xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่แค่จำนำข้าวยังมีค่าแรง-เงินเดือนหมื่นห้าพาคนไทยเจ๊ง !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ผ่าประเด็นร้อน

คำยืนยันจากปากของประธานที่ปรึกษาด้านนโยบายเศรษฐกิจ วีรพงษ์ รามางกูร “กุนซือใหญ่” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล “ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์ทำ” โดยเห็นว่าเป็นการทำลายกลไกตลาด ทำให้รัฐบาลเสียงบประมาณมหาศาล มีแต่เรื่องทุจริตฉ้อฉล และเตือนว่าหากยังดึงดันเดินหน้าต่อไปอาจทำให้พังพินาศ

ในบทความที่ ดร.โกร่งคนนี้เขียนเอาไว้ยังบอกด้วยว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการสมคบกันระหว่างบริษัทค้าข้าวบางแห่งกับรัฐมนตรีในการเปิดประมูลขายข้าวเพื่อระบายข้าวออกจากสต๊อกเท่านั้น

ความเห็นของ ดร.โกร่ง ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เช่น บอกว่าเป็นการทำลายกลไกตลาดเสรี โดยรัฐเข้ามาผูกขาดการค้าข้าว และการรับจำนำข้าวทุกเม็ดที่ตั้งราคาจำนำในราคาเกวียนละ 15,000 บาท นั้นสูงกว่าราคาตลาดถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ เหมือนกับการซื้อขาด เพราะเมื่อรับจำนำสูงกว่าตลาดก็แน่นอนว่าไม่มีใครไปไถ่ถอน และที่สำคัญคนที่ได้ประโยชน์เต็มๆก็คือโรงสี พ่อค้าที่นำข้าวมาสวมสิทธิ์

ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการทำลายการส่งออกและคุณภาพข้าวของไทยอย่างย่อยยับ เพราะเพียงแค่ปีเดียวไทยได้สูญเสียตลาดไปให้กับประเทศเพื่อนบ้านไปหมดแล้ว มีหลายคนเคยพูด ท้วงติง และหมาดๆก็มีคณาจารย์นับร้อยไปยื่นคัดค้านให้ระงับโครงการก็มี

รับรู้กันว่านโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลได้ทำให้รัฐขาดทุนไปแล้วกว่าแสนล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นอีกหากรัฐบาลยังดึงดันเดินหน้าต่อไป

นั่นเพียงแค่นโยบายประชานิยมเพียงนโยบายเดียวที่สร้างภาระหนี้สินให้กับประชาชน เพราะเป็นการกู้เงินมาใช้ในโครงการ แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังก่อให้เกิดความเสียหายตามมา ถ้าว่ากันเฉพาะโครงการหลักๆ ก็ต้องพูดถึงเรื่องนโยบายขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาท ที่ประกาศว่าจะมีผลบังคับใช้พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า หลังจากนำร่องมาก่อน 7 จังหวัด ที่ผ่านมาก็มีเสียงโอดโอยจากบรรดาผู้ประกอบการที่อ้างในเรื่องการปรับตัวไม่ทันและต้นทุนสูงทำให้แบกรับภาระไม่ไหว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็กต้องลดต้นทุน ด้วยการลดชั่วโมงการทำงาน รวมไปถึงการเลิกจ้าง หรือแม้แต่ปิดกิจการ

แต่ล่าสุดเมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะมีการใช้นโยบายปรับขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ก็มีปฏิกิริยาต่อต้านจากผู้ประกอบการจากทั่วประเทศทันที เท่าที่เห็นเป็นข่าวไม่นานมานี้ก็คือผู้ประกอบการในกลุ่มสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนบน ที่เริ่มเคลื่อนไหว และเตรียมเข้าพบกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในกลางเดือนตุลาคม

สิ่งที่ผู้ประกอบการโวยวายก็คือนโยบายดังกล่าวเป็นประชานิยมที่พรรคการเมืองนำมาหาคะแนนเสียงกับชาวบ้านโดยไม่รับผิดชอบ เพราะคนจ่ายเงินกลับเป็นพวกเขา ไม่ใช่นักการเมือง และพอไม่จ่ายหรือไม่มีปัญญาจ่ายก็จะกลายเป็น “ผู้ร้าย” หาว่าขัดขวางความอยู่ดีกินดีของคนจนไปเสียอีก

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเงินเดือนปริญญาตรีหมื่นห้าพันบาท ก็กำลังพ่นพิษไปทั่วเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะออกมาในแบบศรีธนญชัยคือเปลี่ยนเป็นค่าครองชีพก็ตาม แต่ก็ทำให้บรรดาองค์กรของรัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นต่างต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งองค์กรดังกล่าวได้รับผลกระทบทั้งสองเด้งนั่นคือ ค่าแรงวันละ 300 บาทและเงินเดือน 15,000 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้ไม่นานมีองค์กรส่วนท้องถิ่นออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณไปให้โดยด่วน เพราะแทบทุกแห่งต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายประจำในเรื่องเงินเดินจนไม่มีเงินเหลือสำหรับงบพัฒนา หลายแห่งต้องเลิกจ้างลูกจ้าง และพนักงานลงไม่น้อย

นี่ยังไม่นับเรื่องนโยบายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหลังแรก รถคันแรก ที่ไม่จำเป็นและทำให้รัฐเสียรายได้

อีกด้านหนึ่งมาพิจารณาในเรื่องการหารายได้ ปรากฏว่าต่ำกว่าเป้าหมายทั้งในเรื่องการจัดเก็บภาษี การส่งออกจากเดิมที่ตั้งเป้าเอาไว้ในปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 15 ก็มีแนวโน้มชัดเจนแล้วว่าทำไม่ได้ตามเป้าดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมารองนายกรัฐมนตรี กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่เคยเอ่ยวลี “โกหกสีขาว” ยอมรับว่าทำไม่ได้ ล่าสุดตัวแทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประจำประเทศไทยได้ออกมาระบุตัวเลขว่าการส่งออกของไทยจะทำได้แค่ร้อยละ 5 เท่านั้น รวมทั้งลดเป้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงด้วย

นี่คือข่าวร้ายสำหรับคนไทย แต่ไม่ใช่นักการเมืองและกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดคนมีอำนาจในรัฐบาล เพราะพวกเขากำลังทำกำไรกันอย่างเป็นกอบเป็นกำกับนโยบายประชานิยม โดยเฉพาะโครงการจำนำข้าว มิหนำซ้ำในระยะสั้นยังได้ใจคนรากหญ้าบางกลุ่มที่ยังเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองได้ประโยชน์ หรือมีทัศนคติอันตรายที่ว่า “โกงไม่ว่าแต่ตัวเองได้ประโยชน์ด้วย” แต่ในระยะยาวมองเห็นแต่หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น และแม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะพังไปแล้ว แต่นั่นก็หมายความว่าคนไทยจะหายนะตามไปด้วย!!
วีรพงษ์ รามางกูร
กำลังโหลดความคิดเห็น