xs
xsm
sm
md
lg

อัมพวาสะอื้น! รื้อบ้านไม้ร้อยปี ผุด ร.ร. 5 ดาวริมตลาดน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“ชาตะ : ปลายรัชกาลที่ ๕ มรณะ : สิงหาคม ๒๕๕๕” ข้อความติดไว้ตรงเสาหน้าบ้านไม้อายุร่วม 100 ปีที่ถูกรื้อถอนออกไปแล้ว พร้อมกับลบภาพบ้านไม้ริมคลองอัมพวาในอดีต เหลือให้แค่...รำลึกถึง

เมื่อมีการสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาวสไตล์ยุโรป ใหญ่โตโอ่อ่าริมคลองอัมพวา กลายเป็นภาพขัดตาที่ดูไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและชุมชน จากการลงทุนกว่า 500 ล้าน ในโครงการชูชัยบุรีศรีอัมพวา ของชูชัย ชัยฤทธิเลิศ เพื่อเป็นที่พักนักท่องเที่ยว ทำให้ต้องรื้อถอนบ้านไม้ริมคลอง สถานที่ซึ่งเป็นมรดกของเอเชียที่องค์การยูเนสโกตั้งให้

อาลัยบ้านไม้อัมพวา อายุ 100 ปี
เมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมา ชาวบ้านแห่วางดอกกุหลาบไว้อาลัยบ้านริมคลองและห้องแถวไม้ ที่ตั้งอยู่เยื้องวัดพระยาญาติ (วัดปากง่าม) ริมคลองอัมพวา จ.สมุทรสงคราม รวม 12 ห้อง อายุเก่าแก่กว่า 100 ปี ซึ่งชาวบ้านอัมพวาใช้อยู่อาศัยและทำมาหากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ตอนนี้ต้องรื้อถอนเพื่อใช้พื้นที่สร้างโรงแรมชูชัยบุรีศรีอัมพวา

จากการลงพื้นที่จริงทำให้ได้เห็นสภาพและความเป็นอยู่ของคนอัมพวาในขณะที่กำลังมีการก่อสร้างโรงแรมหรูดังกล่าว บนพื้นที่กว่า 3 ไร่ ซึ่งดำเนินการไปแล้วกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันห้องแถวไม้ริมคลองได้มีการรื้อถอนไปแล้วห้องหนึ่ง และยังมีดอกกุกลาบที่ชาวบ้านอัมพวาเอามาไว้อาลัยได้ปักอยู่ในกระถางหน้าบ้าน ซึ่งภายในบ้านไม่มีใครอาศัยอยู่แล้ว หลังจากมีกระแสข่าวครึกโครม เจ้าของที่ดินจึงเลื่อนกำหนดการรื้อถอนบ้านไม้ที่เหลือออกไป โดยอ้างว่าวันหยุดเสาร์-อาทิตย์มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ช่างทำงานไม่สะดวก และคาดว่าวันจันทร์ที่ 3 กันยายนนี้จะมีการรื้อถอน

นักท่องเที่ยวที่เคยมาเยือนตลาดน้ำอัมพวา จึงรู้สึกเสียใจและเสียดายที่ต้องสูญเสียบ้านไม้ที่อยู่คู่กับตลาดน้ำมาหลายร้อยปี หลายคนยังคงจดจำบรรยากาศแบบวิถีชาวบ้านได้เป็นอย่างดี บางคนถึงกับหลงใหลในเสน่ห์ของเรือนไม้หลังเก่าๆ ที่อยู่คู่กับคลองสายนี้ มีพ่อค้าแม่ค้าพายเรือมาขายของ ทำให้นักท่องเที่ยวคนเมืองได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ สิ่งเหล่านั้นเป็นภาพที่ทุกคนยังติดตาตรึงใจ

สมคิด แซ่แต้ ชาวอัมพวาวัย 73 ปี ได้อาศัยอยู่ตลาดน้ำแห่งนี้ตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่าตายาย เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนมีเรือหางยาวไม่กี่ลำวิ่งผ่าน เรือเมล์วันละ 2-3 ลำ ตั้งแต่สมัยยังไม่ได้ทำถนนหนทาง นั่งเรือไปแม่กลอง ไปกรุงเทพฯ ชาวบ้านก็จะขายของอยู่ริมน้ำ อย่างบ้านไม้ 12 ห้องที่กำลังจะรื้อ บางหลังก็ขายก๋วยเตี๋ยว บ้างก็ขายลอตเตอรี่ ขายกาแฟ ส่วนใหญ่อายุ 50 กันแล้ว เขาอยู่กันมาตั้งแต่เกิด

“ทำไมเป็นแบบนี้ล่ะ อยากร้องไห้” นักท่องเที่ยวที่นั่งเรือหางยาวตะโกนบอกคนบนฝั่งที่กำลังยืนอยู่หน้าห้องแถวไม้ที่เพิ่งถูกรื้อถอนไป เช่นเดียวกับสาวชื่อดาว กล่าวด้วยดวงตาแดงๆ ว่ารู้สึกเสียใจที่ต้องรื้อบ้านไม้ เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่ในความทรงจำทุกครั้งที่มาอัมพวา ในวันไว้อาลัยบ้านไม้ หากไม่ติดงานคงมาร่วมด้วย

เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นร้อน และเกิดการโต้เถียงกันระหว่างชาวบ้านและนายทุน นอกจากแบบอาคารสร้างโรงแรมหรูสไตล์ยุโรปจะดูขัดหูขัดตาคนอัมพวาแล้ว ชาวบ้านบางคนยังบอกว่าไม่เคยได้ร่วมทำประชาพิจารณ์อย่างที่เจ้าของโรงแรมกล่าวอ้างแม้แต่น้อย

จากการสอบถามชาวบ้านที่อาศัยอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงแรมชูชัยบุรีศรีอัมพวา บอกว่าเขาทำประชาพิจารณ์กันที่วัดปากง่ามตรงนี้ แล้วก็มีหลายคนที่อาศัยอยู่ตรงนี้เขาไม่รู้เรื่อง แต่ 130 กว่าคนที่ลงชื่อ เขาว่ามาจากตลาดบ้าง เป็นคนที่อื่นบ้าง ชาวบ้านเขาขาดความรู้ ส่วนใหญ่ก็มีแต่คนอายุ 50 กว่าๆ

“มีป้าสมคิดนั่นแหละที่มา เขาบอกว่าจะเอาวัดเป็นที่จอดรถ แต่แกไม่ยอม พอคุณชูชัยบอกจะทำสะพานให้ใหม่ จะทำนู่นนี่ให้ ไม่ต้องกลัว ไม่เอาวัดเป็นที่จอดรถแน่ ป้าแกก็เลยเซ็น”

ชาวบ้านหลายคนยังรู้สึกคลุมเครือกับการทำประชาพิจารณ์จากเทศบาลที่ไม่รู้ว่าได้มาอย่างไร และไม่รู้ว่าผู้มีอำนาจทำไมอนุมัติให้สร้างตามแบบ ทั้งที่รู้ว่าที่นี่เป็นสถานที่ได้รับการยกให้เป็นมรดกเอเชียยูเนสโก ทุกขั้นตอนจึงเป็นการกระทำอย่างมีเงื่อนงำ

ชูชัย ชัยฤทธิเลิศ กล่าวว่า ชาวบ้านที่ทำประชาพิจารณ์ เขาก็ยอมรับ เขาก็แฮปปี้ อยู่ฝ่ายเรานะ แต่พอเวลานักข่าวมาสัมภาษณ์ มันเป็นธรรมดาของคนที่เคยอยู่ที่นี่ มันก็เป็นอารมณ์ว่าต้องย้ายออกไปแล้วนะ ต้องหาที่ทำกินใหม่ แต่เราแจ้งไปก่อนหน้านี้ 3-4 เดือน แล้วเจ้าของที่เขาจะไม่บอกเลยเหรอ แต่เวลาชาวบ้านพูด เขาบอกแค่เดือนเดียว นี่เป็นเวลาที่เขาจะย้าย แต่เขารู้ก่อนหน้าแล้ว แต่เขาไม่คิดที่จะย้ายต่างหาก นี่พี่พูดต่อฟ้าเลย พี่ไม่โกหก ไม่ชอบเบียดเบียนคน ทำร้ายจิตใจคนพี่ไม่เอา

“นอกจากโรงแรม ก็จะมีการสร้างลานศรัทธาเทวสถาน จะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ให้กับคนชุมชนอัมพวา อะไรที่มันล้าหลังมากไปก็ไม่ค่อยดี อะไรที่ศิวิไลซ์มากพี่ก็ไม่ได้ส่งเสริม แต่ไม่เข้าใจว่าอะไรที่ชูชัยทำ ทำไมถึงเป็นประเด็นขึ้นมาทุกอย่าง

ด้านกฎหมายพี่ไม่ผิดอะไรเลย แล้วพี่สร้างอยู่ในที่ของพี่ และสร้างเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมทั้งสิ้นแล้วมันจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะโกยเงินตราจากต่างชาติ เพราะรายได้ของประเทศเรา คือการท่องเที่ยว และเงินทุกบาททุกสตางค์พี่จะมอบให้วัด มอบให้แก่การกุศล และคอยดูแล้วกันว่าชูชัยทำจริงไหม”

รุกคืบที่ดิน ย่ำความทรงจำ ทำลายธรรมชาติ
การกว้านซื้อที่ดินเพื่อทำโรงแรมและลานศรัทธาเทวสถาน ดำเนินการมาเกือบ 2 ปีแล้ว ชาวบ้านบริเวณนั้นเดือนร้อนกับเสียงก่อสร้างที่ดังครึกโครม ตั้งแต่เริ่มสร้าง จนถึงตอนนี้ แม้แต่หิ่งห้อย สัญลักษณ์ของอัมพวาที่เคยมีอยู่จำนวนมากก็เริ่มร่อยเหรอหดหายไป การรุกล้ำอาจไม่หยุดแค่เท่านี้ เพราะเท่าที่ข่าววงในพูดถึง “ชูชัย” เจ้าของโรงแรม 5 ดาว กำลังจะมีโครงการต่อยอดธุรกิจอีกมากมาย

ข้อมูลจากแหล่งข่าวซึ่งเป็นคนในพื้นที่ตลาดน้ำอัมพวา ให้ความเห็นว่าถ้าเขาทำตรงนี้สำเร็จ เขาจะรุกคืบไปเรื่อยๆ และที่รู้มาว่าเขามีแนวโน้มที่ทำพิพิธภัณฑ์ มีโครงการต่างๆ อีกมาก ถามว่าพี่เดือดร้อนไหม ต่อให้ชูชัยข้ามฝั่งไปซื้อฝั่งนู่น พี่ก็ไม่ได้เดือดร้อน พี่มีที่อยู่ของพี่แล้ว แต่ทุกวันนี้พี่อยู่ที่นี่ เพราะเตี่ย แม่ วงศาคณาญาติอยู่ พี่เลยอยู่มาเรื่อยๆ แต่ตอนนี้คิดว่ามันมากเกินไปแล้ว

“และตอนนี้ฝั่งตรงข้ามโรงแรมได้มีการติดต่อทำเป็นแพขนานยนต์ และเหมือนมีปัญหาไม่ตกลง เพราะมันเหมือนใจร้ายกับต้นไม้ไปไหม ตรงนั้นมีต้นลำพูให้หิ่งห้อยอยู่ และพี่เห็นคนร้องไห้กัน ก็เข้าใจนะ และเข้าใจเจ้าของที่ดินด้วยว่าเดิมทีที่ตรงนี้มันไม่มีราคา เก็บค่าเช่าเดือนละ 400-500 บาท แล้วอยู่ๆ มีคนกำเงิน 20-30 ล้านมากองให้เขา เขาเป็นเจ้าของที่ เขาก็เอา คุณชูชัย เราเข้าใจว่าเขาเป็นนายทุนก็ต้องทำธุรกิจของเขา แต่ที่ไม่เข้าใจบางสิ่งบางอย่างที่คุณชูชัยทำมันเกินไปแล้ว

“ในอินเทอร์เน็ตมีประโยคหนึ่งเขียนว่า “ชาวบ้านจะมาเรียกร้องอะไรกันตอนนี้ ตอนที่เขาจะเริ่มทำ ทำไมไม่มารณรงค์ ปกป้องสิทธิ์ของเรา มันเหมือนโดนตบหน้าฉาดใหญ่!” ทำให้เราต้องออกมาเรียกร้องตรงนี้”

จากในคลองมีปลา บนฟ้ามีหิ่งห้อย แต่ตอนนี้เหลือน้อยลงไปทุกที และเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก อาจเกินสมดุลที่ธรรมชาติจะรับได้ แหล่งข่าวเล่าต่ออีกว่าแต่ก่อนด้านหลังมันมีป่า มีกระรอก นกกวัก หิ่งห้อย มีสัตว์จำนวนมาก เราเคยใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ สงสารคนแถวนี้ สงสารนก สงสารปลา ในน้ำเคยมีทั้งปลาทั้งกุ้งสารพัด

“ถึงตอนนี้ผลกระทบทางความเป็นอยู่ของเราจะไม่มี แต่กำลังมองถึงความหดหายไปของธรรมชาติ ถ้าโรงแรมขึ้นมา แสงสว่างกระจ่างจ้า มันน่าเสียดายความเป็นตัวตนของธรรมชาติ เมื่อได้ฝั่งนี้แล้วก็ขอเก็บฝั่งนู้นไว้เถอะ ให้ธรรมชาติ ให้นก หิ่งห้อย กุ้ง ปลาตาเหลือกอยู่เถอะ”

น้ำตาคนรักอัมพวา
“ร้องไห้กันจนไม่มีน้ำตาจะไหล” ป้าสมคิด เล่าถึงเพื่อนบ้านที่ต้องโดนไล่ที่แล้วต้องออกไปหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งไม่รู้เลยว่าตอนนี้พวกเขาจะเป็นอย่างไรบ้าง

ป้าสมคิด เป็นหนึ่งในผู้ลงประชาพิจารณ์ เล่าให้ฟังว่าตอนแรกเราไม่รู้ว่าโรงแรมที่เขาจะสร้างมันจะใหญ่โตขนาดนี้ เห็นเขาสร้างบนเนื้อที่ของเขา เราก็ไม่ว่าอะไร แต่ตอนนี้ไม่เห็นด้วยแล้ว เพราะเขามารื้อห้องแถวเพื่อนบ้านเรา เขาก็ร้องไห้กันจะตาย ร้องไห้จนไม่มีน้ำตาจะไหล เพราะเขาอยู่กันมาตั้งแต่เกิด พ่อแม่เขาเช่าอยู่ที่นี่กัน จนตอนนี้อายุ 50 กว่าแล้ว เขาเสียใจ เราก็ใจหาย เพื่อนบ้านเรา รู้จักกันทั้งนั้น

ขณะที่ทีมข่าวกำลังสัมภาษณ์ป้าสมคิดอยู่ มีชายวัยกลางคน ใส่เสื้อลายสก็อตสีแดง-น้ำเงิน เดินแทรกเข้ามาแล้วพูดว่า “ป้าไม่รู้เรื่องอะไร มาพูดอย่างนี้ไม่ได้” นี่เป็นความเห็นที่ต่างคนต่างมองคนละมุม เช่นเดียวกับชายคนหนึ่งที่ออกมาโวยวาย และบ่นพรึมพรำ ขณะที่ชูชัยกำลังให้สัมภาษณ์สื่อ เขาตะโกนออกมาว่า “ห่วย” พร้อมอาการหน้าบึ้งตึง ก่อนที่จะเดินจากไป ทำให้ชาวบ้านและผู้สื่อข่าวที่อยู่ตรงนั้นทำหน้างุนงงตามๆ กัน

จากการให้สัมภาษณ์ของเพื่อนบ้าน ทำให้รู้ว่าผู้เช่าห้องหลังหนึ่งใน 12 ห้อง ชื่อหมวย อายุ 59 ปี มีน้องสะใภ้ขายก๋วยเตี๋ยวอยู่บ้านไม้ริมคลองที่กำลังถูกรื้อถอน และต้องย้ายครอบครัวออกมาซื้อบ้านหลังใหม่ หลังจากไม่เคยเป็นหนี้ อยู่แบบพอมีพอกิน แม้ขายของได้เดือนละไม่กี่พันบาท แต่ก็มีเงินเก็บ มาตอนนี้กลับเป็นหนี้ที่ซื้อบ้านใหม่อีก 2 ล้านกว่าบาท

“ต่อไปจะไม่ได้กินแล้วนะ โดนไล่ที่แล้ว” เสียงจากแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวที่บอกลูกค้าขาประจำ ได้ถูกเล่าสู่กันฟังอย่างสะเทือนใจ

ส่วนพี่แวว หญิงสาววัยกลางคน ได้ย้ายออกเป็นคนแรก เพราะแน่ใจว่าเจ้าของที่ดินจะต้องขาย จึงไปซื้อบ้านใหม่ และต้องเป็นหนี้อีกล้านเศษไม่ต่างกัน

คนที่ต้องย้ายบ้านออกไป ก็ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ สู้ชีวิตอีกครั้งในวัย 50 เศษๆ ไม่พอต้องเป็นหนี้สินเพื่อใช้ตั้งหลักชีวิต เพราะไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ ส่วนคนที่ยังอยู่อาศัยบริเวณนั้น ไม่ว่าจะด้านข้างโรงแรม หรือฝั่งตรงข้าม จำต้องทนกับเสียงดังจากการก่อสร้าง ไม่เป็นตาหลับตานอนดึกดื่นค่อนคืนถึงตี 2 แม้ว่าเจ้าของโรงแรมจะบอกว่า “การก่อสร้างใหม่ มันก็ต้องมีเสียง มีเคาะ มีตอก แล้วมันจะเป็นโรงแรมระดับพรีเมียมได้ยังไง” แต่เชื่อเถอะว่าชาวบ้านเขาคงไม่คิดมาก่อนว่ายามวิกาลจะมีเสียงตอกเสาเข็มดังสะเทือนไปทั้งบ้าน

ปัญหาของชาวบ้านอัมพวานอกจากจะเป็นการรุกล้ำวิถีชีวิตของชุมชนและพื้นที่ธรรมชาติแล้ว สิ่งที่ดำเนินต่อไป คงไม่หยุดแค่การย้ายที่อยู่ หรือหาที่ทำกินใหม่เพียงเท่านี้ เพราะผลกระทบที่ตามมาอาจมากเกินกว่าที่ทุกคนคาดคิด (โปรดติดตามต่อตอน 2)
 
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE


สภาพบ้านไม้ริมคลองที่ถูกรื้อถอน


ชาวบ้านวางดอกกุหลาบไว้อาลัยบ้านไม้อายุ 100 ปี
โรงแรมชูชัยบุรีศรีอัมพวา ขณะกำลังก่อสร้างเสร็จกว่า 70%
ชูชัย อธิบายแผนการก่อสร้างโรงแรม และลานศรัทธาเทวสถาน

อัมพวา สินค้าเพื่อการท่องเที่ยว ใครมีเงิน ก็ซื้อได้
ตลาดน้ำอัมพวา ที่ถูกกำหนดให้เป็น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่ชุมชนมีส่วนร่วม จึงกลายเป็นการท่องเที่ยวที่เป็นการลงทุน ของนักลงทุนจากภายนอก เมื่อเป็นการลงทุนแล้ว สิ่งที่นักลงทุนต้องการคือผลตอบแทนจากการลงทุน และเมื่อเป็นการลงทุนแล้ว ผู้ลงทุนก็คิดว่า ตัวเองย่อมมีสิทธิที่จะทำอะไรกับทรัพย์สินที่ลงทุนซื้อมาได้ ความเหมาะสม ความพอดี เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับวิจารณาญาณของนักลงทุนเอง หากได้นักลงทุนที่มีวัฒนธรรม มีรสนิยมที่ดี ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นนักลงทุนที่มีแต่เงิน ปัญหาก็เป็นอย่างที่เห็นๆกันอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น