xs
xsm
sm
md
lg

ส่ง“พงศพัศ”คุมป.ป.ส. จิ๊กซอว์ปั้น “รัฐตำรวจ”

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด

พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ
มีคำถามเกิดขึ้นมากกมายตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะทำหน้าที่ประธาน เมื่อวันอังคารที่ 4 กันยายน 2555 มีมติอนุมัติแต่งตั้ง "จูดี้" พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ให้ดำรงตำแหน่ง "เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)"

มติ ครม. กำหนดระยะการดำรงตำแหน่ง เลขาฯป.ป.ส. ของพล.ต.อ.พงศพัศ เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป อ้างตามนัย มาตรา 11 (5) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และยังให้ พล.ต.อ.พงศพัศ ยังคงดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.อยู่ต่อไป โดยให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง และยังคงเป็นกรรมการข้าราชการตำรวจโดยตำแหน่ง

เป็นการรับไม้ต่อมือเก้าอี้ "เลขาฯป.ป.ส." ต่อจาก"บิ๊กอู๋" พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร. ที่หมดวาระการควบตำแหน่ง เลขาฯ ป.ป.ส. เพื่อเตรียมรับหน้าที่ "แม่ทัพสีกากี" ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป

การแต่งตั้งตำรวจมาเป็น เลขาฯ ป.ป.ส. ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเพิ่งเกิดขึ้น เพราะสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ช่วงนั้นพ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ก็โยก พล.ต.ท.กฤษณะ ผลอนันต์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. (ขณะนั้น) ข้ามห้วยจากรั้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปนั่งเก้าอี้ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

เนื่องจาก พล.ต.ท.กฤษณะ นรต.รุ่น 27 รุ่นน้อง พ.ต.ท.ทักษิณ นรต.26 ซึ่งเป็นคนสนิท พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แสดงความภักดีให้เห็นเด่นชัด ในเรื่องที่พล.ต.ท.กฤษณะ มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้าย จึงมอบหมายตำแหน่ง เลขาฯป.ป.ส.ให้ดูแล

พอมาถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปีแรกในการบริหารประเทศ ก็ "โคลนนิ่ง"นโยบายเดียวกันพี่ชายชนิดไม่ผิดเพี้ยน โดยดึง พล.ต.อ.อดุลย์ นายตำรวจที่ได้รับคำชื่นชมจากทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ที่นั่งเก้าอี้ รอง ผบ.ตร. กางขามานั่งควบเก้าอี้ เลขาฯป.ป.ส.ด้วย

และผลงานตลอด 1 ปีที่พล.ต.อ.อดุลย์ นั่งเก้าอี้ เลขาฯป.ป.ส. ก็แสดงให้เห็นถึงการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่รัฐบาลต้องการ โดยเฉพาะการช่วยผลักดันให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. พี่ชายคุณหญิงพจมาน เป็นพระเอกในด้านการปราบปรามยาเสพติดอย่างแท้จริง ชนิดที่ป.ป.ส. เป็นเพียงหน่วยงานเสริมอยู่เบื้องหลัง งานออกหน้าจะชงให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติโชว์ฝีมือ

พล.ต.อ.อดุลย์ เลยได้รับโบนัสขึ้นเป็น "ผบ.ตร." ผู้นำสูงสุดในชีวิตราชการ"สีกากี" เป็นเกียรติวงศ์ตระกูล

ตามมาด้วยการแต่งตั้ง พล.ต.อ.พงศพัศ มานั่งควบ เลขาฯป.ป.ส. เฉกเช่นเดียวกับ พล.ต.อ.อดุลย์ ซึ่งเป็นการซื้อใจ พล.ต.อ.พงศพัศ ที่จะเข้ามาทำงานให้ชนิดทุ่มเทสุดตัว เพราะเห็นผลจากครั้ง พล.ต.อ.อดุลย์ ที่นั่งควบเก้าอี้ เลขาฯป.ป.ส. และก็ได้เป็น ผบ.ตร. เชื่อได้ว่าลึกๆ พล.ต.อ.พงศพัศ ก็คงหวังซ้ำรอยเดียวกับพล.ต.อ.อดุลย์

ประเด็นคำถามสำคัญที่เกิดขึ้น คือ การแต่งตั้ง"ตำรวจ" มาเป็นหัวหน้าหน่วย"สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด"(อีกแล้ว) เหมาะสมแล้วหรือไม่ อย่างไร

เหตุใดถึงไม่ปล่อยให้ข้าราชการในสำนักงาน ป.ป.ส. ได้เติบโตขึ้นตามลำดับชั้น เพราะป.ป.ส. ก็มีผู้บังคับบัญชาระดับ รองเลขาฯป.ป.ส. หลายคนที่มีความรู้ ความสามารถ และความชำนาญ ในการป้องกันปราบปรามยาเสพติดมาไม่น้อยเช่นกัน

ทั้งๆที่วัตถุประสงค์การเกิดขึ้นของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่สำคัญคือเพื่อมาคานอำนาจการทำงานของตำรวจ ที่มีหน่วยงานกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) ในเรื่องการดำเนินการด้านยาเสพติด

เมื่อนำตำรวจมาเป็นหัวหน้าหน่วยงาน ป.ป.ส.แล้ว การคานอำนาจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เป็นคำถามที่คาใจใครหลายคน

เช่นเดียวกับการเลือกแต่งตั้ง พล.ต.อ.พงศพัศ มาเป็น เลขาฯป.ป.ส. หากต้องการให้งานด้านยาเสพติดมีประสิทธิภาพ เพราะตำรวจน่าจะมีเครือข่ายความชำนาญ เชี่ยวชาญ มากกว่าข้าราชการทั่วไป ก็มีคำถามเกิดขึ้นมาว่า หากเช่นนั้นเหตุใดไม่เลือกใช้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ รอง ผบ.ตร.
เพราะปูมประวัติรับราชการของ พล.ต.อ.วัชรพล เคยผ่านเก้าอี้ ผบช.ปส. มาแล้ว การทำงานด้านยาเสพติดในระดับนโยบายไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ ทั้งในและต่างประเทศ ต่างจากพล.ต.อ.พงศพัศ สมัยเป็น ผู้บัญชาการ ก็เป็น ผู้บัญชาการประจำ ตร. และผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เท่านั้น

การที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเป็นเพียงการใช้สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สาขา 2 เพื่อควบคุมงานด้านยาเสพติด ซึ่งเป็นงานโชว์ผลงานของรัฐบาลในการสร้างภาพให้สังคมเห็นเท่านั้น

ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดข้อมูลตีแสกหน้าการปราบปราบยาเสพติดของรัฐบาล จากสำนักงานสติถิแห่งชาติ ที่ออกมาระบุว่า สถานการณ์การระบาดยาเสพติดพบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน / หมู่บ้านเป้าหมายฯ มากกว่าครึ่ง ร้อยละ 54.0 ระบุว่า มีปัญหายาเสพติด โดยในจำนวนนี้มีการแพร่ระบาดรุนแรง -รุนแรงที่สุด ร้อยละ 9.2 และค่อนข้างรุนแรง ร้อยละ 12.2 ส่วนผู้ที่เห็นว่าไม่ค่อยรุนแรง -ไม่รุนแรง มีร้อยละ 32.6

ปัญหายาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง -รุนแรงที่สุดพบในกรุงเทพมหานครมากกว่าภาคอื่น ร้อยละ 20.9 รองลงมาได้แก่ ภาคใต้ ภาค 8 (นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ระนอง ชุมพร) ร้อยละ 15.3 และภาค 9 (สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ร้อยละ 14.4 ส่วนภาคอื่นมีไม่เกินร้อยละ 10

ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน / หมู่บ้านเป้าหมาย ฯ ระบุว่า มีปัญหายาเสพติดในโรงเรียน /สถานศึกษา ร้อยละ 37.0 ซึ่งในจำนวนนี้มีการแพร่ระบาดรุนแรง -รุนแรงที่สุด ร้อยละ 3.8 และค่อนข้างรุนแรง ร้อยละ 6.0 ส่วนที่ไม่ค่อยรุนแรง -ไม่รุนแรง มีร้อยละ 27.2

เพราะการเลือกใช้คนแบบ"ผิดฝาผิดตัว" หาใช่พึงได้ประโยชน์สูงสุดจากการทำงานปราบปรามยาเสพติดที่แท้จริง แต่เพียงแค่หวังก่อร่างสร้างรูป"รัฐตำรวจ"คลอบคลุมทุกหน่วยงานเท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น