“อ.พิชาย” วิเคราะห์สถานการณ์โลก ชี้ปัจจัยความตกต่ำทางเศรษฐกิจ การพยายามรักษาอำนาจครอบงำของตนเอง การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ และการดูถูกศาสนาค่านิยมวัฒนธรรม อาจนำไปสู่ความขัดแย้งหรือสงครามระหว่างประเทศแบบไม่จำกัดวงหรือที่เรียกว่าสงครามโลกครั้งที่ 3
เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พิชาย ณภูเก็ต วิเคราะห์สถานการณ์โลก ถึงความเป็นไปได้ของการเกิดสงครามที่ไม่จำกัดขอบเขตของประเทศต่างๆ ว่า “สถานการณ์โลกขณะนี้น่าเป็นห่วง การขยายตัวของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ มากมายและอาจนำไปสู่ภาวะสงครามไม่จำกัดขอบเขต
1. การลุกฮือของประชาชนกลุ่มประเทศอาหรับ ที่โค่นล้มรัฐบาลเผด็จการเก่า ทำให้สังคมของประเทศเหล่านั้นตกอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านอำนาจ และทำให้กลุ่มอำนาจต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเข้าไปช่วงชิงการนำของประเทศเหล่านั้น ทำให้สถานการณ์ของหลายประเทศมีความอ่อนไหว การเมืองไร้เสถียรภาพ และความตกต่ำทางเศรษฐกิจจะดำรงอยู่อย่างยาวนาน การเข้าไปแทรกแซงของประเทศมหาอำนาจในประเทศอาหรับ อาจทำให้ความขัดแย้งของประเทศเหล่านั้นสะสมและขยายตัวมากขึ้น
2. การล่มสลายของเศรษฐกิจยุโรป ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนไหว ไร้เสถียรภาพ และกระทบกับเงินดอลลาร์สหรัฐด้วย ขณะเดียวกันก็จะเปิดโอกาสให้ประเทศจีน เยอรมนี และรัสเซีย เข้าไปซื้อกิจการราคาถูกในยุโรปตะวันตก ซึ่งสหรัฐฯ และอังกฤษอาจดำเนินการขัดขวางอย่างเต็มที่ เพราะกลัวประเทศเหล่านั้นครอบงำเศรษฐกิจของยุโรป ซึ่งในทางกลับกันก็ทำให้อิทธิพลของสหรัฐฯ ลดลง พื้นที่นี้ก็เป็นอีกแห่งที่ทำให้ประเทศมหาอำนาจเกิดการต่อสู้กัน
3. ความอ่อนแอภายในของระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ ไม่อาจขยายการเติบโตจากพลังการผลิตภายในได้ จึงต้องออกไปแสวงหาทรัพยากรภายนอก ดังนั้น การส่งกำลังทหารออกไปยึดครองหรือมีอิทธิพลเหนือประเทศที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจึงเป็นไปอย่างเข้มข้น และอาจส่งผลกระทบต่อจีนและรัสเซีย
4. ความขัดแย้งทางค่านิยมและศาสนาที่เกิดขึ้นในช่วงเร็วๆ นี้ ที่มีการสร้างภาพยนต์ในทำนองดูหมิ่นพี่น้องมุสลิมของนักสร้างหนังชาวสหรัฐฯ จะทำให้เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตร กับประชาชนมุสลิมทั่วโลกมีความรุนแรงและลึกซึ้งเกินกว่าจะเยียวยาได้แล้ว
5. ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและจีน ก็ดำเนินไปในรอยเดียวกัน กล่าวคือทั้งสหรัฐและญี่ปุ่นมีวิธีคิดแบบเงินเป็นใหญ่ และอัตตาธิปไตย ไม่สนใจใยดีกับค่านิยม วัฒนธรรม และความรู้สึกของประชาชนประเทศอื่น จึงมักทำอะไรที่ขาดความยั้งคิด และเป็นเหตุให้ชนวนความขัดแย้งเกิดขึ้นและขยายตัวออกไปเกินกว่าที่คาดทุกที
6. เหตุการณ์ทั้งหมด ผสมผสานกันระหว่าง ปัจจัยความตกต่ำทางเศรษฐกิจ การพยายามรักษาอำนาจครอบงำของตนเอง การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ และการดูถูกศาสนาค่านิยมวัฒนธรรม อาจนำไปสู่ความขัดแย้งหรือสงครามระหว่างประเทศแบบไม่จำกัดวง หรือที่เรียกว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้”