“ส.ว.สมชาย” หงุดหงิดข้อมูลการประชุมวุฒิสภารั่ว เสนอประธานฯ สั่งห้าม “เรืองไกร” เข้าสภา เหตุก้าวก่ายเอกสาร “สุรชัย” ไม่สน “เรืองไกร” ฟ้องร้อง ยันทำตามหน้าที่เพื่อปกป้อง ส.ว.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภา วันนี้ (22 ต.ค.) ซึ่งมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.ได้หารือว่าตามข่าวที่ว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา จะยื่นหนังสือต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบนายสุรชัยที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง เป็นกรรมการ ป.ป.ช. รวมถึง ส.ว.อีก 41 คน ซึ่งตนได้ตรวจสอบรัฐธรรมนูญและข้อบังคับแล้วเห็นว่าในการประชุมดังกล่าวดำเนินการถูกต้องหมด ซึ่งเลขาธิการวุฒิสภามีหน้าที่รักษาเอกสารของวุฒิสภา มีข้อสงสัยว่าที่นายเรืองไกรอ้างว่ามีบันทึกการประชุม ถือเป็นการใช้สิทธิอดีต ส.ว.เข้ามาก้าวก่ายกิจการวุฒิสภาด้วยการมาขอเอกสาร อันนี้ต้องทบทวน หรือมี ส.ว.คนใดทำสำเนาเอกสารให้ ก็ขอชื่อด้วย
และในฐานะที่นายสุรชัยกำกับดูแลสำนักกฎหมาย ควรพิจารณาเรื่องที่นายเรืองไกร ยื่นฟ้องทุกคดี ตนเห็นว่า เรื่องนี้ต้องทำให้เป็นตัวอย่าง ขอให้สำนักกฎหมายช่วยตรวจสอบและทำความเห็นถึงประธานวุฒิสภาและส.ว.ทุกคดีว่า เข้าข่ายอย่างไรหรือไม่ เพราะตนเสียหาย ส่วนตัวได้ให้ทนายความเตรียมฟ้องแล้ว และฝากถึง ส.ว.คนอื่นให้ฟ้องในจังหวัดภูมิลำเนาตัวเองด้วย เพราะเห็นว่ามีเจตนาน่าสงสัยเพื่อจุดมุ่งหมายของใครบางคนหรือไม่ รวมถึงประธานฯและเลขาธิการวุฒิสภามีหน้าที่ควบคุมความสงบเรียบร้อยของที่ประชุมวุฒิสภา คิดว่าการมาใช้เอกสารหรือสถานที่ของวุฒิสภาต้องสอบด้วย หากบุคคลนี้ใช้โดยมิชอบ ประธานวุฒิสภา สามารถออกประกาศห้ามเข้าได้ ทำให้ นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา ท้วงติงว่าวันนั้นตนเป็นคนท้วงติงว่าการเสนอญัตติของนายสมชาย ที่จะให้ส่งเรื่องกลับไปให้คณะกรรมการสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการป.ป.ช. ว่าไม่น่าจะถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 206 (2) ซึ่งใครจะไปตรวจสอบอะไรก็ว่ากันไป แต่การกล่าวหาบุคคลภายนอกโดยที่เขาไม่มีโอกาสมาชี้แจง ประธานฯควรพิจารณาด้วย เพราะตัวท่านเองก็เป็นคู่กรณี
โดยนายสุรชัยชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวยังมี ส.ว.หลายคนมีความเห็นต่างเรื่องคุณสมบัติตัวบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ ตนในฐานะประธานที่ประชุมวันนั้นนั่งฟังและจับประเด็นตลอด เมื่อมีปัญหาดังกล่าวก็มีหน้าที่ต้องปกป้องวุฒิสภาและ ส.ว.ทุกคน ถามว่าถ้าวันนั้นลงมติไปโดยก้าวข้ามญัตติที่สมาชิกเสนอ อาจมีประเด็นตกค้างว่าแล้วประเด็นนี้จะตกผลึกอย่างไร ข้อยุติคืออะไร ญัตติดังกล่าวไม่ได้ปฏิเสธเด็ดขาดว่าไม่พิจารณา เพียงแต่เสนอกลับไปให้ทบทวนเรื่องคุณสมบัติอีกครั้ง ตรงกันข้ามหากลงมติไปเลยก็เชื่อว่าจะมีคนฟ้องร้องอีก ดังนั้นใครมีอะไรอยู่ในใจและพยายามจะตั้งธงฟ้องร้อง ก็เป็นสิทธิของเขา