xs
xsm
sm
md
lg

“หมอลี่” ลั่นไม่ลงนามรับรอง 3จี แหยงส่อเค้าขัด กม.ฮั้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา (แฟ้มภาพ)
“นพ.ประวิทย์” ชี้ออกแบบประมูล 3จี เปิดช่องเอกชนไม่จำเป็นต้องสู้ราคา สูญเงินควรได้ช่องละ 1.9 พันล้าน ลั่นไม่ลงนามรับรอง เหตุส่อเค้าผิด กม.ฮั้วมาตรา 10 เล็งขอที่ประชุมเคลียร์ข้อมูลการเคาะราคา ชี้ขาด “กทค.-กสทช.” ใครมีอำนาจในการออกใบอนุญาต รับกลุ่มทุนจ้องครอบงำ กสทช.ไม่เลิก



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ผ่านสถานี ASTV ในรายการ News Hour ถึงเหตุผลจะไม่ลงนามรับรองผลการประมูล 3จี ว่า นับเป็นเรื่องผิดปกติที่การเคาะราคาประมูลจบที่ราคาตั้งต้น จึงต้องขอดูข้อมูลว่ามีการส่งสัญญาณกดราคา หรือออกแบบการประมูลผิดพลาดหรือไม่ เรื่องนี้ตนได้ติดต่อไปยังสำนักงานเพื่อขอข้อมูลแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับมา

ทั้งนี้ เนื่องจากความลงตัวของผู้เข้าประมูลกับจำนวนคลื่นความถี่ ตนได้ทักท้วงโดยตลอดให้แก้ไขด้วยการกำหนดราคาประมูลให้ใกล้เคียงกับราคาจริง คือ 6.4 พันล้านบาท แต่ปรากฏว่ามีเสียงค้านทำให้ต้องตั้งลดราคาลงไป 70% โดยหวังว่าเอกชนจะสู้ราคากันจนได้ราคาใกล้เคียงกับราคาประเมิน แต่แล้วก็ไม่มีการสู้ราคา ทำให้พลาดเป้าประมูลไปช่องละ 1.9 พันล้านบาท

นพ.ประวิทย์กล่าวว่า ตั้งใจไม่ลงนามรับรองผลการประมูล 3จี หากยังไม่มีการแสดงข้อมูลที่ชัดเจนว่าเป็นการประมูลที่สุจริต เนื่องจากมาตรา 11 ของกฎหมายฮั้วระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐถ้าออกแบบหรือกำหนดราคา ทำให้เกิดการไม่แข่งขันมีความผิด และมาตรา 10 ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐถ้ารู้หรือควรรู้ว่าจะมีการกระทำขัดกฎหมายนี้แล้วไม่ระงับหรือยกเลิกก็เป็นความผิดเช่นกัน

การออกแบบการประมูล เปิดโอกาสให้เอกชนเสนอได้ 8 ชุด เป็นการดึงราคา เนื่องจากจะมีช่องว่างอยู่หนึ่งช่อง ถือเป็นการส่งสัญญาณทางอ้อมให้เอกชนไม่สู้ราคา เพราะสู้ราคาก็เท่ากับจ่ายแพงกว่ารายอื่น อย่างไรก็ดี การประมูลไม่ได้มีการสมยอมราคากันกับเอกชน แต่ด้วยเหตุเราไม่เคยคาดคิดว่ารอบแรกจะเสนอเพียง 8 ชุดได้ อีกทั้งผู้ออกแบบก็ยืนยันมาตลอดว่าทำไม่ได้ แต่สุดท้ายเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว ไปตรวจกติกาปรากฏว่าสามารถทำได้โดยชอบ ต่อจากนี้ผลจะเป็นอย่างไรคณะกรรมการนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 18 ต.ค.นี้ เวลา 11.00 น. ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะรับรองผลการประมูลเบื้องต้น รวมถึงรับรองเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจริงในคราวเดียวกันหรือไม่

นพ.ประวิทย์กล่าวว่า เตรียมเสนอที่ประชุม 2 เรื่อง ให้นำเสนอข้อมูลการเคาะราคา กับชี้ขาดตกลงใครมีอำนาจในการออกใบอนุญาต เนื่องจาก ทางคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) ยืนยันว่าอำนาจในการออกใบอนุญาตเป็นของ กทค. แต่วันนี้ทาง กสทช.ก็ได้รายงานให้ตนทราบเช่นกันว่าการอนุญาตจัดสรรคลื่นความถี่อาจเป็นอำนาจ กสทช.ที่ต้องนำเสนอบอร์ดชุดใหญ่

นพ.ประวิทย์กล่าวยอมรับว่า ทุกวันนี้มีความพยายามของกลุ่มทุนที่จะเข้ามามีอิทธิพลเหนือ กสทช. เนื่องจากระบบการเมืองไทย ทุนมีอำนาจครอบงำทั้งระบบการเมืองอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อ กสทช.มีที่มาทางการเมือง คือ เลือกโดยวุฒิสภา มันก็คงตรงไปตรงมา ต่อให้ตอนคัดเลือกไม่มีอิทธิพล แต่หลังจากนั้นกลุ่มทุนก็เข้าหาอยู่ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น