xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” ยันสื่อรับเงินบริจาคแล้วรับใช้ประชาชนหน้าด้านตรงไหน ชี้สื่อรับใช้ทุน-การเมืองควรโดนประณามมากกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำรุ่นที่ 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ภาพจากแฟ้ม)
“ปานเทพ” ยันสื่อรับเงินบริจาคประชาชนแล้วต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน-ตรวจสอบทุกรัฐบาล ไม่เห็นจะหน้าด้านตรงไหน ชี้ควรน่าภูมิใจมากกว่า ถามกลับ สื่อที่รับใช้นายทุน-นักการเมืองเพราะได้เงินมาจากนายทุน-นักการเมือง กับสื่อที่รับใช้ประชาชนและรับเงินจากประชาชนโดยตรง ใครควรโดนตำหนิว่า “หน้าด้าน” มากกว่ากัน วอนสื่อเครื่องมือพรรคการเมืองหยุดดูถูกชาวบ้าน กล้ายืดอกรับความจริง

เมื่อเวลา 06.13 น.วันนี้ (17 ต.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำรุ่นที่ 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์ข้อความทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในหัวข้อ “เขาว่าสื่อมวลชนขอเงินบริจาคจากประชาชนเป็นเรื่องหน้าด้าน” หลังจากที่มีบุคคลบางกลุ่มออกมากล่าวหาเอเอสทีวีกรณีรับเงินบริจาคจากประชาชนโดยตรง โดยมีใจความดังนี้

“สำหรับในมุมมองผมการที่สื่อมวลชนขอเงินบริจาคจากประชาชนไม่เห็นจะเป็นเรื่องหน้าด้านตรงไหน หากสื่อนั้นต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทุกยุค เพราะการทำสื่อก็ย่อมมีต้นทุนเป็นธรรมดา เพียงแต่การทำงานจะแสดงว่าผู้สนับสนุนนั้นรับเงินจากใคร และผู้สนับสนุนการเงินมีเป้าหมายอะไร

และควรจะเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจเสียด้วยซ้ำไปที่มีสื่อที่ลุกขึ้นต่อสู้กับทุนสามานย์หรือพรรคการเมืองที่ทุจริตทุกพรรคโดยไม่สนใจจากทุนใหญ่ หรือไม่สนใจต่อการให้คุณให้โทษจากอำนาจทางการเมืองเหล่านั้น

สื่อที่รับเงินจากนายทุน นายทุนก็ย่อมหวังผลให้ตอบแทนในผลประโยชน์ในทางธุรกิจกลับมา แต่ถ้าสื่อแห่งนั้นให้ความสำคัญต่อทุนมากกว่าประชาชนผู้บริโภคข้อมูลจากสื่อ สื่อแห่งนั้นก็เรียกว่าสื่อรับใช้นายทุนมากกว่ารับใช้ประชาชน

สื่อที่รับเงินจากนักการเมือง พรรคการเมืองเหล่านั้นก็ย่อมหวังให้ทำลายคู่แข่ง และสนับสนุนอุ้มชูเพื่อให้นักการเมืองที่ตัวเองสนับสนุนในการช่วงชิงอำนาจเป็นหลัก สื่อแห่งนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมือทางการเมืองของพรรคการเมืองเท่านั้น

สื่อที่รับเงินจากประชาชน ประชาชนที่สนับสนุนก็ย่อมหวังสื่อแห่งนั้นให้ประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด และถ้าสื่อแห่งนั้นยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของทุกกลุ่มทุนที่เอาเปรียบประเทศชาติและประชาชน หรือยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของทุกพรรคการเมืองที่โกงชาติปล้นแผ่นดินแล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สื่อแห่งนั้นจะไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินทั้งจากกลุ่มทุนใหญ่หรือจากพรรคการเมืองมิใช่หรือ และสื่อแห่งนั้นจะเลือกรับการสนับสนุนจากประชาชนเพื่อไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อาณัติกลุ่มทุนหรือกลุ่มพรรคการเมืองใดก็เป็นเรื่องที่ควรจะเป็นไปไม่ใช่หรือ?

ผมจึงไม่แน่ใจว่า สื่อที่รับใช้นายทุนเพราะรับเงินจากนายทุน หรือสื่อที่รับใช้นักการเมืองเพราะได้เงินมาจากนักการเมือง หรือสื่อที่รับใช้ประชาชนและรับเงินจากประชาชนโดยตรง ใครควรจะได้รับคำตำหนิว่า “หน้าด้าน” มากกว่ากัน?

ในวันนี้สื่อที่รับเงินจากนักการเมืองบ้านเราส่วนใหญ่ ก็คือกระบอกเสียงให้นักการเมืองขั้วนั้น ทำลายฝ่ายตรงกันข้าม ปกป้องชื่อเสียงของนักการเมืองฝ่ายตนเอง และไม่เคยปริปากเพื่อตรวจสอบนักการเมืองฝ่ายตนเอง ทั้งนี้ก็ทำไปเพื่อช่วงชิงอำนาจให้นักการเมืองที่สนับสนุนได้โกงกินมากขึ้น เมื่อรวยจากการโกงกินมากขึ้น สื่อที่สนับสนุนเหล่านั้นก็จะได้ผลประโยชน์ทั้งในรูปเงินทอง ตำแหน่ง หรือสิทธิประโยชน์ตามไปด้วย (บ้างก็ได้เที่ยวบินกินฟรีในต่างประเทศ)

หนักไปกว่านั้นคือสื่อที่มีเจ้าของเป็นนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเสียเอง ที่อาศัยการหลบเลี่ยงกฎหมายแล้วหลอกประชาชนว่าตัวเองคือวิชาชีพสื่อมวลชน (อย่างหน้าด้านๆ?) เพียงแต่ประชาชนไม่ได้โง่ว่าสื่อเหล่านั้นมีจุดยืนและการแสดงออกทางการเมืองข้างใด และกลุ่มทุนที่มาลงโฆษณาเหล่านั้น ต่างล้วนแล้วแต่เป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมืองที่เป็นลักษณะการลงทุนแบบหวังผลตอบแทนทางการเมืองในวันข้างหน้า ไม่ว่ารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

เพียงแต่สื่อที่รับเงินจากนักการเมืองหรือเป็นของพรรคการเมืองเหล่านั้น รับเงินแบบไม่เปิดเผยเพราะกฎหมายห้ามประการหนึ่ง และเงินที่ได้มามาจากการโกงบ้านกินเมืองเป็นอีกประการหนึ่ง ดังนั้นเงินสดที่ได้มาจึงไม่จำเป็นจะต้องปรากฏอยู่ในงบดุลของสื่อเหล่านี้เสมอไป ทั้งรายรับและรายจ่าย เพียงแต่คนในวงการสื่อเขารู้กันหมดว่าสถานีเหล่านั้นใครเป็นนายทุนหนุนหลังที่แท้จริง (เพราะคนที่เคยทำงานอยู่ใน ASTV ก็ไปอยู่ในสื่อเหล่านี้ก็ไม่ใช่น้อย)

การทำตัวเป็นสื่อมวลชนโดยอ้างรูปแบบทางบัญชีหรือโครงสร้างผู้ถือหุ้น ทั้งๆ ที่ผู้ชมทั่วบ้านทั่วเมืองเขาดูออกว่าสื่อใดที่เป็นเครื่องมือพรรคการเมือง (แค่ดูผู้ดำเนินรายการที่สังกัดพรรคการเมืองทั้งสถานีก็ดูออกแล้วครับ) ผมจึงรู้สึกอายแทนคนในองค์กรนั้นที่รู้อยู่แก่ใจว่ารับเงินสนับสนุนจากนักการเมืองคนใด (ในทางปฏิบัติ) แล้วยังต้องมาหลอกตบตาประชาชนกลบเกลื่อนว่าตัวเองไม่ใช่เครื่องมือพรรคการเมืองอีก

สื่อเหล่านี้อย่างดีสุดก็คือ พูดความจริงไม่ครบ โดยไม่กล่าวถึงว่าพรรคการเมืองที่เป็นพวกของตัวเองในยามที่มีอำนาจว่าเลวชั่วอย่างไร เลวมากหน่อยก็ถึงขั้นโกหกใส่ร้ายคนอื่น เป้าหมายสุดท้ายคือทำลายฝ่ายตรงกันข้าม เพื่อให้พวกตัวเองเข้าไปกอบโกย โกงกิน เมื่อเข้าสู่อำนาจรัฐ เหมือนกันทุกยุค ใช่หรือไม่?

จึงให้ดูว่า Voice TV, Asia Update, DNN ไม่เคยตรวจสอบการทุจริตและความไม่โปร่งใสการบริหารงานของ “รัฐบาลเพื่อไทย” ได้เลยจริงหรือไม่?

ในขณะเดียวกันจึงย่อมเกิดคำถามว่า Bluesky TV, Thai TVD, T News ก็ไม่เคยตรวจสอบการทุจริตและความไม่โปร่งใสในการบริหารงานในสมัย “รัฐบาลประชาธิปัตย์” ได้เช่นเดียวกัน จริงหรือไม่?

ในขณะเดียวกันจะมีสื่ออีกกี่แห่งทางสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเกือบทั้งหมดที่เปิดทางให้มีการตรวจสอบรัฐบาลในขณะนั้นอย่างเจาะลึก เข้มข้น ตรงไปตรงมาในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา คำตอบคือ “ไม่มี” หรือ “มีน้อยมาก” หรือถ้ามีก็อยู่ไม่ได้ ที่เหลืออยู่ก็เงียบกริบเพื่อรักษาอาชีพตัวเอง ทุเรศขึ้นมาหน่อยก็เชลียร์รัฐบาลจนเลี่ยนจนไม่มีใครอยากดู ไม่เช่นนั้นสืิ่อทางเลือกจะเติบโตขึ้นมาจนทุกวันนี้ได้อย่างไร?

ในขณะที่สื่อมวลชนอย่าง ASTV ซึ่งตรวจสอบการทุจริต และการบริหารผิดพลาดในทุกรัฐบาล ทั้งรัฐบาลทักษิณ, รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์, รัฐบาลสมัคร, รัฐบาลสมชาย, รัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จนกลุ่มทุนจำนวนมากถอนตัวเพราะกลัวการกลั่นแกล้งจากอำนาจการเมืองทุกขั้ว กำลังถูกเสียดสีกระทบกระเทียบว่าขอรับเงินบริจาคแบบหน้าด้านๆ?

เราไม่ได้รังเกียจสื่อประเภท “เครื่องมือของพรรคการเมือง” เพราะก็มีข้อดีอยู่เหมือนกันในการตรวจสอบและฟาดฟันนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามอย่างดุเดือดเผ็ดมัน

แต่เราก็เห็นข้อเสียที่มากกว่าคือการมีเป้าหมายช่วงชิงอำนาจทางการเมืองเป็นหลักของสื่อประเภทนี้ ทำให้ต้องชั่งใจและเคลือบแคลงสงสัยอยู่ตลอดในข้อมูลโจมตีฝ่ายตรงกันข้ามนั้นเป็นเท็จหรือเกินความเป็นจริงไปมากน้อยเพียงใด?

และข้อเสียอีกประการหนึ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ สื่อประเภทนี้ไม่เคยกล่าวถึงพรรคการเมืองของตนเองในยามที่มีอำนาจว่ามีความชั่วร้ายอย่างไรเลย แถมยังปกป้องสุดลิ่มทิ่มประตู ราวกับว่านักการเมืองขี้โกงเหล่านี้ในพรรคของตัวเองบริสุทธิ์ ไม่ทำผิดอะไรเลย อันเป็นการผิดวิสัยของคนที่ซื่อสัตย์ต่อวิชชาชีพสื่อมวลชนและต่อประชาชนที่แท้จริง จริงหรือไม่?

แม้บางคนจะเห็นว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและก้าวหน้าไปมาก พรรคการเมืองน่าจะมีสิทธิ์ที่จะสื่อสารกับสมาชิกพรรคและผู้สนับสนุนพรรคของตัวเอง เพียงแต่วันนี้มันไม่ได้เกิดความเป็นธรรมและจะสร้างปัญหาต่อไปมากกว่านั้น

เพราะใครเงินหนามากกว่าก็ลงทุนเครือข่ายได้มากกว่ามีสถานีได้มากกว่า และหมายความว่านักการเมืองที่โกงมากกว่าก็จะมีความสามารถในการขยายเครือข่ายได้มากกว่าเช่นกัน

ใครถืออำนาจรัฐมากกว่าก็บีบให้บริษัทดาวเทียมที่ได้รับสัมปทานจากรัฐเผยแพร่เฉพาะสื่อดาวเทียมที่สนับสนุนพรรคของตัวเอง หรือกีดกันฝ่ายตรงกันข้ามด้วยเล่ห์เพทุบายในรูปแบบต่างๆ

สุดท้ายในเกมแบบนี้กลายเป็นว่า ใครมีเงินมากกว่าก็จะขยายเครือข่ายได้มากกว่า และ/หรือ ใครโกหกเก่งกว่าก็จะปกป้องพรรคของตัวเองและทำลายฝ่ายตรงกันข้ามได้มากกว่า และ/หรือ ใครด่าอีกฝ่ายได้มันสะใจกว่าก็จะเรียกเรตติ้งได้มากกว่า

คำถามคือแล้วประเทศเราจะก้าวต่อไปแบบไหน? และอย่างไร? ถ้าไม่มีการควบคุมและจัดระเบียบสื่อที่เป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองเหล่านี้

ถ้าสื่ออย่าง ASTV ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ทุกพรรคการเมือง กลายเป็นสื่อที่หน้าด้านด้วยเหตุผลเพราะขอรับเงินจากประชาชน แล้วสื่อมวลชนที่รับเงิน รับใช้ และออกปกป้อง นักการเมืองโกงชาติ ปล้นแผ่นดิน ในพรรคการเมืองของตัวเองหรือพรรคการเมืองที่สนับสนุนสื่อของตัวเองจะเรียกว่าอะไร?

ถ้าสื่ออย่าง ASTV ตรวจสอบทุกกลุ่มทุนที่เอาเปรียบประชาชน ซึ่งรวมถึง ปตท. กลายเป็นสื่อที่หน้าด้านด้วยเหตุผลเพราะขอรับเงินจากประชาชน แล้วสื่อมวลชนที่ไม่เคยตรวจสอบความล้มเหลวของทุกรัฐบาลที่ประชาชนถูกปล้นจากกระทรวงพลังงาน และ ปตท.จะเรียกตัวเองว่าอะไร?

ถ้าสื่ออย่าง ASTV เป็นสื่อที่หน้าด้านเพราะขอรับเงินจากประชาชน แล้วสื่อมวลชนที่ไม่เคยตรวจสอบความล้มเหลวของทุกรัฐบาลในการปกป้องอธิปไตยของชาติจนถูกเพื่อนบ้านรุกราน และถูกนำคดีขึ้นศาลโลก แล้วไปยอมรับอำนาจศาลโลก จะเรียกตัวเองว่าอะไร?

ผมคิดว่าในยุคข้อมูลข่าวสารที่มากมายและไร้พรมแดนทุกวันนี้ ยากที่จะปิดกั้นสื่อทุกแขนงได้ (ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือเครื่องมือของพรรคการเมือง) โดยเฉพาะในยุคที่มีสื่อเครือข่ายทางสังคม Social Network ได้เกิดขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด

เพียงแต่สืิ่อที่เป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองก็ควรจะยืดอก ยอมรับความเป็นเครื่องมือให้กับพรรคการเมืองอย่างตรงไปตรงมาและสง่างามกว่าครับ จะขึ้นตัวอักษรย่อเพื่อจัดหมวดและประเภทของตัวเองก่อนเข้าทุกรายการก็ยิ่งดี (เช่น ปชป. หรือ พท. ฯลฯ) แต่อย่ามาหลอกประชาชนหรือผู้ชมว่าตัวเองไม่ใช่เครื่องมือของพรรคการเมือง เพราะนั่นเท่ากับเป็นการโกหกต่อตัวเองแล้ว ยังโกหกและดูถูกประชาชนและผู้ชมของตัวเองด้วยครับ”
กำลังโหลดความคิดเห็น