xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ยัน “ยงยุทธ” ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ล้างมลทิน เตือนดื้อตาใสมีปัญหาแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ (แฟ้มภาพ)
ฝ่ายกฎหมาย ปชป.ย้ำ “ยงยุทธ” ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ล้างมลทิน เหตุยังไม่ได้รับโทษ หรือรับทัณฑ์บางส่วน เชื่อจะมีกลุ่มคนที่รักความถูกต้องร้อง กกต. หรือศาล รธน. เตือนถ้ายังดันทุรังทำหน้าที่ในรองนายกฯ และ รมว.มหาดไทยจะมีปัญหาในอนาคตแน่ ระบุที่กฤษฎิกายืนยันว่าเข้าข่าย พ.ร.บ.ล้างมลทินนั้น เป็นความเห็นเลขาฯ กฤษฎีกาคนเดียว ที่ตีความเข้าข้างรัฐบาล โดยไม่ยึดหลักกฎหมาย


นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุงในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฏหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงมหาดไทย (อ.กพ.) มีมติไล่ออกนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย ในขณะที่ดำรงตำหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีที่ดินสนามกอล์อัลไพน์ แต่ อ.กพ.กระทรวงมหาดไทยระบุว่าได้รับการล้างมลทินไปแล้วว่า ฝ่ายกฏหมายพรรคเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า กรณีของนายยงยุทธไม่เข้าข่ายที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2550 จะสามารถบังคับใช้ได้ เพราะข้อความต้องได้รับโทษหรือรับทัณฑ์บางส่วน หรือรับโทษ ทัณฑ์ทั้งหมดไปแล้ว ก่อนจึงเชื่อว่าจะมีภาคประชาชน นักกฏหมายที่รักความถูกต้องจะออกมาเคลื่อนไหว อาจจะเป็นการร้องต่อ กกต. เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของ ส.ส.ที่นายงยุทธเป็นอยู่ หรือจะร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยชี้ขาดก็ได้

นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า หากนายยงยุทธยังยืนยันที่จะทำหน้าที่ต่อไป อาจทำให้เกิดปัญหาตามมา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญว่าสิ่งที่จะทำหลังจากที่ถูกชี้มูลไล่ออกแล้วจะมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ความถูกต้องชอบธรรม ไม่ต้องพูดถึงจริยธรรมของข้าราชการแล้ววันนี้ เช่น กรณีการพิจารณาโผโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย หรือในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางไปราชการต่างประเทศ หากนายยงยุทธนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานในที่ประชุม ครม. การจะออกมติใดๆ ของที่ประชุม ครม.มาจะมีปีญหาตามมาแน่นอน

“ยืนยันว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อชาติและสังคม เพราะมีผลทางกฎหมายและระดับนโยบาย ดังนั้น เจตนารมณ์ของกฏหมายจึงตีกรอบคุณสมบัติของคนที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ว่า ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม มีความเกรงกลัวและละอายต่อบาป”

ส่วนที่มีข่าวว่าเป็นความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งระบุว่าใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทินได้นั้น นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ตนเห็นว่าต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเป็นควมเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใด หรือเป็นแค่ความเห็นของนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะหากเป็นความเห็นของเลขาฯ ก็ไม่มีผลผูกพันใดๆ และต้องดูรายละเอียดหรือตรวจสอบเสียก่อน ซึ่งตนเข้าใจว่า เป็นความเห็นของเลขาฯ กฤษฎีกามากกว่า เพราะที่ผ่านมานายอัชพรเคยพลาดมาแล้วในเรื่องใหญ่ๆ เช่น ที่ยืนยันว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ได้ แต่ที่สุดศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดมาว่าทำไม่ได้ หน้าแตกไปครั้งหนึ่งแล้ว

“ขอเตือนในฐานะที่รักชอบพอกันมาว่า ขอให้ยึดหลักตั้งในข้อกฎหมายให้ดี เพราะช่วงหลังหลักมันเป๋ การตีความให้เกิดประโยชน์กับรัฐบาลทั้งสิ้น ซ้ำยังขัดหลักกฎหมาย หากเป็นเช่นนี้บ่อยครั้งจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการกฤษฎีกา และถือว่ายุคนี้แย่ที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา เพราะที่ผ่านมาเลขาฯ กฤษฎีกาคนก่อนๆ ส่วนใหญ่จะยึดหลักกฎหมายแน่นมาก เรียกว่าหลักดี ไม่มีความเคลือบแคลงใดๆ จากสังคม”
กำลังโหลดความคิดเห็น