xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.ชี้ตำรวจใช้ ม.215 เอาผิด “ม็อบแดงลำพูน” ปิดถนนไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำโต้แย้งแกนนำม็อบแดงลำพูน อ้างตำรวจตั้งข้อหาตาม ป.อาญา ม.215 ขัดต่อ รธน.ม.69 และ 70 หรือไม่ ชี้ไม่ขัดเพราะมีไว้เพื่อควบคุมการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ส่วน พ.ร.บ.ความมั่นคง ม.15 และ 18 ไม่ขัดต่อ รธน. ชี้ ครม.-หน่วยงานของรัฐใช้อำนาจในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และแก้ไขสถานการณ์วุ่นวายให้กลับสู่ปกติ

วันนี้ (22 ส.ค.) นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณากรณีศาลจังหวัดลำพูน ส่งคำโต้แย้งของ นายประสงค์ หรือมานะ แก้วลื้อ จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 69 และมาตรา 70 หรือไม่ รวมถึง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 114 และมาตรา 128 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 29 มาตรา 63 มาตรา 69 และมาตรา 70 หรือไม่

โดยศาลเห็นว่า ประเด็นการโต้แย้งดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญมาตรา 69 เป็นสิทธิของชนชาวไทยในการต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญมาตรา 70 เป็นหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เป็นบทบัญญัติในภาคความผิดที่เกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง มิได้มุ่งหมายหรือมีลักษณะเป็นการขัดขวางหรือกระทบกระเทีอนการใช้สิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 69 และมาตรา 70 สำหรับ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 114 และมาตรา 128 มีวัถุประสงค์เป็นการจัดวางระเบียบจราจรทางบก เพื่อความสะดวกและปลอดภัยแก่ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 29, 63, 69 และมาตรา 70

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จ.ลำพูน ได้จับนายประสงค์ หรือมานะ แก้วลื้อ และพวกได้มาชุมนุมบนถนนลำปาง-เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการประท้วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552 ช่วงสงกรานต์ โดยได้นำเอารถสิบล้อมาปิดขวางถนน เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลำปาง แจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 ที่ระบุห้ามมิให้ผู้ใดทำการชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

นอกจากนี้ยังได้พิจารณาคำโต้แย้งของโจทย์ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญกรณี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตรา 15 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสองหรือไม่ และให้พิจารณาด้วยว่า พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาญาจักร มาตรา 18 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (5) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 หรือไม่ เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีทั้งสองไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้อำนาจและหลักเกณฑ์การใช้อำนาจของ ครม.และหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งขอบเขตของการใช้อำนาจไว้แล้ว ซึ่งย่อมเป็นผลให้ ครม.และหน่วยงานของรัฐต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย และต้องใช้อำนาจภายในของเขตที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรม จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง คือการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม

อีกทั้ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาญาจักร มาตรา 18 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (5) ให้อำนาจผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรออกข้อกำหนดเพื่อให้ดำเนินการและห้ามดำเนินการใดๆ ก็โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือหลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความสงบสุข ทำลาย หรือทำความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐให้กลับสู่สภาวะปกติ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการเดินทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในกาเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร
กำลังโหลดความคิดเห็น