โฆษก กอ.รมน.ประณามโจรใต้บึ้มสายบุรี เผยจับคนต้องสงสัยได้แล้ว คาดก๊วนเดียวกับที่ยิงทหารบายอ ระบุ ผบ.ทบ.สั่ง มทภ.4 คุมพื้นที่เพิ่ม เปลี่ยนชื่อเซฟตี้โซนเป็นพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ ยันไม่กระทบเศรษฐกิจ ชูแก้ปัญหาถูกทาง ย้ำพร้อมเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินถ้าปลอดภัยพอ
วันนี้ (24 ก.ย.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อเวลา 14.30 น. พล.ต.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แถลงถึงกรณีที่ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้วางระเบิดใน อ.สายบุรี จ.ปัตตานีจนทำให้มีผู้บาดเจ็บว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรอง ผอ.กอ.รมน.รู้สึกไม่สบายใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะเกิดการสูญเสีย บาดเจ็บ ล้มตาย กอ.รมน.ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ และขอประณามผู้ก่อเหตุที่ทำให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องบาดเจ็บ ซึ่งขณะนี้เราได้จับผู้ต้องสงสัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องก่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อ.สายบุรี ซึ่งมีข้อมูลว่าเป็นกลุ่มเดียวกันที่ก่อเหตุร้ายยิงทหาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ อ.บายอ จ.ปัตตานี โดยเจ้าหน้าที่กำลังเร่งขยายผลเพื่อจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งให้แม่ทัพภาคที่ 4 ดูแลพื้นที่ที่ประชาชนอยู่จำนวนมาก เช่น ชุมชน อำเภอ จังหวัด โดยให้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปควบคุมพื้นที่ให้มากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มด่านจุดตรวจสกัดต่างๆ เพื่อจำกัดเสรีภาพฝ่ายตรงข้าม
“ขณะนี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา เราได้มีการจัดเขตพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษในเขตที่มีประชาชนอยู่มาก โดยแปลงชื่อมาจากพื้นที่เซฟตี้โซน เนื่องจากจากขณะนี้เราไม่สามารถนำกฎหมายไปควบคุมพื้นที่ได้ครบถ้วน การดำเนินการต่างๆค่อนข้างจำกัด เราไม่อยากใช้คำว่าเซฟตี้โซน เพราะ เพราะจะไปจำกัดสิทธิ เสรีภาพ อีกทั้งเราไม่สามารถลดการสัญจรของประชาชนได้ ซึ่งคำว่า พื้นที่เซฟตี้โซน หมายถึงเป็นพื้นที่เราควบคุมได้มากที่สุด และต้องไม่มีเหตุเกิดขึ้น แต่ทหารไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงใช้คำว่า พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ เพราะ เราอยากให้ประชาชนได้มีส่วนช่วยดูแลพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตาม จากเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นไม่กระทบต่อเศรษฐกิจบริเวณชายแดนภาคใต้เพราะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีชาวอินโดนีเซีย และมาเลเซียเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ ทั้งนี้การแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ถือว่า เดินมาถูกทางและมีแนวโน้มที่ดี เพราะมีผู้ก่อความไม่สงบบางส่วนเข้ามามอบตัวแล้ว แต่ยังมีพวกสุดโต่งทึ่ยังไม่ยอมรับรู้อะไรทั้งนั้น และยังเป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งเราพยายามเข้าถึงพวกนี้ให้ได้มากที่สุด แต่อาจต้องใช้เวลามากกว่ากลุ่มอื่น” โฆษก กอ.รมน.กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุว่าจะให้หน่วยงานความมั่นคงประเมินสถานการณ์และยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ พล.ต.ดิฏฐพรกล่าวว่า ในส่วนของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเราพิจารณาทุก 3 เดือน โดยมีประกอบการพิจารณาหลายอย่าง เช่น ประชาชนมีความปลอดภัยมากขึ้น เจ้าหน้าที่สามารถถอนออกพื้นที่ได้ ประชาชนมีความปลอดภัย สิ่งนี้จะเป็นตัวชี้วัดในการพิจารณายกเลิก ดังนั้น หากพื้นที่ใดที่เราสามารถลดระดับกฎหมายในพื้นที่ได้ ทางแม่ทัพภาคที่ 4 ก็พร้อมจะลดระดับให้โดยเร็ว เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีความปลอดภัยเพียงพอ