xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ต่อตอน 3 ซีรีส์ 1 ปีรัฐบาลปู ยางเจ๊งเสียหาย 1.5 แสนล้าน นำเข้าปาล์ม-มะพร้าว แกล้งปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชินวรณ์ ​บุณยเกียรติ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เงา พรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
“ชินวรณ์” เทียบราคายางยุค “มาร์ค” กับ “ปู” ต่างกันประมาณ 50 บ. ประเทศขาดรายได้ 1.5 แสนล้าน แถมปล่อยเวลาทิ้ง 6 เดือน ก่อนตื่นแก้ปัญหา ซัดเตือนไม่ฟัง ใช้ 1.5 หมื่นล้าน แทรกแซงราคา 120 บ.ไม่เป็นผล ชี้ รมช.เกษตรฯ 2 คนไม่เอาไหน ทำตลาดจีนกลับเสียประโยชน์ จี้บอกวิธีโค่นยางให้เป็นระบบ แนะ “ปู” ดูแลนโยบาย แฉพบทุจริตหมุนเวียนยางเล็งเอาผิด อัด รบ.ทำตัวเป็นพ่อค้า ทำกลไกตลาดพัง-ย้อน รบ.นำเข้าปาล์ม-มะพร้าว กลั่นแกล้ง ปชช.ทำราคาต่ำ บี้ทุ่ม 3 แสนล้าน แต่เกษตกรยังลำบาก


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง"นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ"ให้สัมภาษณ์  

วันนี้ (22 ส.ค.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เงา พรรคประชาธิปัตย์ แถลง 1 ปีของจริงไม่อิงละคร ตอนที่ 3 เกษตรกรเหลือทนราคาตกต่ำ “ยางพารา ปาล์ม มะพร้าว” โดยระบุว่า 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลล้มเหลวในการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ มีเกษตรกรถึง 2 ล้านครอบครัว โดยราคายางพาราในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เฉลี่ย 140 บาท แต่ตอนนี้ลดลงครึ่งต่อครึ่ง ราคาอยู่ที่ 76 บาท ทำให้เกษตรกรเสียรายได้ 50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ประเทศเสียรายได้ 1.5 แสนล้านบาท เพราะรัฐบาลปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ในการแก้ปัญหา โดยเพิ่งมีการประชุมครั้งแรก 17 มกราคม 2555 ทิ้งเวลาสูญเปล่าไป 6 เดือน จากนั้นในวันที่ 24 ม.ค. 55 อนุมัติให้มีการใช้เงิน 1.5 หมื่นล้าน แทรกแซงราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ท้วงติงว่ามาตรการดังกล่าวไม่สามารถยกระดับราคาได้ เพราะรัฐบาลไม่จริงใจกับเกษตรกรไม่มีชดเชยการขาดทุน ขณะเดียวกันก็เกิดสต๊อคในประเทศหลายแสนตัน ต่อมารัฐบาลยอมรับความผิดพลาด มีการออกมติ ครม. 27 ก.ค. 55 ให้ชดเชยการขาดทุนและลดราคาเป้าหมายจาก 120 บาทเหลือกิโลกรัมละ 100 บาท

นายชินวรณ์กล่าวด้วยว่า ทั้งหมดเป็นความผิดพลาดในเชิงนโยบายและการกำหนดมาตรการ ขณะที่รัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องยางสองคนส่งสัญญาณผิดพลาดบริหารโดยขาดความรู้ความเข้าใจ นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ ดำเนินนโยบายผิดพลาดในขณะเป็น รมช.เกษตรฯ โดยไปทำเอ็มโอยูกับจีนซื้อขายในราคากิโลกรัมละ 105 บาท ทำให้ราคาตลาดโลกลดลงโดยอัตโนมัติ ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ ไม่เอาใจใส่ ไม่เร่งรัดให้มีการแทรกแซงอย่างจริงจัง และยังส่งสัญญาณผิดพลาดเอายางพาราไปขายกับจีนในราคาจีทูจี เท่ากับรัฐบาลทำหน้าที่พ่อค้าเสียเอง จึงไม่มีผลต่อการลดอุปสงค์-อุปทานในตลาด ส่งผลให้ราคายิ่งตกต่ำลงเหลือเพียงแค่กิโลกรัมละ 76 บาท แม้ว่าล่าสุดนายณัฐวุฒิจะไปแสวงหาความร่วมมือจากต่างประเทศ มีการประชุมร่วมสภาการยางระหว่างประเทศแต่มติที่ออกมาก็ไม่สามารถดำเนินการได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการลดการจำหน่ายไปตลาดโลก หรือการโค่นยางที่มีอายุมาก และยังไม่มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ จึงขอความเป็นธรรมต่อพี่น้องชาวสวนยางให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายยางให้ดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องราคายางอย่างเป็นระบบ

“นอกจากนี้ กระบวนการซื้อยางก็ส่อให้เห็นถึงการทุจริตในโครงการรับซื้อโดยมีข้อร้องเรียนว่ามีการหมุนเวียนยาง ทำให้เกิดช่องว่าง 24 บาทต่อกิโลกรัม เปิดโอกาสให้มีการนำยางมาเวียนเทียนเข้าโครงการแทรกแซงของรัฐบาล ซึ่งพรรคจะตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ของเกษตรกร ผมมั่นใจว่าถ้าประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะการแทรกแซงจะทำโดยตรงกับเกษตรกร และจะไม่ขายจนกว่าราคายางจะสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณไปยังตลาดโลกที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันก็อำนวยความสะดวกให้พ่อค้ายางพารามีการแข่งขันอย่างเสรี แต่ตอนนี้ไม่มีใครกล้าซื้อแข่งกับรัฐบาล เพราะรัฐบาลกลายเป็นผู้ค้าเอง กลไกตลาดจึงง่อยเปลี้ยจนเกิดปัญหา ผมเชื่อถ้ารัฐบาลยังทำแบบนี้ก็จะล้มเหลวต่อไป และที่จะทุ่มงบเพิ่มอีก 1.5 หมื่นล้านเป็น 3 หมื่นล้านไปแทรกแซงราคายางพาราก็จะล้มเหลวแก้ปัญหาไม่ได้หากไม่เปลี่ยนวิธีบริหารจัดการ” นายชินวรณ์กล่าว

ส่วนราคาปาล์มน้ำมัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเกษตรกร 3 แสนครอบครัว มีเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมัน 4 ล้านไร่ ผลผลิต 12 ล้านตันต่อปี เมื่อเปรียบเทียบราคากับรัฐบาลที่ผ่านมา 5.76 บาท รัฐบาลนี้อยู่ที่ 4 บาท เป็นเพราะรัฐบาลให้นำเข้าปาล์มจากต่างประเทศจนกลไกตลาดบิดเบือนจนราคาตกต่ำ เป็นนโยบายที่กลั่นแกล้งชาวสวนปาล์ม ทั้งนี้ ขอเรียกร้องรัฐบาลว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนน้ำมันปาล์มภายในประเทศ จึงไม่ควรนำเข้าและควรช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ราคาที่ดีขึ้น แม้ว่าราคาในวันนี้ยังอยู่ในระดับที่เกษตรกรรับได้แต่ก็เสียรายได้อย่างน้อยกิโลกรัมละ 2 บาท

นายชินวรณ์กล่าวด้วยว่า มะพร้าวก็ราคาตกต่ำ ทั้งที่ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เกิดวิกฤตหนอนหัวดำมะพร้าวเสียหายไป 4 แสนไร่ น่าจะทำให้ปริมาณมะพร้าวในตลาดลดลงราคาดีขึ้น แต่ว่ารัฐบาลกลับกลั่นแกล้งเกษตรกรนำเข้ามะพร้าวจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ทำให้ราคามะพร้าวตกต่ำ ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ 12.5 บาท แต่ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เหลือ 3 บาท ลดลง 76% รัฐบาลสร้างวิกฤตให้เกษตรกร กระชากรายได้ให้ตกต่ำลงจากนโยบายที่ซ้ำเติมเกษตรกร และมีกระบวนการเปิดช่องทางในการทุจริตจากนโยบายของรัฐบาล ใช้เงินทั้งหมดสามแสนล้าน แต่ผลคือเกษตรกรยังต้องรับภาระสินค้าเกษตรตกต่ำอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น