xs
xsm
sm
md
lg

“ประพันธ์” หวังคดี 7 ตุลา เปิดทาง ปชช.ถอดถอนอัยการเหลิงอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประพันธ์” เผย “คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2509/2549-รธน.มาตรา 270” เป็นช่องทางสามารถถอนถอนอัยการได้ ชี้สั่งไม้ฟ้องคดี 7 ตุลา ชัดเจนว่าเป็นการประพฤติหน้าที่มิชอบ หวังกรณีนี้จะเป็นใบเบิกทางให้ประชาชนสั่งสอนอัยการอย่าเหลิงอำนาจอีก ด้าน “รสนา” ระบุบ้านเมืองตอนนี้ฝ่ายบริหารทำตามอำเภอใจไม่ต่างไปจากยุคเผด็จการก่อน 14 ตุลา แนะอยากให้ย้อนดูอดีตพวกเหิมเกริมจุดจบเป็นอย่างไร

วันที่ 11 ต.ค. น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. และนายประพันธ์ คูณมี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ถึงประเด็น “7 ตุลา ต้องไม่สูญเปล่า”

โดยนายประพันธ์ กล่าวถึงคดี 7 ตุลาว่า การที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว โดยอ้างว่าพยานและหลักฐานไม่เพียงพอที่จะเอาผิดนั้น

ที่ผ่านมาอัยการมักตีความไปเองว่าเป็นองค์กรที่สามารถใช้อำนาจวินิจฉัยได้อย่างอิสระ ไม่มีกฎหมายเอาผิดตัวเองได้ ความจริงแล้วเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2509/2549 เป็นบรรทัดฐานไว้ในกรณีที่มีผู้พิพากษาท่านหนึ่งถูกชนท้ายรถและถูกทำร้ายร่างกาย แต่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงข่าวคลาดเคลื่อน ให้เห็นว่าผู้พิพากษาเป็นฝ่ายผิด จึงได้ฟ้องเอาผิดต่อหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น แต่อัยการกลับไม่สั่งฟ้อง ผู้พิพากษาท่านนั้นจึงยื่นต่อศาลอาญาให้เอาผิดกับอัยการ จากนั้นศาลชั้นต้น-อุทธรณ์-ฎีกา ล้วนตัดสินให้อัยการคนนั้นต้องรับโทษจำคุก โดยศาลวินิจฉัยไว้น่าสนใจว่า “เพียงมีมูลความผิดที่สามารถจะฟ้องได้ อัยการย่อมมีหน้าที่ส่งฟ้อง ไม่ใช่มีอำนาจตามอำเภอใจ ตัดสินแทนศาลเองว่าอะไรผิดอะไรถูก”

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ก็ได้บัญญัติเรื่องการถอดถอนอัยการไว้ในมาตรา 270 โดย 3 วิธี คือ 1. ส.ส. 1 ใน 4 ยื่นถอดถอน 2. ประชาชน 2 หมื่นรายชื่อลงชื่อกันถอดถอน 3. ประชาชนที่ได้รับความเสียหายยื่นให้ ป.ป.ช.ไต่สวนพฤติกรรม จากนั้นส่งเรื่องถอดถอนมาที่สภา

นายประพันธ์กล่าวต่อว่า ฉะนั้นประชาชนอย่ายอมให้อัยการเหลิงอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี 7 ตุลา มันชัดเจนอยู่แล้วว่ามีพยานหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่จงใจฆ่าประชาชนมือเปล่า แต่อัยการกลับไม่ฟ้อง ประชาชนต้องหันมาตรวจสอบอัยการ ทั้งนี้ยังมีอีกหลายคดีที่สั่งไม่ฟ้องเพราะมีผลประโยชน์แอบแฝง

น.ส.รสนากล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาสำนักงานอัยการสูงสุดถูกตั้งคำถามจากประชาชนว่าการตัดสินหลายอย่างขัดแย้งต่อความรู้สึกเรื่องสั่งไม่ฟ้องหลายๆ คดี เช่น ไม่ฎีกาภาษีหุ้นชินฯ ทั้งๆ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินต่างกัน อัยการไม่ควรมีดุลยพินิจเอง

ปกติแล้วอัยการควรหาหลักฐานเพื่อที่จะมั่นใจว่าฟ้องคดีนั้นๆแล้วจะชนะ แต่กรณี 7 ตุลานั้น อัยการพยายามหาหลักฐานเพื่อที่จะสั่งไม่ฟ้อง มันไม่ควรเป็นแบบนั้น อัยการไม่ควรเป็นคนตัดสินอะไรเองทุกอย่าง ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ องค์กรอัยการจะไม่ได้รับความน่าเชื่อถืออีก

น.ส.รสนากล่าวด้วยว่า สภาทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้แค่ระดับหนึ่ง ประชาชนต้องร่วมด้วย แต่ถ้าประชาชนไม่สนใจ สภาพบ้านเมืองก็จะเป็นแบบนี้ ตอนนี้ประเทศคล้ายๆกับยุคเผด็จการก่อน 14 ตุลา ผู้มีอำนาจทำตามอำเภอใจ ซึ่งนักการเมืองควรต้องคำนึงถึงความรู้สึกประชาชนด้วย เรารังเกียจเผด็จการทหาร แต่ตอนนี้อำนาจฝ่ายบริหารใกล้เคียงเผด็จการแล้ว ระบบยุติธรรมต้นน้ำ-กลางน้ำ ก็ไปหมดแล้ว ตนอยากแนะนำให้ผู้มีอำนาจย้อนดูอดีตคนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จแล้วเหิมเกริม จุดจบเป็นอย่างไร



กำลังโหลดความคิดเห็น