ตุลาการศาลปกครองกลาง พิจารณาคดี “รัฐบาลอภิสิทธิ์” เด้งปลัด มท.เข้ากรุ ชี้คำสั่งโยกย้ายถูกต้องตาม กม. ไม่พบกลั่นแกล้ง ส่วนคำสั่งออกรวดเร็วชี้กระบวนการไม่กำหนดเวลา ไม่บ่งชี้ว่าไม่ชอบด้วย กม. ขณะที่เงินเดือนละ 2 แสนที่เสียไปเป็นเพียงเงินพิเศษจากการเป็นกรรมการต่างๆ ในองค์กร ด้านเจ้าตัวเผยอยากให้เป็นบรรทัดฐานการโยกย้าย ขรก.ระดับสูง
วันนี้ (24 ส.ค.) ศาลปกครองกลางออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 2 คน ขอให้เพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมตรีที่ 17/2552 ลงวันที่ 20 ม.ค. 2552 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2552 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ให้นายพีรพลมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมตรี และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2552 ที่เห็นชอบแต่งตั้งนายวิชัย ศรีขวัญ เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยนายพีรพลได้เดินทางมารับฟังการพิจารณาคดีด้วยตนเอง
ทั้งนี้ การออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกนี้นายพีรพลไม่ติดใจที่จะแถลงด้วยวาจา รวมถึงการยื่นเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งองค์คณะตุลาการฯ ได้ให้นายสมสกุล ณ บางช้าง ตุลาการศาลปกครองกลาง แถลงคำวินิจฉัยส่วนตนที่ไม่ผูกพันต่อการพิจารณาและมีคำพิพากษาขององค์คณะ โดยเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปครอง ส่วนประเด็นเนื้อหาคดี เห็นว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะสั่งให้ข้าราชการมาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้ ในเรื่องของเงินเดือนนั้นสามารถทำได้ 2 กรณี คือ ให้มาปฏิบัติราชการโดยขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม หรือไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิมก็ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11(4) ในการมีคำสั่งโยกย้าย คำสั่งโยกย้ายดังกล่าวจึงถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนคำสั่งดังกล่าวเหมาะสมเป็นธรรมกับนายพีรพลหรือไม่ เห็นว่าการบริหารงานแผ่นดิน ต้องยึดกับกฎหมายหลายฉบับ แต่ละฉบับมีเจตนาให้นายกฯ ใช้อำนาจในทางปกครองแตกต่างกันไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นข้าราชการการเมืองที่เกี่ยวโยงกับรัฐสภา เป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการประจำและข้าราชการเมือง มีอำนาจตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งการมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมตรีที่ 17/2552 ลงวันที่ 20 ม.ค. 2552 นายพีรพลมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมตรี ก็เป็นการดำเนินการตามที่ ครม.มีมติ และไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงว่าการมีคำสั่งโยกย้ายดังกล่าวมีการกลั่นแกล้ง แต่เป็นการดำเนินการตามความเหมาะสม ที่นายพีรพลอ้างว่าการโยกย้ายดังกล่าวทำด้วยความรวดเร็วภายในวันเดียวนั้น เห็นว่ากระบวนการของการมีคำสั่งไม่ได้มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้ การจะดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่นายพีรพลอ้างว่าตนเองมีความรู้ ความสามารถปฏิบัติราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยนั้น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (4) ให้เป็นดุลพินิจของนายกฯ ในการพิจารณาเลือกผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่เห็นสมควร และผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ก็เป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถไม่ต่างจากนายพีรพล สำหรับที่อ้างว่า การโยกย้ายทำให้เดือดร้อนเสียหายทำให้ขาดสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับจากกการดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยเดือนละ 2 แสนบาท เห็นว่าไม่ใช่เงินที่ได้รับประจำ แต่เป็นสิทธิประโยชน์ที่ได้รับพิเศษจากการทำหน้าที่กรรมการต่างๆ ในองค์กร ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากการดำรงตำแหน่ง มิใช้เงินที่ได้รับในครั้งเดียวเมื่อดำรงตำแหน่ง เมื่อนายพีรพลไม่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้ว จึงไม่ใช่สิทธิที่จะนำมากล่าวอ้าง
หลังตุลาการผู้แถลงคดีแถลงเสร็จสิ้น องค์คณะก็ได้แจ้งต่อนายพีรพลว่า หลังจากนี้องค์คณะจะมีการพิจารณาและจะนัดคู่กรณีมาฟังคำพิพากษาอีกครั้ง ซึ่งนายพีรพลให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ตอนนี้เกษียณแล้ว รับเชิญเป็นอาจารย์บรรยายพิเศษตามสถาบันต่างๆ โดยจะขอรอฟังคำพิพากษาที่จะออกมาก่อนทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าโดยทั่วไปประมาณ 1 เดือนนับแต่นั่งพิจารณาคดีครั้งแรกศาลจะมีคำพิพากษา ถึงจะบอกว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ทั้งนี้อยากให้คดีนี้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตเกี่ยวกับแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง