xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำสั่ง “จารุวรรณ” ระงับคำสั่งยกเลิกตั้ง “พิสิษฐ์” มิชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา (ภาพจากแฟ้ม)
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน คำสั่งยกเลิกตั้ง “พิสิษฐ์” เป็นรักษาการผู้ว่าฯ สตง.ไม่ชอบด้วย กม.จริง เหตุ “คุณหญิงจารุวรรณ” พ้นจากตำแหน่งแล้วเหตุมีอายุเกินกว่า 65 ปี “พิสิษฐ์” เผยเดินหน้ากระบวนการสรรหา คตง. และผู้ว่าฯ สตง.เมื่อคดียุติ ยันไม่ฟ้องกลับ

วันนี้ (27 ก.ย.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 184 /2553 ลงวันที่ 18 ส.ค. 53 เรื่องยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งนายพิสิษฐ์ ลีลาวัชรโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นรักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยคดีนี้นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ยื่นฟ้อง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง. ว่าออกคำสั่งโดยไม่ชอบเนื่องจากคุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.แล้วเพราะมีอายุเกินกว่า 65 ปี

ส่วนที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนระบุว่า เห็นว่าเมื่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 ก.ย. 49 บัญญัติรับรองให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 ยังมีผลบังคับใช้ต่อไปและกำหนดให้การสรรหาและแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 ซึ่งในการสรรหาและแต่งตั้งผู้ว่าฯ สตง. จึงต้องคำนึงถึงคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม หรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 ประกอบด้วย และโดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 51/2554 เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 54 แล้วว่า บทบัญญัติมาตรา 34 (2) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 36 และมาตรา 309 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลบัญญัติรับรองให้ประกาศคปค.มีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น ผู้ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.ไปพลางก่อนตามระยะเวลาที่กำหนดตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 ก.ย. 49 ก็ต้องมีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม และไม่มีเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งเช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าสตง.คนใหม่ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 และตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 ก.ย. 49 ไม่ได้บัญญัติยกเว้นเรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม หรือเหตุแห่งการพ้นจาการตตำแหน่งของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าสตง. ดังจะเห็นได้จากกรณีตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 ก.ย. 49 ข้อ 1 ได้กำหนดว่าให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 มีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติเฉพาะในส่วนที่ 1 หมวดที่ 1 แต่โดยที่บทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามและเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 อยู่ในหมวด 2 ไม่ได้อยู่ในหมวดที่ 1 ด้วยเหตุนี้การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าสตง.คนใหม่ก็ดี หรือการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.ไปพลางก่อนของคุณหญิงจารุวรรณก็ดี ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามและเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งตามบทบัญญัติใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542

ประกอบกับเมื่อพิจารณามาตรา 34 (2) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ที่บัญญัติว่านอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 33 ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์แล้ว การมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ถือเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. เพราะหากผู้มีอายุเกินกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ย่อมไม่อาจได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.ได้มาตรา 34 (2) จึงถือได้ว่าเป็นทั้งเรื่องคุณสมบัติและเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่ง อุทธรณ์ของคุณหญิงจารุวรรณ ที่ว่าการวินิจฉัยว่าคำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ 184/2553 เรื่องยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าฯ สตง.ให้รักษาราชการแทนผู้ว่าฯ สตง.ลงวันที่ 18 ส.ค. 53 ต้องวินิจฉัยตามบทบัญญัติของประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 ก.ย. 49 เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 จึงฟังไม่ขึ้น

เมื่อคุณหญิงจารุวรรณดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ สตง.อยู่ในวันที่ 18 ก.ย. 49 และต่อมาประกาศคปค ฉบับที่ 29 บัญญัติให้ปฎิบัติหน้าที่ผู้ว่าสตง.ไปพลางก่อน ต่อมาคุณหญิงจารุวรรณมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 5 ก.ค. 53 ดังนั้นตั้งแต่ 5 ก.ค. 53 โดยผลของมาตรา 34 (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 คุณหญิงจารุวรณณจึงพ้นจากตำแหน่งและไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.ไปพลางก่อนได้ และไม่มีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชา และรับผิดชอบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการหรือปฏิบัติราชการในฐานะผู้ว่าฯ สตง.ตามมาตรา 27 และมาตรา 37 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 ดังนั้น คำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ 184/2553 เรื่องยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งนายพิสิษฐ์ ลีลาวัชรโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นรักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 18 ส.ค. 53 ที่ออกมาภายหลังจากที่คุณหญิงจารุวรรณได้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยการอ่านคำพิพากษาดังกล่าว คุณหญิงจารุวรรณไม่ได้เดินทางมารับฟังคำพิพากษาด้วยตนเองแต่ได้มอบหมายให้ทนายความเดินทางมาฟังแทน ซึ่งนายพิสิษฐ์ กล่าวภายหลังรับฟังคำพิพากษาว่า เมื่อคดียุติแล้วกระบวนการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินก็จะได้เดินหน้าต่อไป หลังจากที่ คตง.ว่างมาตั้งปี 2549 และผู้ว่าฯ สตง.ว่างมาตั้งแต่ปี 2543 ทั้งนี้ตนไม่ติดใจที่จะฟ้องร้องกลับคุณหญิงจารุวรรณ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการแพ้ชนะส่วนตัว แต่เป็นการทำให้ความจริงปรากฏ แต่ก็เสียดายเวลาที่เสียไป ซึ่งสังคมและประเทศชาติเสียโอกาสจากการพัฒนาองค์กรสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินให้รุดหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น