ผอ.เอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจพบชาวบ้านพอใจนโยบายสุขภาพ-ป้องภัยพิบัติของเพื่อไทย ไม่พอใจค่าครองชีพ-ปราบยาฯ ชอบการศึกษา-เกษตร ปชป.ชูจุดแข็งการเมืองพรรครัฐเจ๋งกว่า 83.6% ยังให้โอกาส “ยิ่งลักษณ์” 80.3% หนุน “ทักษิณ” กลับมาสู้คดี 74.3% ยังจำผลงานได้
วันนี้ (9 ก.ย.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง 1 ปีรัฐบาล ประชัน 1 ปีฝ่ายค้าน โอกาสของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โอกาสของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และประเด็นร้อนอื่นๆ ในสายตาของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ ขอนแก่น สุรินทร์ อุดรธานี พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,251 ตัวอย่าง พบว่า เมื่อสอบถามความพอใจของประชาชนต่อนโยบายสาธารณะ ระหว่างพรรคเพื่อไทย (พท.) กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.8 พอใจนโยบายด้านสุขภาพของพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ร้อยละ 30.9 พอใจพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 12.3 ไม่พอใจทั้งสองพรรค
นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 53.9 ยังพอใจนโยบายด้านการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติของพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ร้อยละ 35.1 พอใจนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 11.0 ไม่พอใจทั้งสองพรรค
นายนพดลกล่าวต่อว่า ที่น่าพิจารณาคือ นโยบายด้านค่าครองชีพ และนโยบายด้านแก้ปัญหายาเสพติด เป็นนโยบายที่ประชาชนยังไม่พอใจต่อทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ในสัดส่วนที่สูงที่สุด คือ ร้อยละ 44.9 และร้อยละ 39.2 ตามลำดับ โดยร้อยละ 30.3 พอใจพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 24.8 พอใจพรรคประชาธิปัตย์ในนโยบายด้านค่าครองชีพ และเพียงร้อยละ 31.2 พอใจพรรคเพื่อไทย และ ร้อยละ 29.6 พอใจพรรคประชาธิปัตย์เรื่องแก้ปัญหายาเสพติด ขณะที่นโยบายด้านการศึกษาและนโยบายด้านราคาสินค้าทางการเกษตรที่น่าเป็นห่วงเพราะ ไม่ถึงครึ่งหรือร้อยละ 40.2 ที่ประชาชนพอใจพรรคเพื่อไทย แต่ร้อยละ 46.7 พอใจพรรคประชาธิปัตย์ จนอาจกล่าวได้ว่า ชาวบ้านพอใจพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าในเรื่องนโยบายด้านการศึกษา ในขณะที่นโยบายด้านสินค้าทางการเกษตรได้รับความพอใจจากประชาชนไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือร้อยละ 34.5 ที่พอใจต่อพรรคเพื่อไทย กับร้อยละ 35.1 ต่อพรรคประชาธิปัตย์
นอกจากนี้ เมื่อทำการศึกษาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และปัญหาอุปสรรคของทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า ในเรื่องจุดแข็ง เช่น การแข่งขันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย การเข้าถึงประชาชน เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีความชัดเจนในนโยบายสาธารณะ ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 52.6 ระบุพรรคเพื่อไทยมีจุดแข็งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอยู่ร้อยละ 34.1 ตรงกันข้าม
ที่น่าพิจารณาคือในเรื่องจุดอ่อน เช่น ไม่แข่งขันกันในเชิงนโยบายสาธารณะ เอาแต่เล่นการเมือง มุ่งแย่งชิงอำนาจกันเกินไป คอยแต่จับผิดแต่เรื่องไม่เป็นเรื่อง ผิดจริยธรรมทางการเมือง เป็นต้น พบว่า ประชาชนร้อยละ 28.2 ระบุเป็นจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทยซึ่งหมายความว่ามีจุดอ่อนน้อยกว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอยู่ถึงร้อยละ 50.5
เมื่อถามถึงโอกาสที่ประชาชนให้กับนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.6 ระบุควรให้โอกาสทำงานต่อไป ในขณะที่ร้อยละ 16.4 ระบุไม่ควรให้โอกาสแล้ว
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.3 ระบุควรให้โอกาส พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อต่อสู้ในทุกคดี ในขณะที่ร้อยละ 19.7 ระบุไม่ควรให้โอกาส แต่เมื่อถามถึงผลงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อผลงานในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.3 ยังจำได้ต่อผลงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในการแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 25.7 จำไม่ได้แล้ว