xs
xsm
sm
md
lg

“ทรรศนะอุจาดอัมพวา” บทเรียนมีค่าของสังคมไทย/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
ตลาดน้ำ แม่เหล็กแห่งอัมพวาที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเยือนกันอย่างเนืองแน่น
กรณี“ชูชัยบุรีศรีอัมพวา” ที่ปรากฏเป็นข่าวโด่งดังจนกลายทอล์คออฟเดอะทาวน์ไปทั่วเมืองเมื่อไม่นานมานี้ คงต้องมองย้อนไปถึงการเติบโตและความเปลี่ยนแปลงของอัมพวา ที่มีผลสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านจากวิถีเมืองใกล้กรุงอันสงบงามมาสู่วิถีของเมืองท่องเที่ยวอันโด่งดังเลื่องชื่อ

โดยทั้งอัมพวา ปาย เชียงคาน ถือว่าเติบโตมาในโมเดลคล้ายๆกัน แตกต่างกันในรายละเอียดเท่านั้น ซึ่งผมไม่อยากให้เป็นแค่กระแสชั่ววูบแล้วเงียบหายต๋อมไปแบบไฟไหม้ฟาง เพราะในอดีตมีเรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่ว่าคนไทยลืมง่าย สุดท้ายเรื่องก็มักจะเงียบหายไป เหมือนกับว่าที่ผ่านมาไม่มีอะไรเกิดขึ้น

อัมพวาบนความเปลี่ยนแปลง

ความเปลี่ยนแปลงของชุมชนอัมพวา จ.สมุทสงคราม ได้เริ่มเดินเข้าสู่โหมดเมืองท่องเที่ยวอย่างเด่นชัดในราวๆ ปี พ.ศ. 2547 เมื่อเทศบาลตำบลอัมพวากับชาวชุมชนได้ร่วมแรงกันผลักดันโครงการตลาดน้ำยามเย็นขึ้น เพื่อเป็นการรื้อฟื้นวิถีในอดีตที่เคยโดดเด่นของอัมพวา และเมืองแม่กลอง
วิถีชาวสวนเสน่ห์อันสงบงามของอัมพวา
อัมพวาในยุคนั้นถือเป็นเสน่ห์อันชวนหลงใหลของใครและใครจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวกรุงผู้โหยหาอดีต ซึ่งอัมพวามีหลายสิ่งหลายอย่างสนองตอบจริตและรสนิยมของพวกเขาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น เรือกสวนอันร่วมรื่น ต้นไม้สายน้ำ ตลาดน้ำชุมชน(ที่ช่วงนั้นโดดเด่นไปด้วยเสน่ห์ในวิถีพื้นบ้านและวิถีการค้าขายริมน้ำแบบดั้งเดิม เรือนไม้เก่าแก่ริมน้ำอันทรงเสน่ห์ บ้านเรือนทรงไทย ร้านอาหารชาวบ้านอร่อยๆ และอีกหลายสิ่งหลายอย่างในอารมณ์ย้อนยุคสารพัดสารพัน

นอกจากนี้อัมพวายังมีหิ่งห้อยส่องแสงระยิบระยับให้ล่องเรือชมกันในยามค่ำคืน ซึ่งนี่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ และทำให้เกิดกระแสการเที่ยวชมหิ่งห้อยยามราตรีตามมา

สิ่งต่างๆเหล่านี้นับเป็นแม่เหล็กชั้นดีดึงดูดให้ชาวกรุง วัยรุ่น คนบ้ากล้อง และผู้ที่นิยมในกระแสย้อนยุค นิยมในกระแสโบราณบานบุรี เดินทางเข้ามาเที่ยวอัมพวากันอย่างต่อเนื่อง

แต่สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็ทำให้อัมพวาโด่งดังเป็นพลุแตกเพียงชั่วข้ามคืน เกิดเติบโตทางการท่องเที่ยวอย่างพุ่งพรวดรวดเร็ว
บรรยากาศยามเย็นของตลาดน้ำอันคึกคัก
อัมพวาที่เปรียบดังสาวชนบทใสซื่อเริ่มเปลี่ยนเป็นสาวที่มีจริตจะก้าน เมื่อนักท่องเที่ยวยิ่งเข้ามาเยอะ เม็ดเงินยิ่งเข้ามาเยอะ แนวคิดดั้งเดิมของเทศบาลที่วางไว้ตั้งแต่การเปิดตลาดน้ำในปี 47 ซึ่งกำหนดกติกาให้ผู้ขายสินค้าในตลาดน้ำอัมพวา และร้านค้าสองฝั่งคลอง จะต้องเป็นคนอัมพวา สินค้าที่นำมาขายต้องเป็นสินค้าของอัมพวา ราคาสินค้าต้องขายในราคาอัมพวา ได้เปลี่ยนไป กลายเป็นการเปิดช่องให้นายทุนต่างถิ่นเข้ามาลงทุน

จากนั้นเรือนแถวไม้ของชาวบ้านหลายหลัง ได้แปรสภาพเป็นบ้านเรือนร้านรวงตกแต่งสีฉูดฉาดตามรสนิยมคนกรุง อาคารบ้านเรือนหลายแห่งแปรเปลี่ยนเป็นโฮมเสตย์ โรงแรม ที่พัก พร้อมกับราคาที่พักที่ถีบตัวสูงขึ้นตามต้นทุนและปัจจัยประกอบอื่นๆ อาคารไม้หลายหลังกลายเป็นร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก ที่ส่วนใหญ่แล้วดูเหมือนๆกันทั้งประเทศ เรือแจวพาชมหิ่งห้อยเปลี่ยนเป็นเรือเครื่องเพราะมีนักท่องเที่ยวมาเป็นจำนวนมาก เรือเครื่องจุคนได้มากกว่า สะดวกรวดเร็วกว่า และทำรอบได้ดีกว่า

เมื่อนักท่องเที่ยวมาก คนมาก หิ่งห้อยกลับยิ่งลดลง แถมซ้ำร้ายยังก่อให้เกิดความรำคาญกับชาวบ้านหลายๆคนที่อยู่ในเส้นทาง ถึงขนาดตัดรำคาญด้วยการฟันต้นลำพูทิ้งมันซะเลย เพื่อจะได้ไม่มีหิ่งห้อยให้คนมาดูรบกวนการพักผ่อนของพวกเขา เกิดเป็นรอยปริร้าวในชุมชนขึ้นมา
ภาพแสดงโครงการชูชัยบุรีศรีอัมพวา
ทรรศนะอุจาด

ความเปลี่ยนแปลงของอัมพวา ไม่ได้เกิดเฉพาะทางกายภาพเท่านั้น แต่มันได้เกิดกับวิถีชุมชน และทำให้คนในเริ่มเปลี่ยนหน้ากลายเป็นคนนอก เพราะมีนายทุนจากต่างถิ่นก็ทยอยกันเข้ามา เพราะกลิ่นธุรกิจท่องเที่ยวที่อัมพวามันช่างหอมยั่วยวนนัก โดยหนึ่งในทุนต่างถิ่นที่เข้ามาในอัมพวาและเกิดเป็นข่าวโด่งดังเมื่อไม่นานมานี้ก็คือ “ชูชัย ชัยฤทธิเลิศ” นักธุรกิจเพชรชื่อดัง ที่ใช้เงินซื้อที่ริมน้ำพร้อมทำการรื้ออาคารเรือนไม้เก่า เพื่อสร้างโครงการ “ชูชัยบุรีศรีอัมพวา(รีสอร์ท แอนด์ สปา)”

“ชูชัยบุรีศรีอัมพวา” เป็นโรงแรมหรู 4 ดาว ที่จะแล้วเสร็จในอีกไม่นานนี้ ซึ่งสำหรับโครงการนี้เมื่อแรกก่อสร้างก็ตกเป็นข่าวบ้าง แต่ไม่เกิดเป็นกระแสฮอตฮิตเท่าหลังโครงการใกล้จะแล้วเสร็จ
ซึ่ง หากจะพูดกันในแง่กฎหมายแล้ว ชูชัยไม่ได้ทำผิดกฎหมาย โดยอดีตนายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา นายพัชโรดม อุนสุวรรณ ได้ออกมาเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนว่า เหตุที่เขาต้องให้อนุญาตในการอนุมัติโครงการเพราะผู้ร้องขอสร้างอาคารทำถูกต้องตามกฎระเบียบ เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้

แต่เรื่องนี้ที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมา เพราะหนึ่ง โครงการนี้ได้รื้ออาคารเรือนไม้เก่าส่วนหนึ่งที่ถือเป็นอัตลักษณ์ของอัมพวาทิ้งไป ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือการสร้างอาคารที่มีรูปทรงหน้าตาประดักประเดิดดูผิดที่ผิดทาง ไม่กลมกลืนกับกลุ่มอาคารท้องถิ่นและไม่เข้ากับสภาพแวดล้อมขอชุมชนอัมพวา

สำหรับในประเด็นอาคารที่สร้างไม่กลมกลืนกับสภาพพื้นที่ สภาพแวดล้อม หลุดโดดดูผิดที่ผิดทาง ผิดกาลเทศะ ผิดถิ่นผิดฐานนั้น เพื่อนผมที่เป็นสถาปนิกมันบอกว่าในทางวิชาการเขาเรียกว่า “ทรรศนะอุจาด”
บ้านเรือนหลายหลังแปรสภาพเป็นร้านขายของสำหรับนักท่องเที่ยว
ทรรศนะอุจาด ศัพท์คำนี้ ท่านอาจารย์ แสงอรุณ รัตกสิกร ได้เขียนไว้ในบทความ “ทรรศนะอุจาด” ในหนังสือ “ตึก ต้นไม้ และแสงอรุณ โลกทัศน์ของสถาปนิก” ว่า

...มลภาวะทางสายตา ซึ่งตรงกับคำศัพท์อังกฤษว่า Visual Pollution เป็นคำที่บัญญัติขึ้นใหม่เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมในความงามของบ้านเมืองและสภาพธรรมชาติแวดล้อม คำนี้อาจจะยาวยืดยาด จึงขอใช้ศัพท์ของตัวเองว่า ทรรศนะอุจาด... (ตัวสะกดอ้างอิงจากหนังสือเล่มเดียวกันนี้)

ในบทความนี้ อ.แสงอรุณ ยังได้พูดถึงเรื่องทรรศนะอุจาดที่เกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่อย่างถึงกึ๋น (ใครสนใจคงต้องไปเสาะหาหนังสือเล่มนี้ตามห้องสมุดใหญ่ๆมาอ่านเอาเอง)

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่เดือน มกราคม ปี พ.ศ. 2530 มาวันนี้เรื่องราวทรรศนะอุจาดในบ้านเราที่ อ.แสงอรุณ ทักท้วงมากว่า 25 ปี หาได้ดีขึ้นไม่ หากมีแต่จะดูแย่ลงไปเรื่อยๆ

เคารพท้องถิ่น

เรื่องทรรศนะอุจาดของโครงการชูชัยบุรีฯที่เกิดขึ้นในอัมพวานั้น ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ในเรื่องการเคารพในท้องถิ่นตามมา โดย อ.สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์ แสดงทัศนะ(บางตอน)ไว้ในบทความ "อัตลักษณ์ท้องถิ่น ภูมิปัญญาที่นักออกแบบไม่ควรมองข้าม" ที่ลงใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 ก.ย. 55 ว่า

...นักสร้างสรรค์มักจะหลงลืม การศึกษาถึงรูปแบบอัตลักษณ์ที่นักออกแบบกำลังทำงานอยู่ ถามว่า “ทำไมต้องสนใจในอัตลักษณ์” คำตอบง่ายๆก็คือ อัตลักษณ์คือสิ่งที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม และรากเหง้าของสิ่งที่ตนเองทำงานอยู่...ถ้าเราออกแบบงานสถาปัตยกรรม สิ่งสำคัญก็คือ เราจะต้องศึกษาถึงภูมิประเทศ รูปแบบอาคาร รูปแบบวิถีชีวิตของชุมชน ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ก่อสร้างอาคารด้วย เพื่อเป็นข้อมูลในการออกแบบพัฒนารูปแบบของอาคารให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของชุมชนนั้นๆ...

ด้าน สุรจิต ชิรเวทย์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ให้ความเห็นไว้ในบทความ “พัฒนาเมืองอัมพวา ส.ว.ให้เคารพท้องถิ่น” (นสพ.ไทยรัฐ-10 ก.ย. 55) ว่า...

...การพัฒนาแม่กลอง อยากให้คนแม่กลองมีส่วนร่วม มีส่วนดูแลบ้านเมืองของตัวเอง เราไม่ได้ต้องการตัดสินถูกผิดอะไร แต่อยากให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเป็นธุระของเราทุกคน เราต้องช่วยกันดูแลบ้านเมือง

สำหรับคนที่เข้ามาลงทุนในแม่กลอง ผมอยากให้ศึกษาความเป็นพื้นถิ่นให้ดี ให้เคารพต่อภูมิปัญญาของคนแม่กลอง ว่ามีตัวตนที่แท้จริงอย่างไร เพื่อจะได้อยู่ให้สอดคล้องกัน เมืองเราเป็นเมืองสันโดษ สมถะ เรารักษาตัวตนมาได้ช้านาน เมื่อเข้ามาทำอะไรก็อยากให้มีความเคารพยำเกรง...
ชูชัย ชัยฤทธิเลิศ
ขณะที่ ธีรภาพ โลหิตกุล ช่างภาพและนักเขียนสารคดี หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในปรากฏการณ์อัมพวา ได้ให้ทัศนะต่อเรื่องนี้ไว้ในเฟซบุ๊คของเขาสรุปความว่า คุณค่าแห่งอัตลักษณ์หรือสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นต้องได้รับการคุ้มครอง,การพัฒนาสู่ความทันสมัยต้องไม่ทิ้งรากเหง้าที่งดงามแต่เก่าก่อน,กฎหมายผังเมืองต้องคุ้มครองพื้นที่อนุรักษ์ทางวัฒนธรรมอย่างจริงจัง และเมื่อรวยแล้วต้องมีสำนึกทางวัฒนธรรมด้วย

นอกจากนี้ธีรภาพยังให้เขียนไว้ในคอลัมน์ท่องไปกับใจตน ตอน “เหตุเกิดอัมพวา ถวิลหาอินเล”(นสพ.คมชัดลึก- 9 ก.ย. 55) ว่า

...ไม่มีใคร "แช่แข็ง" อัมพวาไว้ได้ อัมพวาต้องเปลี่ยนไป แต่จะเปลี่ยนอย่างไรโดยไม่ไร้ราก การรณรงค์ไม่ให้รื้อเรือนแถวไม้ชายน้ำ 12 หลัง ที่อยู่ใกล้โรงแรมหรูห้าดาว มิได้หมายถึงการปล่อยให้มันอยู่อย่างโทรมๆ เหมือนแต่ก่อน หากแต่เป็นสัญลักษณ์ว่า เราไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาอัมพวาไปในทิศทางนั้น อันเป็นทิศทางแห่งการทำลายอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นอัมพวาอย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆ ที่แบบอย่างการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนวัฒนธรรมเก่าแก่ มีให้ศึกษาเรียนรู้มากมาย ใกล้ที่สุด คือ แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาอัมพวาของ "โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์" ที่ได้รางวัลชมเชยด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จากองค์การยูเนสโก ปี 2551 อีกทั้งแผนแม่บทตามแนวทางการควบคุมภูมิทัศน์สำหรับคลองอัมพวา ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ทำไว้แล้วตั้งแต่ปี 2546 ก็มี อยู่ที่ว่า...ผู้ที่รักอัมพวาจนน้ำตาไหลจะสนใจไปศึกษาเรียนรู้หรือเปล่าเท่านั้น!

นี่คือทัศนะที่บอกกล่าวให้นักลงทุนทั้งหลายเคารพในท้องถิ่น ซึ่งสำหรับโครงการชูชัยบุรีฯนั้น หากนายชูชัยมีสำนึกรักในชุมชนอัมพวาจริงอย่างที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในสื่อต่างๆจริง เขาสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ด้วยการปรับแบบปรับหน้าตาภายนอกของอาคารให้ออกมาสอดคล้องสอดรับกับสภาพพื้นที่เท่าที่จะทำได้(แม้จะสามารถปรับหน้าตาได้ไม่มากก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย)

ขณะที่โครงการลานศิวลึงค์นั้นก็คงต้องทบทวนกันใหม่ หากจะสร้างต่อก็คงต้องทำสำรวจความคิดเห็นจากชุมชน และเมื่อได้สร้างจริงก็ต้องทำออกมาให้ไม่แปลกแยกจากชุมชน และมีความสอดคล้องกลมกลืนกับสภาพพื้นที่มากที่สุด

เพราะนั่นจะเป็นบทพิสูจน์ว่านายชูชัยรัก มีเจตนาที่ดี และมีความจริงใจต่ออัมพวาจริง ไม่ใช่รักอัมพวาแค่เฉพาะการออกต่อหน้าสื่อเท่านั้น

บทเรียน

ในกรณีปรากฏการณ์อัมพวานั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย หากแต่เป็นเรื่องเดิมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหลายๆเมืองที่พลิกวิถีเปลี่ยนจากเมืองอันสงบงามมาเป็นเมืองท่องเที่ยว

อันส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายสิ่งหลายอย่างตามมา ซึ่งธีรภาพได้แสดงทัศนะในกรณีปรากฏการณ์อัมพวา ว่า

...เรื่องดำเนินมาไกลจนยากจะกลับไปที่จุดเริ่มต้น...หนทางที่เหลืออยู่คือแปรคราบน้ำตาให้เป็น “บทเรียน” ไว้เป็นภูมิคุ้มกัน ไม่ให้เกิด อัมพวา 2-3-4-5 ต่อๆไป...

กำลังโหลดความคิดเห็น