xs
xsm
sm
md
lg

กปพ.จี้ยกเลิก พ.ร.บ.สุกเอาเผากิน 191 ฉบับ สัปดาห์หน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสพ บุษราคัม (แฟ้มภาพ)
คณะกรรมการ กปพ.อ้าง พ.ร.บ.ของ สนช.191 ฉบับไม่ต้องตามรัฐธรรมนูญ เตรียมเสนอปธ.สภาฯ เห็นชอบร่างยกเลิกสัปดาห์หน้า พร้อมให้ส่วนราชการที่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ.ฉบับสุกเอาเผากิน ยื่นความจำนงใน 3 เดือน เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องตาม กม.

วันที่ 9 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประสพ บุษราคัม ประธานคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) และคณะ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (อกปพ.) ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายประสพกล่าวว่า ความคืบหน้าในการทำงานของคณะกรรมการได้มีการจัดทำร่างกฎหมายขึ้นเพื่อยกเลิก พ.ร.บ.ที่ตราออกบังคับใช้โดยสภานิติบัญญัติ จำนวน 191 ฉบับ พ.ศ. …. เป็นที่เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอต่อประธานสภาฯให้ความเห็นชอบได้ในกลางสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ เนื่องจากการพิจารณาตรวจสอบการตราออกใช้บังคับกฎหมายทั้ง 191 ฉบับดังกล่าวนั้น เห็นว่าไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 เลย แต่สภานิติบัญญัติกลับออกบังคับใช้กฎหมายแบบสุกเอาเผากิน เพราะไม่ได้มาจากเสียงของจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) จำนวนกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย และจากตัวอย่างที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมีคำวินิจฉัยให้ พ.ร.บ. จำนวน 7 ฉบับ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 ไปแล้ว เช่น ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ. …เป็นต้น

“ผมเห็นว่ากฎหมายที่เหลือที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญจึงต้องมีการยกเลิกด้วยเช่นกัน เนื่องจากกฎหมายเกือบ 200 ฉบับเหล่านี้ ถือเป็นกฎหมายที่ สนช.ให้อำนาจเผด็จการมากเกินไป เมื่ออำนาจประชาชนกลับมาแล้วเราก็ควรนำประชาธิปไตยที่เป็นของปวงชนกลับมาเช่นกัน อีกทั้งถ้าเราปล่อยเรื่องนี้ไว้คิดว่าอาจมีผู้นำไปฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกได้ และอาจจะเกิดผลเสียต่อทั้งหน่วยงานราชการและประชาชนด้วยจึงจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเป็นการด่วน” นายประสพกล่าว

ด้าน นายนพพล ทองคำ อนุกรรมการฯ กล่าวว่า ในขั้นตอนการยกเลิก 1. คณะกรรมการฯจะได้แจ้งให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายได้ทราบ และจะทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงยุติธรรมว่าหน่วยงานใดยังมีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายฉบับนั้นๆ ต่อไปด้วยหรือไม่ หากมีความจำเป็นจริงหน่วยงานนั้นๆต้องแจ้งความจำนงเข้ามาภายใน 3 เดือน เมื่อทางคณะกรรมการได้รับก็จะรวบรวมรายชื่อกฎหมายทั้งหมดที่จำเป็นต้องใช้ต่อไปให้ โดยการออกเป็นพระราชบัญญัติ 2. สำหรับส่วนราชการใดที่เห็นว่าหลังยกเลิกการใช้กฎหมายแล้วยังมีความจำเป็นอยู่ ก็ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญโดยสามารถแก้ไขมาในคราวเดียวกัน ก็คือ ต้องดำเนินเรื่องตามขั้นตอนการเสนอกฎหมายใหม่คือ แยกเป็นรายส่วนราชการที่ต้องการปรับปรุงใหม่ ก็จะทำให้ไม่เกิดความเสียหายแก่ข้าราชการในการยกเลิกครั้งนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น