xs
xsm
sm
md
lg

อัมพวา สินค้าเพื่อการท่องเที่ยว ใครมีเงิน ก็ซื้อได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บนเส้นทางของการท่องเที่ยวที่วัดผลกันด้วยจำนวนนักท่องเที่ยว ปริมาณเงินที่ไหลสะพัด ยอดขายสินค้าและบริการ ยอดจองโรงแรม โครงการขนาดใหญ่แบบ โครงการชูชัยบุรี ศรีอัมพวา เป็น สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะบนวิถีทางที่ใช้เงิน เป็นตัวตั้ง ใครมีเงินมาก ก็มีสิทธิเป็นผู้ครอบครอง และเป็นผู้กำหนด

เพียงแต่ว่า โครงการนี้ เป็นที่กล่าวขวัญถึงในทางลบค่อนข้างมาก เพราะบุคลิก และรสนิยมของเจ้าของโครงการ นายชูชัย ชัยสิทธิเลิศ เศรษฐีที่ร่ำรวยมาจากการค้าเพชร ที่ทำอะไรต้องแตกต่าง พิศดารให้มากที่สุด นับตั้งแต่การตั้งชื่อ โครงการ ซึ่งแสดงถึงความอหังการ์ของคนที่เชื่อว่า เงินซื้อได้ทุกอย่าง รูปแบบ ลักษณะโครงการ ซึ่งลอกแบบมาจากฝรั่ง ที่แปลกแยก ขัดแย้งกับสภาพท้องถิ่นของอัมพวาโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดที่จะนำศิวลึงค์ขนาดใหญ่ ที่เป็นความชอบส่วนตัว มาตั้งบนพื้นที่ที่เคยเป็นห้องแถวริมคลอง ให้ชาวสมุทรสงครามและนักท่องเที่ยวกราบไหว้บูชา แข่งกับหลวงพ่อวัดบ้านแหลม

โครงการชูชัยบุรี ศรีอัมพวา เป็นโครงการโรงแรมระดับ 5 ดาว ริมคลองตลาดน้ำอัมพวา บนที่ดิน 3 ไร่ ที่นายชูชัยได้กว้านซื้อไว้ และจะต้องรื้อห้องแถวเก่าแก่ จำนวน 12 ห้องซึ่งอยู่บนที่ดิน เพื่อสร้างโรงแรม โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท นอกจากนี้ นายชูชัยยังมีที่ดินอีก 13 ไร่ ในอัมพวา ที่มีข่าวว่า จะสร้างเป็นโรงแรมเช่นกัน

ที่ดินริมคลองที่เป็นตลาดน้ำอัมพวา ปัจจุบัน ซื้อขายกันไร่ละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท นายชูชัย ซื้อที่ดิน 3 ไร่นี้มาเมื่อไร ราคาเท่าไร ไม่เป็นที่เปิดเผย แต่ไม่ว่าจะซื้อมาไร่ละกี่ล้านบาท ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เพราะได้เป็นเจ้าของบรรยากาศ ทิวทัศน์ สิ่งแวดล้อมของ "อัมพวา” ไปในตัวด้วย

เมื่อแปดปีที่แล้ว ราวๆกลางปี 2547 เทศบาลตำบลอัมพวา ร่วมกับชุมชน ผลักดันโครงการ ตลาดน้ำยามเย็น อัมพวาขึ้นมาเป็นครั้งแรก เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ที่เลือนหายไป และเพื่อพัฒนาอัมพวาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยใช้ตลาดน้ำยามเย็น เป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยว

ในครั้งนั้น เทศบาลอัมพวา วางกติกาไว้ว่า ผู้ขายสินค้าในตลาดน้ำอัมพวา และร้านค้าสองฝั่งคลอง จะต้องเป็นคนอัมพวา สินค้าที่นำมาขาย ต้องเป็นสินค้าของอัมพวา ราคาสินค้า ต้องขายในราคาอัมพวา กติกาที่วางไว้นี้เพื่อทำให้ ตลาดน้ำอัมพวา เป็นของคนอัมพวาจริงๆ ทำให้เสน่ห์อัมพวาขจรขจาย ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนทุกสุดสัปดาห์ นับว่าเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นในชั่วเวลาสั้นๆ

ความสำเร็จนี้ ดึงดูดให้ “ มืออาชีพ” ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจากภายนอก ที่เสาะแสวงหา แหล่งท่องเที่ยวแบบย้อนอดีต ที่รองรับคนเมือง เข้ามาเปิดร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก เสื้อผ้า สินค้า และบริการให้กับคนที่มาเที่ยวอัมพวา โดยขอซื้อ ขอเช่า ห้องแถวของคนอัมพวา ในราคาที่สูงกว่า รายได้จากการเปิดร้านขายของเองต่อไป กติกา ตลาดน้ำของคนอัมพวา ขายสินค้าอัมพวา ราคาอัมพวา ถูกละเลย เทศบาลอัมพวาผู้วางกฎก็ไม่ใส่ใจที่จะดูแล บังคับใช้กติกานี้ ตลาดน้ำอัมพวาที่เป็นของคนอัมพวาตัวจริงใน 2 ปีแรก ก็ถูกขายให้กับ นักลงทุน ผู้ประกอบการจากภายนอก นับจากนั้นเป็นต้นมา

ตลาดน้ำอัมพวา ที่ถูกกำหนดให้เป็น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่ชุมชนมีส่วนร่วม จึงกลายเป็นการท่องเที่ย วที่เป็นการลงทุน ของนักลงทุนจากภายนอก เมื่อเป็นการลงทุนแล้ว สิ่งที่นักลงทุนต้องการคือผลตอบแทนจากการลงทุน และเมื่อเป็นการลงทุนแล้ว ผู้ลงทุนก็คิดว่า ตัวเองย่อมมีสิทธิที่จะทำอะไรกับทรัพย์สินที่ลงทุนซื้อมาได้ ความเหมาะสม ความพอดี เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของนักลงทุนเอง หากได้นักลงทุนที่มีวัฒนธรรม มีรสนิยมที่ดี ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นนักลงทุนที่มีแต่เงิน ปัญหาก็เป็นอย่างที่เห็นๆกันอยู่

องค์กรด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างเทศบาล ซึ่งมีอำนาจในการออกกฎระเบียบ ตีกรอบการลงทุน ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่น ก็สนใจแต่เรื่องรายได้จากภาษี และการต่อยอดความสำเร็จที่เคยเกิดขึ้นแล้วออกไปอีก จนละเลยการทำหน้าที่นี้ไป

หากไปถามผู้ประกอบการ เจ้าของร้านค้าริมคลองตลาดน้ำอัมพวาว่า คิดเห็นอย่างต่อโครงการชูชัยบุรี ศรีอัมพวา ส่วนใหญ่แล้ว ไม่คัดค้าน เพราะการเกิดขึ้นของโรงแรมระดับ 5 ดาว หมายถึง ลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง ที่จะทำให้พวกขายของได้มากขึ้น ส่วนรูปแบบโครงการจะเป็นอย่างไร จะขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมของอัมพวาหรือไม่ พวกเขาคงไม่สนใจ เพราะไม่ใช่คนอัมพวา

โครงการชูชัยบุรี ศรีอัมพวา และแท่งศิวลึงค์ที่กำลังจะโผล่ขึ้นมากลางตลาดน้ำอัมพวา ก็คือ ผลผลิตของ การท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณ คำนึงถึงแต่รายได้ที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น
อัมพวา สินค้าเพื่อการท่องเที่ยว ใครมีเงิน ก็ซื้อได้
ตลาดน้ำอัมพวา ที่ถูกกำหนดให้เป็น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่ชุมชนมีส่วนร่วม จึงกลายเป็นการท่องเที่ยวที่เป็นการลงทุน ของนักลงทุนจากภายนอก เมื่อเป็นการลงทุนแล้ว สิ่งที่นักลงทุนต้องการคือผลตอบแทนจากการลงทุน และเมื่อเป็นการลงทุนแล้ว ผู้ลงทุนก็คิดว่า ตัวเองย่อมมีสิทธิที่จะทำอะไรกับทรัพย์สินที่ลงทุนซื้อมาได้ ความเหมาะสม ความพอดี เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับวิจารณาญาณของนักลงทุนเอง หากได้นักลงทุนที่มีวัฒนธรรม มีรสนิยมที่ดี ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นนักลงทุนที่มีแต่เงิน ปัญหาก็เป็นอย่างที่เห็นๆกันอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น