xs
xsm
sm
md
lg

จะล้างอายหรือยอมเป็นเบ๊? ทางที่ผู้นำกองทัพต้องเลือก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์
สะเก็ดไฟ

“ผมบอกแล้วว่า ผมอายที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น พี่ๆ ที่เกษียณก็เห็นว่า ไม่น่าเกิดขึ้น แต่เมื่อผมทำ ผมก็รับผิดชอบ และก่อนจะเซ็นขึ้นไป ผมมั่นใจในการทำ ต่อจากนี้ไม่น่ามีอะไรแล้ว”

เป็นคำกล่าวของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ที่ชี้แจงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 28 ส.ค.55 เกี่ยวกับกรณีมีคำสั่งย้าย พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.พิณภาษณ์ สริวัฒน์ เจ้ากรมเสมียนตรา ไปช่วยราชการสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม

โดยยอมรับอย่างหน้าชื่นไม่รู้สึกอับอายว่า “มีการประชุมไปเพียงครั้งเดียวที่ห้องทำงาน และยังไม่เห็นบัญชีโยกย้าย จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่เห็น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รู้กันเฉพาะคนที่เป็นบอร์ดคณะกรรมการในการปรับย้าย ไม่ควรจะหลุดไปข้างนอก หรือบอกให้ใครรู้ หรือไปร้องเรียนอะไร นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่ต้องรู้อยู่แล้ว”

เป็นการให้ข้อมูลที่ตอกย้ำว่า พล.อ.เสถียร พูดจริง ที่ว่ามีการเรียกประชุมลับเพื่อจัดทำโผโยกย้าย และแฉต่อว่า มีใบสั่งให้เสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม แต่ พล.อ.เสถียร เห็นว่า ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติที่จะเสนอชื่อนายทหารที่ครองอัตราจอมพล ซึ่ง รมว.กลาโหม ก็แบะท่าอีกว่า ตามระเบียบไม่จำเป็นต้องครองอัตราจอมพลก็เป็นปลัดกระทรวงกลาโหมได้ แม้ว่าจะยังเหนียมไม่เปิดชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ ออกมาก็ตาม

แต่ธงชัดว่าการเมืองมีใบสั่งให้คณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล เลือก พล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม คำถามคือตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม คือตำแหน่งในโควต้าของฝ่ายการเมืองไปตั้งแต่เมื่อไหร่

เป็นเรื่องที่นายทหารที่ปากอ้างว่ารักกองทัพต้องขบคิดว่า พวกท่านกำลังเปิดช่องให้การเมืองเข้าแทรกแซงกองทัพซึ่งเป็นเสาหลักในการค้ำจุนบัลลังก์หรือไม่

ปัญหาระหว่าง พล.อ.อ.สุกำพล และ พล.อ.เสถียร มีประเด็นในเชิงหลักการสำคัญเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และสังคมไทยต้องไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปง่าย ๆ เพราะถ้าให้เรื่องนี้จบแบบไม่มีอะไรในกอไผ่ คนถูกย้ายก็รับชะตากรรมไป โดยไม่มีการแยกแยะ ผิด ถูก ชั่ว ดี ให้สังคมเห็นภาพชัดเจน

ย่อมหมายถึงว่า สังคมไทยยอมรับพฤติการณ์ลุแก่อำนาจ ส่งสัญญาณให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองใช้อำนาจบาตรใหญ่ได้ตามอำเภอใจ ขณะที่ข้าราชการจะหดหัวอยู่ในกะดองปูแดงไม่กล้าเผยอหน้าออกมาทัดทานความไม่ถูกต้องเพื่อรักษาประโยชน์ชาติอีกต่อไป

ประเด็นที่ต้องพิจารณาจากบทบาทของ พล.อ.เสถียร คือ 1 มีการยัดรายชื่อปลัดกลาโหมจากฝ่ายการเมือง คือ พล.อ.อ.สุกำพล 2 ขู่ซ้ำว่าถ้าไม่เห็นด้วยเสนอชื่ออื่นมาก็จะเปลี่ยนรายชื่อเป็น พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน และไม่ให้มีส่วนร่วมในการจัดทำรายชื่อโยกย้ายอีก

ออกโรงแฉได้แค่สามวัน คำสั่งเด้งฟ้าผ่ามาทันที และเป็นไปดังคำขู่เสียด้วย คือ พล.อ.เสถียร ถูกเขี่ยพ้นทางจากการแต่งตั้งโยกย้าย โดย พล.อ.อ.สุกำพล พูดชัดว่า จะให้ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ รองปลัด รักษาการปลัดกระทรวงกลาโหมดำเนินการแทน

พฤติกรรมเช่นนี้เป็นการแสดงว่าการเมืองมีอำนาจเหนือกองทัพ ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ ผบ.เหล่าทัพด้วยว่าพวกท่านจะเปิดประตูให้การเมืองผงาดเหนือกองทัพหรือไม่ หรือพวกท่านจะรับวัฒนธรรมการเมืองว่าถ้าสมประโยชน์แล้วไม่ค้าน ไม่ว่าเรื่องนั้นจะกระทบต่อหลักการหรือไม่

เพราะต้องยอมรับความจริงว่า หากมีการดันก้น พล.อ.ทนงศักดิ์ ให้ออกจากไลน์ 5 เสือ ทบ. พ้นตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ทบ.ไปเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมได้ ก็มีรูระบายเพิ่มสำหรับการเกลี่ยตำแหน่งในกองทัพบก แต่การเป็น ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีหน้าที่ในการรักษาหลักของกองทัพไม่ให้ถูกบิดเบือนหรือทำให้อ่อนแอด้วยเช่นเดียวกัน

ไม่ใช่คำนึงถึงแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องและผลกระทบที่จะเกิดกับบุคคลอื่นซึ่งกำลังจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการที่การเมืองลงไปล้วงลูกเช่นนี้

รัฐบาลขิงแก่อุตส่าห์สร้างกำแพงเป็นปราการป้องกันกองทัพ ไม่ให้การเมืองโยกย้ายได้ตามใจชอบ ด้วยการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 กำหนดให้มีคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับชั้นนายพลไว้ 7 คน คือ รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม ผบ.สส. ผบ.เหล่าทัพ และปลัดกระทรวงกลาโหม โดยเป็นการกำหนดสัดส่วนให้บุคลากรในกองทัพมีมากกว่าฝ่ายการเมือง

ดังนั้นหากปล่อยให้มีการดันเด็กการเมืองเข้าสู่ระบบนี้ กฎหมายก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะคนใช้กลายเป็นเบ๊รับใช้การเมืองไปเสียแล้ว

ช่วยกันหยุดเรื่อง “น่าอาย” ของกระทรวงกลาโหม ด้วยการปกป้องความถูกต้อง นี่คือหน้าที่ของ ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพทุกคน รวมถึง พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น