xs
xsm
sm
md
lg

“สมบัติ” แนะแก้ รธน.ม.237 ไม่ต้องยุบพรรค อ้างให้ลงโทษตามลำดับความสำคัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) (ภาพจากแฟ้ม)
“โภคิน-สมบัติ” เห็นพ้องชงแก้ ม.237 เสนอตัดสิทธิไล่ลำดับอาวุโส ชี้ขาดห้ามยุบทั้งพรรค แนะประยุกต์ระบอบประธานาธิบดีให้นายกฯ ทิ้งสภาเน้นบริหารอย่างเดียว จ่อเชิญนักวิชาการ 5 สถาบันถกครั้งสุดท้ายก่อนสรุปส่งพรรคร่วมภายใน พ.ย.นี้

วันนี้ (1 ต.ค.) ที่พรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล ประธานคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ แถลงหลังเชิญนายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มาให้คำปรึกษาถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมเห็นพ้องกันใน 5 ประเด็น คือ 1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะรัฐธรรมนูญที่เกิดจากกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้นจะอยู่ได้ไม่นาน 2. ถ้าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจน โดยเฉพาะการคงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3. ต้องมีองค์กรตรวจสอบความชอบในการใช้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ 4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้ความอดทนและเวลาในการทำความเข้าใจ และ 5. เห็นร่วมกันถึงประเด็นที่จะปรับแก้ เช่น มาตรา 237 ว่าด้วยการตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค ซึ่งถือเป็นโทษที่ร้ายแรงเกินไปที่ทำให้ต้องยุบพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ดังนั้นเห็นว่าควรจะตัดสิทธิเฉพาะบุคคลที่ทำกระทำความผิดเท่านั้น โดยยืนยันว่าหลังจากนี้ 2 สัปดาห์จะเชิญนักวิชาการ 5 สถาบันเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะสรุปแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นรูปธรรมเสนอต่อพรรคร่วมรัฐบาลให้ทันภายในเดือนพฤศจิกายน

ภายหลังการแถลงเสร็จสิ้น นายสมบัติกล่าวว่า ได้เสนอต่อที่ประชุมในประเด็นการนำระบอบประธานาธิบดีเรื่องการแบ่งแยกอำนาจมาประยุกต์ใช้ โดยที่ประเทศไทยยังยึดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ที่จะนำมาประยุกต์นั้น ยกตัวอย่างให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ฝ่ายบริหารเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นยืนยันว่ายังต้องคงอยู่ เนื่องจากในหลายประเทศล้วนมีองค์กรตรวจสอบรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เพียงแต่เรียกชื่อต่างกันออกไปเท่านั้น แต่ยอมรับว่าในส่วนที่มาของการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องทบทวนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หากไม่เหมาะสมต้องปรับปรุงให้โปร่งใส ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้

สำหรับรัฐธรรมนูญมาตรา 237 นั้น ได้เสนอในที่ประชุมว่าควรลงโทษเฉพาะผู้ที่มีส่วนกระทำความผิดตามลำดับความสำคัญ เช่น ส.ส.อาจลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี กรรมการบริหารพรรค 10 ปี และหัวหน้าพรรค 15 ปี เป็นต้น แต่ไม่ควรยุบทั้งพรรคการเมือง และตัดสิทธิผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยทั้งหมด ทั้งนี้ยังได้เสนอให้ที่มาของนายกรัฐมนตรีควรมาจากการให้ประชาชนเลือกพรรคการเมือง หากพรรคใดได้รับคะแนนนิยมสูงสุดให้หัวหน้าพรรคการเมืองนั้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนมาตรา 309 ที่เป็นข้อถกเถียงนั้นยังไม่ได้มีการหารือในที่ประชุมแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังทิ้งท้ายที่มาของเงินสนับสนุนพรรคการเมืองว่าจะต้องมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
กำลังโหลดความคิดเห็น