xs
xsm
sm
md
lg

แฉฮั้วประมูล“ไอพีเน็ตเวิร์ก”กสท 1.6 พันล้าน การเมืองงาบหัวคิว 30%-เอื้อเอกชนยักษ์ใหญ่ผูกขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฉพิรุธ กสท เอื้อ “เอกชนยักษ์ใหญ่” เขมือบงานข่ายอินเทอร์เนตแบบผูกขาดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุดประมูลโครงการ 1.6 พันล้าน การเมืองกินหัวคิว 30 % อ้างใช้ยี่ห้อเดิมเชื่อมระบบเข้าเงื่อนไข “วิธีพิเศษ” แถมให้อำนาจแต่ง “นอมินี” รับงานเบ็ดเสร็จ ชี้ผิด กม.ฮั้วหลายกระทง เล็งยื่น ป.ป.ช.ฟัน

แหล่งข่าวจาก กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการร้องเรียนไปยังที่ต่างๆ ถึงความผิดปกติเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์เครือข่ายอินเทอร์เนต (IP network) ต่างๆ ของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT Telecom) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงไอซีที โดยมีข้อสังเกตว่า เอกชนรายหนึ่งได้รับงานที่เกี่ยวกับเครือข่ายอินเทอร์เนตในลักษณะผูกขาดเกือบ 100% ใน กสท โดยผ่านการจัดซื้อจัดหาโดยวิธีพิเศษมาโดยตลอด และใช้เหตุผลด้านเทคนิคว่าต้องใช้อุปกรณ์ของเอกชนรายเดิม ทั้งที่บางโครงการไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีความจำเป็น

“ทุกวันนี้อุปกรณ์เครือข่ายอินเทอร์เนต หรือ IP network ถึงจะมีความแตกต่างของยี่ห้อสินค้า แต่มีความเข้ากันได้โดยการเชื่อมต่อผ่านตามมาตรฐานทั่วๆไป เช่น อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เนตตามบ้าน (ADSL) ทั่วๆ ไปนั้น ไม่ว่าสินค้ายี่ห้อใดๆ ก็สามารถทำการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เนต (ISP) ได้และทำงานได้ตามปกติอยู่แล้ว” แหล่งข่าว ระบุ

แหล่งข่าว กล่าวว่า ล่าสุดได้มีการเปิดประกวดราคาโครงการ ซื้ออุปกรณ์ CAT-THIX Capacity Expansion Bangkok Site and Nonthaburi Site จำนวน 1 ระบบ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ราคาประมาณ 1,690 กว่าล้าน ซึ่งมีผู้ยื่นราคาเพียง 2 ราย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนอมินีของบริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าว ที่ผูกขาดโครงการใน กสท

"โครงการนี้จะเซ็นสัญญากันในวันที่ 25 ส.ค.ซึ่งมีกระแสว่า ฝ่ายการเมือง ได้ค่าหัวคิวถึง 30% และ จะมีอีกหลากหลายโครงการที่จะใช้วิธีการส่อไปในทางที่เชื่อว่าไม่น่าจะสุจริตแบบนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านบาทภายในปี 2555 นี้"แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าวกล่าว อีกว่า เรื่องนี้จะส่งให้ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ไปตรวจสอบการประมูลดังกล่าวต่อไป เนื่องจากน่าจะเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 12 (ฮั้วประมูล)

ทั้งนี้เนื่องจากในการประกาศประกวดราคา ของโครงการนี้ มีข้อกำหนดระบุในข้อ 2.8 ว่าผู้เสนอราคาจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทผู้ผลิตหรือสาขาของบริษัทผู้ผลิตซึ่งประจำอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น และข้อ 2.9 ระบุว่า ผู้เสนอราคาจะต้องแสดงเอกสารการรับรองจากบริษัทผู้ผลิตหรือสาขาของบริษัทผู้ผลิตซึ่งประจำอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น

แหล่งข่าวอธิบายต่อไปอีกว่า จากข้อกำหนด 2 ข้อดังกล่าวหมายความว่า ผู้ยื่นประกวดราคาต้องได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทผู้ผลิต หรือสาขาผู้ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งหมายถึงว่า ผู้ที่จะเป็นผู้กำหนดว่า ใครสามารถเข้าทำกระบวนการอี-ออกชันในโครงการนี้ได้ จะถูกกำหนดโดยบริษัทผู้ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดทางด้านเทคนิคระบุด้วยว่า อุปกรณ์ รุ่น แบบและยี่ห้อต้องเป็นของเอกชนรายเดิมอย่างชัดเจน เมื่อเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าเอกชนรายนั้นสามารถกำหนดผู้แพ้-ชนะในการประมูลได้แต่เพียงผู้เดียว โดยที่ทาง กสท ไม่มีสิทธิ์ในการพิจารณา

“เอกชนรายนี้สามารถกำหนดว่าใครจะเข้าเสนอราคาได้หรือไม่ และสามารถกำหนดราคา และผู้ชนะได้อีกด้วย ซึ่งเข้าข่ายความผิดต่อการผูกขาดหรือกีดกันการเสนอราคา ที่เอกชนไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะที่เป็นบริษัทต่างชาติ” แหล่งข่าว กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น