนุญาต และถ้าเอกชนทำไม่ได้จะมีมาตรการลงโทษหรือถอนใบอนุญาตหรือไม่” นายสุริยะใสกล่าว

ส่วนการตั้งคณะทำงานขึ้นมาสอบกรณีฮั้วประมูล โดยเฉพาะประเด็นการเคาะราคา นายสุริยะใสกล่าวว่า จะมีประโยชน์อะไรในเมื่อ กทค.ลงมติรับรองผลการประมูลไปแล้ว และจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าคณะทำงานที่ตั้งขึ้นไม่ถูกครอบงำโดย กทค.ที่ยืนยันมาตลอดว่าการประมูลโปร่งใส ประเทศได้ประโยชน์ และถ้าคณะทำงานชี้ว่าการประมูลเข้าข่ายสมยอมราคาหรือฮั้วกันจริง กทค.จะพิจารณาตัวเองหรือไม่ อย่างไร ซึ่ง กสทช.โดย กทค.เสียงข้างมาก 4 ท่านกำลังทำให้สังคมสับสนและไม่ไว้วางใจเพิ่มมากขึ้นไปอีกหรือไม่ เพราะด้านหนึ่งเดินหน้ารับรองการประมูล 3จี แต่อีกด้านหนึ่งจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบการประมูล


กำลังโหลดความคิดเห็น