xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.แก้ พ.ร.บ.ท้องที่ ให้ ปชช.เลือกกำนัน ไม่จำกัดอายุผู้สมัคร แจงกันผูกขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
ส.ส.มหาสารคาม พท.แจง กมธ. แก้ พ.ร.บ.การปกครองท้องที่ ปรับเกษียณอายุ 60 ปี เป็นอยู่ในวาระ 5 ปี ไม่กำหนดอายุ พร้อมให้ ปชช.เลือกกำนันแทนผู้ใหญ่บ้าน ส.ส.เพชรบุรี ปชป.ชี้ กันผูกขาด ปชช.ตรวจสอบได้ ใช้เลือกตั้งตัดสิน เผยกลุ่มคัดค้านอาจไม่เข้าสิทธิ สนช. 2551 ส่วน ส.ส.นครสวรรค์ พชน. ระบุเกิดความเข้าใจผิดกับผู้ค้าน เหตุยังไม่เริ่ม กม.ใหม่

วันนี้ (9 ต.ค.) นายสุรจิตร ยนต์ตระกูล ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไข พ.ร.บ.การปกครองท้องที่ แถลงว่า คณะกรรมาธิการได้พิจารณากฎหมายประเด็นการดำรงวาระตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้านและการเลือกกำนัน ที่ออกในสมัยสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ปี 2551 โดยได้แก้ไขใน 4 ประเด็น คือ จากเดิมที่ไม่กำหนดวาระและเกษียณอายุใน 60 ปี เป็นกำหนดวาระให้เหลือ 5 ปี โดยไม่กำหนดเกณฑ์อายุ ซึ่งผู้ที่อายุ 60 ปีไปแล้วก็สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ได้ พร้อมทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดวิธีเลือกกำนัน จากเดิมที่ให้แต่ผู้ใหญ่บ้านเลือกเท่านั้นเปลี่ยนเป็นให้ประชาชนเลือกทั้งหมด นอกจากนี้ยังเสนอบทเฉพาะกาล ภายหลังการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวจะไม่มีผลย้อนหลังแก่ผู้ที่เกษียณในอายุ 60 ปี ยังสามารถดำรงจนครบวาระได้

นายสุรจิตรกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีเกณฑ์กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ที่จะอยู่จนครบวาระ 60 ปี โดยเหลืออีก 5 ปี พ้นจากตำแหน่งจำนวน 1.2 หมื่นคน เหลือ 10 ปี จำนวน 1.6 หมื่นคน เหลือ 15 ปี จำนวน 1.5 หมื่นคน และเหลือ 20 ปี จำนวน 1 หมื่นคน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นการวางโครงสร้างระยะยาว เพื่อให้ประชาชนไม่ถูกตัดขาดจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

ด้าน นายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตย เมื่อมีการเลือกตั้งไปแล้วก็ไม่ควรจะให้ผู้ที่ได้รับตำแหน่งผูกขาด และสามารถให้ประชาชนตรวจสอบการทำหน้าที่ได้ โดยอาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องชี้วัด ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ออกมาคัดค้านน่าจะเป็นกลุ่มที่มีวาระน้อยกว่า 5 ปี จะไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย สนช. 2551 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 6900 คน โดยจะหมดวาระวันที่ 6 เม.ย. 56

โดย นายประสาท ตันประเสริฐ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคชาติพัฒนา ในฐานะ กมธ.ชี้แจงว่ากฎหมายดังกล่าวไม่น่าจะออกทัน และยังสามารถใช้กฎหมายสมัย สนช. 2551 รับสมัครเลือกตั้งได้อยู่จนอายุ 60 ปี โดยไม่กำหนดวาระ จึงเชื่อว่าผู้คัดค้านน่าจะเข้าใจผิด เพราะยิ่งออกกฎหมายให้เร็วขึ้นก็จะยิ่งเป็นประโยชน์กับผู้ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบมากเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น