“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” งดจัดรายการ ส่ง “สุรพงษ์-ปลอดประสพ” แจงนาซาขอใช้อู่ตะเภาสำรวจเมฆ อ้างเป็นโครงการทางวิทยาศาสตร์ และมีประโยชน์ ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง เฉ่งฝ่ายค้านเล่นการเมืองจนไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ
รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน เช้าวันนี้ (6 ต.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี งดจัดรายการ โดยมอบหมายให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชี้แจงโครงการนาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เพื่อสำรวจเมฆ และสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค
นายสุรพงษ์กล่าวว่า โครงการนาซาของสหรัฐอเมริกา เริ่มตั้งแต่ 28 กันยายน 2553 ในรัฐบาลชุดที่แล้วได้ลงนามระหว่างองค์กรมหาชนด้านอวกาศของประเทศไทย หรือจิสด้า ซึ่งได้ลงนามกับองค์การนาซา เพื่อทำความร่วมมือมีข้อตกลงระหว่างกัน โดยมีการติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ และได้ประชุมร่วมกัน นำนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาด้านการก่อตัวของเมฆจากนาซามาพบกับหน่วยงานต่างๆ ของประเทศไทย
กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้รู้เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด และมีหน่วยงานเข้าร่วมทั้งหมด 18 ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ และได้ประชุมร่วมกัน ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ให้นาซาเข้าชี้แจงการเส้นทางการสำรวจที่บินผ่านน่านน้ำต่างๆ แล้ว และตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามที่พยายามกุข่าวกล่าวหาว่า โครงการดังกล่าวเป็นการแลกวีซ่าให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นการเล่นการเมือง โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณทูตสหรัฐฯ ที่เข้าใจ เหตุไม่ได้สำรวจเมฆ พร้อมยืนยันที่สหรัฐเลือกประเทศไทย เพราะไทยตั้งอยู่ใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งมีความสัมพันธ์ระหว่างสอง ประเทศที่ยาวนาน และไทยมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังเห็นว่าสนามบินอู่ตะเภาเหมาะสมที่สุดในการใช้ดำเนินการ รวมถึงเป็นที่ตั้ง ขณะเดียวกันก็ได้แจงเหตุผลที่นาซาไม่ใช้สนามบินสุราษฎร์ธานี เพราะสนามบินดังกล่าวมีขนาดเล็กด้วย
ด้าน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า นาซาได้ทำการสำรวจมาแล้วทั่วโลก และมีการเตรียมการมาแล้วเป็นปี หากสำรวจที่ไทย คนได้ประโยชน์ทั่วโลก เนื่องจากพื้นที่ประเทศไทย มีทั้งทะเลฝั่งอันดามัน และมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนที่เลือกใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากใกล้กรุงเทพฯ แต่ไม่ได้เลือกใช้เพราะสหรัฐฯ เป็นเจ้าของเดิม และเครื่องบินที่ใช้สำรวจ ไม่ใช่เครื่องบินทางการทหาร แต่เป็นเครื่องบินเจ็ตธรรมดา ส่วนเครื่องบินอีอาร์ 2 ที่เป็นเครื่องบินจารกรรม มีการตรวจสอบแล้วยืนยันไม่มีปัญหา
อย่างไรก็ตาม การร่วมมือดังกล่าวจะทำให้นักวิทยาศาสตร์ไทยพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงจะได้ประโยชน์ด้านการศึกษาเมฆในแต่ละชั้น รวมถึงลม การระเหย ไอน้ำ เม็ดฝน รู้ว่าฝนจะมามากหรือน้อย ตลอดจนคุณสมบัติทางเคมีและฟิสิกส์ ที่มองไม่เห็นกว่า 30 ชนิด ซึ่งเครื่องบินของไทยไม่สามารถทำได้ รวมถึงจะได้ประโยชน์จากดาวเทียม 4 ลูกที่ทางสหรัฐฯ ลงทุนเพื่อดำเนินการดังกล่าวด้วย