รองนายกฯ จวกก๊วนสิทธิมนุษยชนค้านเลื่อนประหารนักโทษจากภายใน 60 วัน เหลือ 15 วัน ไล่ไปดูอิทธิฤทธิ์จ้างคนนอกฆ่าผู้คุมได้ ยันย้ายคนคุกไปอยู่เรือนจำภาคอื่นจะช่วยได้ เผยพร้อมประสานพยานคดีลูก “ชาดา” ให้การ อ้างไม่ยุ่งโผตำรวจ - การันตีรูปคดีเผาเมืองที่ดีเอสไอเปลี่ยนแปลงไม่ได้ บอกไม่แทรกแซงแน่เพราะไม่อยากติดคุกตอนแก่ ระบุสอบข้ามวันข้ามคืนถ้าไม่เสร็จก็ต้องทำต่อ
วันนี้ (29 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดสัมมนาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาแรงงานและประสานการฝึกอาชีพแห่งชาติว่า ฝากบอกไปยังองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศที่ออกมาคัดค้านแนวความคิดตนที่ให้ประหารชีวิตนักโทษคดียาเสพติดรายใหญ่ที่ศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตภายใน 15 วัน จากเดิม 60 วัน แต่ขณะนี้เกิดเหตุคนร้ายใช้ขว้างระเบิดใส่บ้านผู้คุมเรือนจำ และยิงใส่เรือนจำพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเมื่อเช้าวันนี้ (29 ส.ค.) จับกุมผู้ต้องหาได้ และยึดอาวุธสงครามมา 2 กระบอก ซึ่งผู้ต้องหาสารภาพว่านักโทษในเรือนจำเป็นคนจ้างวาน ทั้งนี้ ในระหว่างสืบสวนสอบสวนอยู่นักโทษก็โทรศัพท์หาผู้ต้องหาด้วย โดยตนได้กำชับให้พาพยานประกอบเพราะต้องจับนักโทษด้วยเนื่องจากเป็นตัวการร่วมกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องลักษณะนี้คณะกรรมการและองค์กรสิทธิฯ จะว่าอย่างไร เพราะขนาดอยู่ในเรือนจำยังมีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชขนาดนี้ ดังนั้นต้องเห็นด้วยกับตน ไม่มีทางอื่นแล้ว มิฉะนั้นจะอาละวาดกันหนัก
เมื่อถามถึงความคืบหน้าที่จะเคลื่อนย้ายผู้คุมและนักโทษในเรือนจำ จ.นครศรีธรรมราช ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนได้บอกอธิบดีกรมราชทัณฑ์ไปแล้วว่าหากนักโทษคนใดอยู่เรือนจำภาคใต้แล้วมีฤทธิ์เดชก็ให้นำไปไว้ภาคอื่นก็จะทำให้คนเหล่านี้ขาดความคล่องตัว ส่วนผู้คุมหากมีความสงสัยก็สั่งย้าย ซึ่งเรื่องนี้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการแล้ว เพราะหากปล่อยไว้เหมือนเดิมก็จะแก้ไขไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ตนได้ฝากให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาไปช่วยคิดไว้ 2 เรื่อง คือ 1. จะทำอย่างไรเพื่อเรียกคืนอาวุธปืนที่ผิดกฎหมายมาคืนราชการ 2. มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะซื้อคืนอาวุธปืนที่ถูกกฎหมาย
รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความคืบหน้าในคดีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายฟารุต ไทยเศรษฐ์ บุตรชายนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา จนเสียชีวิตที่ จ.นครราชสีมา ว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังวางแนวทางเดิม ไม่มีแนวทางอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาระบุว่าคดีคืบหน้าได้ยากเพราะพยานไม่ค่อยให้ความร่วมมือนั้น ตนคิดว่าลำพังตำรวจเองก็สืบได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ให้การณ์ที่เป็นประโยชน์ก็จะไปได้เร็วขึ้น ไม่เป็นไรตนประสานอยู่ตลอด
ร.ต.อ.เฉลิม ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กล่าวถึงการประชุม ก.ตร.ที่มีวาระการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ ผบก. และรองผู้บัญชาการ หรือเทียบเท่า วาระประจำปี 2555 ในเวลา 14.00 น.วันนี้ (29 ส.ค.) ว่า สำหรับเรื่องโผการแต่งตั้งตนไม่เคยยุ่ง ซึ่งบอร์ดกลั่นกรองก็ทำกันเองมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ตนเป็นประธาน ก.ตร. หากจะแต่งตั้งใครจะมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า 3 วัน โดย ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิก็จะรู้ล่วงหน้า และจะไปปรึกษาและเตรียมมาค้านในกรณีที่ไม่เห็นด้วย เพราะในอดีตจะไม่มีโอกาสได้ศึกษา ซึ่งตนเต็มใจเพราะไม่มีผลประโยชน์อะไร
ร.ต.อ.เฉลิมยังกล่าวถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ไปให้ปากคำต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และแสดงความกังวลว่ารูปคดีอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงว่า เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเป็นอย่างไรต้องเป็นไปตามนั้น กระบวนการยุติธรรมและหลักกฎหมาย ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่าไปห่วง และตนก็ไม่มีวันลงไปแทรกแซงเพราะไม่อยากติดคุกตอนแก่ ซึ่งระมัดระวังเรื่องการทำงานอยู่แล้วเพราะเป็นนักกฎหมายและเคยเป็นพนักงานสืบสวนมา อะไรที่ไม่มีข้อเท็จจริงก็อย่าไปปรุงแต่ง อะไรที่ข้อเท็จจริงไม่เข้าข้อกฎหมายก็อย่าไปยุ่ง เพราะสุดท้ายใครจะติดคุกศาลจะเป็นผู้พิจารณาให้ความเป็นธรรม โดยดีเอสไอเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น และต่อไปก็ต้องไปอัยการจนถึงศาล ดังนั้นไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลพยายามรื้อฟื้นคดี ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้รื้อฟื้นคดี แต่อายุความมี 20 ปี ถ้าไม่ทำแบบนี้จะให้ทำอย่างไร เพราะมีคนตาย 98 ศพ บาดเจ็บอีก 2,000 กว่าราย จะให้เลิกกันไปเลยหรือทำไม่ได้ เมื่อถามถึงหลักฐานเพิ่มเติมที่ระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐยิงประชาชน ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ขอยุ่ง เพราะพรรคประชาธิปัตย์อาจนำมาเป็นประเด็นทางการเมือง แต่ใครทำอะไรไว้รู้อยู่แก่ใจ
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตถึงเจตนาในการสอบสวนสืบสวนแบบข้ามวันข้ามคืน รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่มี ใครจะกล้าไปเกเรกับนายสุเทพ แต่บางครั้งหากสอบสวนไม่เสร็จพนักงานสอบสวนก็ต้องสอบสวนต่อ ผู้ถูกสอบสวนก็เต็มใจให้ถ้อยคำ และก็ขอหยุดได้