xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” มอบนโยบายผู้ว่าฯ ดูนิทรรศการน้ำหวังเข้าใจแนวทางรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
ผวจ.ทั่วไทยแห่มาดูนิทรรศการน้ำตามสั่ง นายกฯ มอบนโยบายหวังเข้าใจแนวทางรัฐชัดเจน เน้นระบายน้ำเร็วที่สุด แนะเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ส่งปัญหาผ่าน ปภ. ใช้เว็บรัฐศูนย์กลางอัปเดต ก่อนเรียกผู้ว่าฯ จว.ภัยแล้งคุยครึ่งชั่วโมง


วันนี้ (3 ก.ย.) ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว เมื่อเวลา 10 .00 น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมายังงานนิทรรศการ “มุ่งมั่นทำงาน บริหารจัดการน้ำเพื่อประชาชน” ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายและชี้แจงขั้นตอนการบริการจัดการน้ำของรัฐบาลเมื่อประสบอุทกภัยให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศที่มารับฟังว่า วัตถุประสงค์ของการจัดนิทรรศการครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำทั้งภัยน้ำท่วม และภัยแล้ง เข้าใจแนวทางในการบริการจัดการน้ำของรัฐบาลอย่างชัดเจน ซึ่งหลักในการบริหารจัดการน้ำนั้นรัฐบาลน้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งโครงการำพระราชดำริสามารถทำให้เราผ่านพ้นอุปสรรคในปี 2554 มาได้ แต่สิ่งที่ต้องทำต่อคือการบูรณะซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ให้ใช้งานได้อย่างปกติ สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้น้ำระบายลงสู่ทะเล และแม่น้ำสายหลักอย่างเร็วที่สุด ซึ่งทั้งสองส่วนนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำมาปฏิบัติเพื่อรับมือกับปัญหาอุทกภัยในปีนี้ ที่เป็นแผนระยะสั้นในการป้องกันน้ำท่วม

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า อยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเมื่อรับทราบแนวทางและรับชมนิทรรศการมีในเรื่องของสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และธรรมชาติของน้ำแล้ว หมายความว่าเราจะทำงานอย่างเดิมไม่ได้ อุทกภัยมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นตลอด ดังนั้นเราจะเปลี่ยนวิธีการทำงานอย่างไร ตรงนี้คือสิ่งที่ตนอยากเห็น ซึ่งบทบาทของผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำขอให้ทบทวนบทบาทตัวเองว่ามีบทบาทอย่างไร และบทบาทในภาพรวมด้วย และจะนำบทบาทเหล่านั้นไปต่อยอดให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร เช่น พื้นที่ต้นน้ำ ที่ต้องทำเรื่องของการปลูกป่าการทำฝ้าย และปลูกหญ้าแฝก ซึ่งหน้าที่หลักคือเพื่อชะลอน้ำ ตรงนี้คือสิ่งที่รัฐบาลอยากเห็นว่าจังหวัดมีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง และมีสิ่งใดที่ยังไม่ตรงกับวัตถุประสงค์หลัก

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หากมีปัญหาอุปสรรคใดที่ไม่สามารถพูดคุยชี้แจงและประชุมครั้งนี้ได้ สามารถที่จะรวบรวมปัญหาผ่านมาทางอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ เพราะทาง ปภ.โดยกระทรวงมหาดไทยจะทำงานเป็นคณะกรรมการร่วมกับทางคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ซึ่งได้มีการปรับวิธีการทำงานใหม่ เพราะแต่เดิมปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยทำงานผ่าน ปภ. แต่ขณะนี้เมื่อเกิดเหตุอุทกภัยขึ้น ปภ.จะต้องรับมือและฟื้นฟูซึ่งเรียกได้ว่าเป็นงานที่ต่อเชื่อมกัน ขณะที่ กบอ.โดยศูนย์ซิงเกิลคอมมานด์ก็จะรวบรวมข้อมูลทำงานกับผู้ว่าฯ ในแต่ละจังหวัดด้วย ดังนั้น ทั้งหน่วยงาน ปภ. มหาดไทย และ กบอ. เรียกได้ว่าเป็นหน่วยงานเดียวกันที่จะทำงานเชื่อมไปยังจังหวัด ซึ่งตนคาดหวังว่าทุกจังหวัดจะมีการตั้งศูนย์ส่วนหน้า และลงไปถึงท้องถิ่นและอำเภอด้วย โดยให้ใช้สำนักงานเดิมในการจัดตั้ง แต่ขอให้มีการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนเพื่อที่จะให้ศูนย์ส่วนหน้าทำงานเก็บข้อมูลในภาวะปกติ และเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติระดับ 1-2-3 และ 4 ตามลำดับ ศูนย์ส่วนหน้าก็จะสามารถทำงานได้ทันที

“จากประสบการณ์ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าพอเราไม่ได้ประกาศ กว่าจะมีการมอบหมายงานนั้นทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่อง หน่วยงานที่จะรับผิดชอบก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร ซึ่งภายในสัปดาห์นี้เราจะเริ่มทำงานในระบบใหม่ โดยขอให้ทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ประสานกับกระทรวงมหาดไทยในการเขียนกระบวนการทำงานอย่างละเอียด โดยศูนย์ส่วนหน้าจะรวมอยู่ในทุกสถานการณ์ ทั้งการส่งข้อมูลให้ กบอ. และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเพราะการที่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับศูนย์ส่วนหน้า และขอให้ทำการชี้แจงต่อประชาชนในพื้นที่เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความสับสนด้วย จึงขอให้ศูนย์นี้ได้รวบรวมและตรวจสอบความถูกต้องก่อนที่จะส่งข้อมูลด้วย เพราะเมื่อเกิดภัยพิบัติมักจะมีความสับสนเกิดขึ้นตามมาเสมอ จึงขอให้ทำงานจากข้างล่าง หรือแอเรียเบส แอปโพรช(area base approach) ก่อนที่จะส่งข้อมูลมายังส่วนกลาง” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังมีข้อมูลในส่วนของเว็บไซต์ที่แบ่งข้อมูลเป็น 3 ระดับ เช่น ข้อมูลระดับ 3 ซึ่งเป็นข้อมูลด้านเทคนิคที่กรมชลประทานจะเป็นผู้ใช้งาน เพื่อตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำ ระดับที่ 2 คือ ข้อมูลที่ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าของแต่ละจังหวัดใช้ ซึ่งเราคาดหวังว่าจะให้จังหวัดอัพเดตข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นทิศทางเดียวกัน และให้ทุกคนใช้ข้อมูลนี้เป็นศูนย์กลาง ถ้าข้อมูลเรามีครบและแม่นยำ การสื่อสารออกไปก็จะแม่นยำ

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ซึ่งภาพใหญ่ในการทำงานจะเห็น ก.พ., ก.พ.ร. และปภ.จะเข้าไปทำงานในการเขียนกระบวนการให้เป็นขั้นตอนซึ่งจะทำให้เราสามารถใช้ตรงนี้เป็นต้นแบบในการที่จะปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ต่างๆ ถ้าในส่วนของการดูแลปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมออกมาดีก็จะขยายไปยังภัยพิบัติอื่นๆ ต่อไปในอนาคต และหวังว่าผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนจะนำเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ทำงานร่วมกับ กบอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยหากจังหวัดไหนติดปัญหาอะไร ขอให้รวบรวมมาได้ที่ทางมหาดไทย ตนพร้อมจะเข้าไปสนับสนุนให้กระบวนการนี้เกิดเป็นรูปธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายแล้ว นายกรัฐมนตรีได้เรียกผู้ว่าฯ ในพื้นที่ภัยแล้งเข้ามอบนโยบาย และแก้ปัญหาปัญหาให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาในขณะนี้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 นาที
กำลังโหลดความคิดเห็น