ผ่าประเด็นร้อน
ไม่รู้ต้องการรักษาภาพความเด็ดเดี่ยวให้เห็นไปอีกสักพักหนึ่งหรือไม่สำหรับรัฐบาลที่นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะเท่าที่เห็นจากหลายเรื่องหลายกรณีที่รุมเร้าเข้ามาหา ล้วนแล้วแต่เป็นลบ บั่นทอนความศรัทธาลงทุกวัน แต่ละอย่างก็ไม่ใช่ธรรมดา แต่สร้างความเสื่อมตกต่ำลงอย่างรวดเร็วทั้งสิ้น
เหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ ที่เกิดขึ้นกับ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ที่ดำรงแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดอย่างร้ายแรง จากการไปรับรองการซื้อขายที่ “ธรณีสงฆ์” เมื่อครั้งที่เป็นรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยเมื่อ ปี 2545 และต่อมาคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มี “วาระซ่อนเร้น” ไล่ออก มีเจตนาใช้เล่ห์เหลี่ยมแบบศรีธนญชัย อ้างว่าได้ลงโทษและได้รับโทษไปแล้ว เพื่อให้กฎหมายล้างมลทินครอบคลุมไปถึง
แต่ถึงอย่างไรเขาก็ยังไม่พ้นบ่วงกรรม เพราะยังมีคนร้องให้คณะกรรมการการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมทั้งมีการยื่นไปถึงศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีและ ส.ส.ด้วย ทำให้เกิดปัญหาถกเถียงทางข้อกฎหมายไม่เป็นที่ยุติ ที่แม้กระทั่งตัวเองก็ยังไม่มั่นใจ เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่ยื่นไปให้ กกต.ตีความคุณสมบัติอีกทางหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะมองได้หลายมุมอาจเป็นเพราะต้องการป้องกันตัวเองเอาไว้ก่อนหากเกิดปัญหาขึ้นมาในภายหลังก็ได้
อย่างไรก็ดี เวลานี้สำหรับยงยุทธ ถือว่ากลายเป็นตัวฉุดรั้งรัฐบาลให้ดำดิ่งลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะปัญหาของเขาไม่ใช่เป็นเรื่องกฎหมายอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องจริยธรรมและคุณธรรมของนักการเมือง ที่ต้องมาก่อนเรื่องกฎหมาย มาตรฐานต้องสูงกว่าคนทั่วไป
ในเรื่องของสถานะทางกฎหมาย ทำให้เวลานี้ ยงยุทธ ไม่กล้าลงนามสั่งการ ไม่กล้าเซ็นเอกสารใดๆ เพราะเกรงว่าจะมีผลผูกพันมีผลกระทบตามมาเป็นพรวน อาจ “ตายยกเข่ง” อีกรอบ ทั้งในตำแหน่งรัฐมนตรี หรือตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ขณะเดียวกัน อีกมุมหนึ่งนั่นคือเรื่องที่ท้าทายความรู้สึกของสังคม ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กัน อย่างไรก็ดีสำหรับรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยที่นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรก แต่มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ความพยายามในการช่วยเหลือให้ ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นผิด ให้อยู่เหนือกฎหมาย ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายปรองดอง ทำเพื่อประโยชน์ของคนเพียงคนเดียว
การสร้างรัฐตำรวจ แต่งตั้งตำรวจในเครือข่ายเพื่อรับใช้การเมือง อย่างออกนอกหน้า ตำแหน่งสำคัญล้วนอยู่ในมือคนในครอบครัว เครือญาติ และพรรคพวกทั้งสิ้น และเหตุการณ์ “ความแตก” ที่ ทักษิณ ชินวัตร ประดับยศให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ไม่ต่างจากความหมาย “โจรติดยศให้ตำรวจ” สร้างความอัปยศให้กับวงการตำรวจ ยังไม่หนำใจยังก่อม็อบตำรวจไปข่มขู่คุกคามพรรคประชาธิปัตย์
ถัดมาก็ยังเกิดเรื่องที่ ประธานรัฐสภา สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นำสื่อมวลชนคนกันเองไปทัวร์ต่างประเทศ โดยใช้เงินภาษีของชาวบ้าน มันก็ยิ่งเพิ่มเสียงวิจารณ์กันขรม เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นมีความอ่อนไหวท้าทายความรู้สึกของชาวบ้าน
อย่างไรก็ดีหากมองอีกมุมหนึ่ง การท้าทายความรู้สึกในลักษณะดังกล่าวก็อาจทำได้ หากมั่นใจว่ารัฐบาลมีผลงานการบริหารน่าประทับใจ แต่เท่าที่สำรวจผลกลับออกมาตรงกันข้าม ทั้งวิธีการบริหาร ทุกนโยบายผลออกมาล้มเหลว “ห่วยแตก” สิ้นดี ไม่เชื่อก็ลองไล่เรียงไปทีละเรื่อง เริ่มจากเรื่องหลักอย่าง ค่าแรงวันละ 300 บาท ที่เพิ่งประกาศใช้พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ก็ได้เกิดความเคลื่อนไหวต่อต้านจากกลุ่มผู้ประกอบการ จากสภาอุตสาหกรรม เนื่องจากยืนยันว่าพวกเขาแบกรับภาระไม่ไหว พร้อมเหน็บแนมว่าเป็นการหาเสียงของพรรคการเมืองแบบไม่รับผิดชอบ เพราะคนที่ต้องจ่ายเงินกลับกลายเป็นเอกชน นโยบายจำนำข้าว ที่ทำให้รัฐขาดทุนนับแสนล้านบาท ทำให้การส่งออกข้าวลดลงกว่าร้อยละ 50 ทำให้ไทยเสียตลาดการค้าข้าวให้กับประเทศคู่แข่ง
ที่สำคัญก็คือ ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเรื่องค่าครองชีพ ข้าวยากหมากแพง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ สร้างความผิดหวังให้กับชาวบ้านมากขึ้นทุกวัน
ดังนั้น หากจะว่าไปแล้วการกระทำของรัฐบาลหากฝืนความรู้สึกของชาวบ้าน ก็ต้องมั่นใจว่าได้สร้างผลงานโดดเด่นเป็นที่น่าพอใจ ไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ เพราะมีแต่ความไม่เอาไหน ผลงานห่วยแตก ขณะที่นายกรัฐมนตรีถูกมองว่าไม่ต่างจาก “คนไร้ความสามารถ” สร้างความอับอายรายวัน ถ้ายังขืนเป็นแบบนี้ต่อไป ก็มีแต่ขาลง จบไม่สวยแน่!!