xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมร่วมรัฐสภา 2 ต.ค.ไร้โหวตแก้ รธน. - จับตา “ปู” ขอเปิดอภิปราย “นาซา” สำรวจเมฆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล (ภาพจากแฟ้ม)
“สมศักดิ์” นัดประชุมร่วมรัฐสภา 2 ต.ค. ไร้วาระโหวต รธน.สอดแทรก ด้าน “อุดมเดช” ยันประชุมรับทราบคำวินิจฉัยศาล รธน.เท่านั้น เปิดวาระสภาฯพบ “ยิ่งลักษณ์” ใช้ ม.179 ขอรัฐสภาเสนอแนวทางให้นาซาสำรวจเมฆในอาเซียน

วันนี้ (28 ก.ย.) ที่รัฐสภา นางนรรัตน์ พิมพ์เสน รองเลขาธิการรัฐสภา ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการรัฐสภา เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาได้มีคำสั่งนัดประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 2 ต.ค. เวลา 09.30 น. ทั้งนี้ มีเรื่องที่ถูกบรรจุอยู่ในระเบียบวาระ เช่น เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม เพื่อรับทราบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีมีผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68, รับรองรายงานการประชุม และการพิจารณารายงานผลการพิจารณารายงานการประชุมลับ เกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรณีปราสาทพระวิหาร ในคราวการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญทั่วไป) วันที่ 15 พ.ย. 54

ด้าน นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมรัฐสภาในวันที่ 2 ต.ค.จะไม่มีการลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วาระ 3 อย่างแน่นอน เพราะนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภามีความเห็นว่ายังไม่สมควรจะบรรจุเรื่องดังกล่าวในขณะนี้ ทำให้การประชุมรัฐสภาครั้งนี้จะมีเพียงรับทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 เท่านั้น จากนั้นจะพิจารณากรอบการเจรจาระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอเข้ามา

ทั้งนี้ วาระการประชุมเพื่อพิจารณากรอบการเจรจาระหว่างประเทศมีด้วยกันทั้งสิ้น 13 เรื่อง ประกอบด้วย 1. กรอบการเจรจาของประเทศไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการพัฒนามาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านการจัดการสารปรอท 2. ขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่อง การอนุญาตให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (นาซา) เข้ามาดำเนินโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทย ตามมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 3. บันทึกการหารือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ และร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย 4. บันทึกการหารือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหภาพพม่า และร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหภาพพม่า

5. บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งออสเตรเลีย 6. บันทึกความเข้าใจลับระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งรัฐคูเวต และร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของประเทศไทยและรัฐคูเวต 7. บันทึกการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่การเดินอากาศของราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นและร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของประเทศไทยและญี่ปุ่น 8. บันทึกความเข้าใจคณะผู้แทนของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส และร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของประเทศไทยและฝรั่งเศส 9. ธรรมนูญของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ 10. กรอบเจรจาเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางบกระหว่างไทย-มาเลเซีย

11. กรอบการเจรจาการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี 12. พิธีสารเกี่ยวกับความตกลงกรุงมาดริดเกี่ยวกับการจดทะเบียนระหว่างประเทศของเครื่องหมาย และ 13. พิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 7 ของบริการขนส่งทางอากาศ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน

ขณะที่ในส่วนเรื่องของการขอเปิดอภิปรายเกี่ยวกับการให้นาซ่าเข้ามาสำรวจสภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียนนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในหนังสือด่วนที่ นร.0503/18965 เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2555 มาถึงประธานรัฐสภามีเนื้อหาว่า คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า สาระสำคัญของหนังสือของสถานเอกอัครราชฑูตอเมริกาและร่างหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศกรณีโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทย ประกอบกับคำชี้แจงของนักวิชาการฝ่ายต่างๆ รวมทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง แสดงให้เห็นว่าหนังสือดังกล่าวเป็นความร่วมมือทางวิชาการในการศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูลที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงในด้านการพยากรณ์อากาศที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ในการป้องกันและเตือนภัยล่วงหน้า แต่เนื่องจากยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรื่องดังกล่าวอาจกระทบต่อการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ และความมั่นคงกับประเทศในภูมิภาคได้ ดังนั้น เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้มีโอกาสชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมตลอดถึงข้อกล่าวหาและข้อกังวลต่างๆ ให้เป็นที่ชัดเจน จึงมีมติให้ใช้กลไกทางรัฐสภาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของ ส.ส.และ ส.ว. โดยขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภาตามมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น