xs
xsm
sm
md
lg

แก้ราคายางล้มเหลว ปชป.บุกพบนายฯจี้ปลด"เต้น"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (22 ส.ค.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เงา พรรคประชาธิปัตย์ แถลง 1 ปีของจริงไม่อิงละคร ตอนที่ 3 เกษตรกรเหลือทนราคาตกต่ำ “ยางพารา ปาล์ม มะพร้าว” โดยระบุว่า 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลล้มเหลวในการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ มีเกษตรกรถึง 2 ล้านครอบครัว โดยราคายางพาราในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เฉลี่ย 140 บาท แต่ตอนนี้ลดลงครึ่งต่อครึ่ง ราคาอยู่ที่ 76 บาท ทำให้เกษตรกรเสียรายได้ 50 บาท ต่อกิโลกรัม ขณะที่ประเทศเสียรายได้ 1.5 แสนล้านบาท เพราะรัฐบาลปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่ในการแก้ปัญหา โดยเพิ่งมีการประชุมครั้งแรกเมื่อ 17 ม.ค.55 ทิ้งเวลาสูญเปล่าไป 6 เดือน จากนั้นในวันที่ 24 ม.ค. 55 อนุมัติให้มีการใช้เงิน 1.5 หมื่นล้าน แทรกแซงราคายางพารา ที่กิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ท้วงติงว่า มาตรการดังกล่าวไม่สามารถยกระดับราคาได้ เพราะรัฐบาลไม่จริงใจกับเกษตรกร ไม่มีชดเชยการขาดทุน ขณะเดียวกันก็เกิดสต็อกในประเทศหลายแสนตัน ต่อมารัฐบาลยอมรับความผิดพลาด มีการออกมติ ครม. เมื่อ 27 ก.ค. 55 ให้ชดเชยการขาดทุน และลดราคาเป้าหมายจาก 120 บาท เหลือกิโลกรัมละ 100 บาท
นายชินวรณ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งหมดเป็นความผิดพลาดในเชิงนโยบาย และการกำหนดมาตรการ ขณะที่รัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องยางสองคน ส่งสัญญาณผิดพลาด บริหารโดยขาดความรู้ความเข้าใจ พรศักดิ์ เจริญประเสริฐ ดำเนินนโยบายผิดพลาดในขณะเป็น รมช.เกษตรฯ โดยไปทำเอ็มโอยูกับจีน ซื้อขายในราคากิโลกรัมละ 105 บาท ทำให้ราคาตลาดโลกลดลงโดยอัตโนมัติ ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ ก็ไม่เอาใจใส่ ไม่เร่งรัดให้มีการแทรกแซงอย่างจริงจัง และยังส่งสัญญาณผิดพลาด เอายางพาราไปขายกับจีนในราคาจีทูจี เท่ากับรัฐบาลทำหน้าที่พ่อค้าเสียเอง จึงไม่มีผลต่อการลดอุปสงค์ อุปทานในตลาด ส่งผลให้ราคายิ่งตกต่ำลงเหลือเพียงแค่กิโลกรัมละ 76 บาท
แม้ว่าล่าสุดนายณัฐวุฒิ จะไปแสวงหาความร่วมมือจากต่างประเทศ มีการประชุมร่วมสภาการยางระหว่างประเทศ แต่มติที่ออกมาก็ไม่สามารถดำเนินการได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการลดการจำหน่ายไปตลาดโลก หรือการโค่นยางที่มีอายุมาก และยังไม่มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ จึงขอความเป็นธรรมกับพี่น้องชาวสวนยางให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายยาง ให้ดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องราคายางอย่างเป็นระบบ
"นอกจากนี้กระบวนการซื้อยาง ก็ส่อให้เห็นถึงการทุจริตในโครงการรับซื้อโดยมีข้อร้องเรียนว่า มีการหมุนเวียนยาง ทำให้เกิดช่องว่าง 24 บาท ต่อกิโลกรัม เปิดโอกาสให้มีการนำยางมาเวียนเทียนเข้าโครงการแทรกแซงของรัฐบาล ซึ่งพรรคจะตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ของเกษตรกร ผมมั่นใจว่าถ้าประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะการแทรกแซง จะทำโดยตรงกับเกษตรกร และจะไม่ขายจนกว่าราคายางจะสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณไปยังตลาดโลกที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันก็อำนวยความสะดวกให้พ่อค้ายางพารา มีการแข่งขันอย่างเสรี แต่ตอนนี้ไม่มีใครกล้าซื้อแข่งกับรัฐบาล เพราะรัฐบาลกลายเป็นผู้ค้าเอง กลไกตลาดจึงง่อยเปลี้ยจนเกิดปัญหา ผมเชื่อถ้ารัฐบาลยังทำแบบนี้ก็จะล้มเหลวต่อไป และที่จะทุ่มงบเพิ่มอีก 1.5 หมื่นล้านเป็น 3 หมื่นล้านไปแทรกแซงราคายางพารา ก็จะล้มเหลวแก้ปัญหาไม่ได้ หากไม่เปลี่ยนวิธีบริหารจัดการ" นายชินวรณ์ กล่าว
ส่วนราคาปาล์มน้ำมัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเกษตรกร 3 แสนครอบครัว มีเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมัน 4 ล้านไร่ ผลผลิต 12 ล้านตันต่อปี เมื่อเปรียบเทียบราคากับรัฐบาลที่ผ่านมา 5.76 บาท รัฐบาลนี้อยู่ที่ 4 บาท เป็นเพราะรัฐบาลให้นำเข้าปาล์มจากต่างประเทศ จนกลไกตลาดบิดเบือน จนราคาตกต่ำ เป็นนโยบายที่กลั่นแกล้งชาวสวนปาล์ม ทั้งนี้ขอเรียกร้องรัฐบาลว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนน้ำมันปาล์มภายในประเทศ จึงไม่ควรนำเข้าและควรช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ราคาที่ดีขึ้น แม้ว่าราคาในวันนี้ยังอยู่ในระดับที่เกษตรกรรับได้แต่ก็เสียรายได้อย่างน้อยกิโลกรัมละ 2 บาท
นายชินวรณ์ กล่าวด้วยว่า มะพร้าวก็ราคาตกต่ำ ทั้งที่ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เกิดวิกฤตหนอนหัวดำมะพร้าวเสียหายไป 4 แสนไร่ น่าจะทำให้ปริมาณมะพร้าวในตลาดลดลงราคาดีขึ้น แต่ว่ารัฐบาลกลับกลั่นแกล้งเกษตรกร นำเข้ามะพร้าวจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำให้ราคามะพร้าวตกต่ำ ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ 12.5 บาท แต่ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เหลือ 3 บาท ลดลง 76 % รัฐบาลสร้างวิกฤตให้เกษตรกร กระชากรายได้ให้ตกต่ำลงจากนโยบายที่ซ้ำเติมเกษตรกร และมีกระบวนการเปิดช่องทางในการทุจริตจากนโยบายของรัฐบาล ใช้เงินทั้งหมด 3 แสนล้าน แต่ผลคือ เกษตรกรยังต้องรับภาระสินค้าเกษตรตกต่ำอยู่

**จี้นายกฯปลด"เต้น"

นายอาคม เอ่งฉ้วน สส.กระบี่ พร้อมด้วยกลุ่ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่ที่มีการปลูกยางพารา 66 จังหวัดทั่วประเทศ ได้รวมตัวกันแถลงข่าวหลังจากที่ได้มีการหารรือกันภายในกลุ่มที่มีการปลูกยาง โดยมีมติตรงกันว่า ในวันนี้ (23ส.ค.) เวลา 9.30น. จะเดินทางไปพบ นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกไม่ไว้วางใจ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่มีการเบิกงบประมาณไปแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาทไปใช้ในการในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ โดยไม่ได้ประโยชน์ และส่อไปในทางทุจริต ซึ่งไม่รู้ว่าเงินส่วนต่างจะตกไปอยู่ในกระเป๋าใครบ้างหรือไม่ และล่าสุดว่าจะมีการของบเพิ่มอีก1.5 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งได้มีการสั่งตัดต้นยางกว่า 1 แสนไร่ ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาราคายางตกต่ำได้ ทั้งที่ประเทศไทยสามารถผลิตยางได้กว่า 3.5 ล้านตันต่อปี ด้วยเหตุนี้กลุ่ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จึงเห็นว่าการทำหน้าที่ของนายณัฐวุฒินั้น ล้มเหลว จึงอยากให้นายกรัฐมนตรี ทบทวนการทำหน้าที่นี้ของนายณัฐวุฒิ ว่าสมควรบริหารงานต่อไปหรือไม่ หากในวันนี้ นายกฯยอมให้ตน และกลุ่มส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้าพบ จะเสนอแนวทางที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาให้

** ออกพ.ร.ก.กู้3.5แสนล้านแต่ไม่เบิกจ่าย

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี โฆษกคณะรัฐมนตรี เงา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ครม.เงา จะมีการแถลงในวันที่ 24 ส.ค.นี้ เพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับ ผลงานครบรอบ 1 ปี ของรัฐบาล ซึ่งพบว่าล้มเหลวในหลายเรื่อง นอกจากนี้ ครม.เงายังได้พูดถึงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ว่าสอบตกอย่างชัดเจน เนื่องจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้าน เบิกจ่ายได้แค่ 700 ล้านบาท แต่พ.ร.ก.จะหมดอายุ เดือนมิ.ย. ปีหน้า จึงเชื่อว่าจะเบิกจ่ายไม่ได้ตามกำหนดเวลา เนื่องจากในหลายโครงการ รัฐบาลไม่สนใจเรื่องการทำอีไอเอ และเอชไอเอ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงเชื่อว่าเมื่ออีไอเอ และเอชไอเอ ยังไม่เดินหน้าย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะเบิกจ่ายงบได้ทันตามกำหนด
ดังนั้น ครม.เงา จึงมีมติทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อชี้ให้เห็นว่า การที่รัฐบาลดำเนินการใช้ จ่ายเงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ ซึ่งอ้างว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนนั้น ในทางปฏิบัติปรากฏว่า ช้ากว่าการนำงบประมาณไปใส่ใน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เพราะถ้าทำตามกรอบงบประจำปี จะเห็นรายละเอียดของโครงการทั้งหมด ซึ่งพรรคจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อประกอบข้อมูลในอนาคต เนื่องจากเกรงว่าจะมีการขอต่ออายุ พ.ร.ก.นี้อีกครั้ง ทั้งนี้หากมีการขอต่อ พ.ร.ก.เงินกู้จริง พรรคจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความอีกครั้งว่า การต่ออายุ พ.ร.ก.เงินกู้ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ต้องเป็นเรื่องฉุกเฉิน เร่งด่วน แต่รัฐบาลจะได้รับสิทธิพิเศษในการยกเว้นระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ของสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้นรัฐบาลจึงควรนำเงินในส่วนที่ใช้จ่ายไม่ทัน ไปบรรจุใน ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 57 จะเหมาะสมกว่า เพราะจะตรวจสอบได้ และเป็นไปตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ของสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย

** นโยบายพักหนี้เหลวไหล

นายอรรถวิชช์ ยังกล่าวถึง โครงการพักหนี้ดีของรัฐบาลที่ออกมติ ครม. เพิ่มเติมใช้เงิน 3.16 หมื่นล้าน ว่า เป็นโครงการที่เหลวไหลหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะมติ ครม.เหมาทั้งหมด ใครเป็นลูกค้า 4 ธนาคารรัฐ ออมสิน อิสลาม เอสเอ็มอี และ ธ.ก.ส. จะมีการลดดอกเบี้ยให้ 3 % ทันที ในเวลา 3 ปี จากเดิมให้ใช้สิทธิเลือกพักต้น ลดดอก 3% และลดดอก 3% ไม่พักต้น แต่ล่าสุดคือให้ลดดอกเบี้ย 3 % เลย ซึ่งต้องเตือนประชาชนว่าจะถูกหมายเหตุในเครดิตบูโรว่าเข้าร่วมโครงการของรัฐบาล แม้ว่าบางส่วนอาจไม่ต้องการเข้าร่วมโครงการก็ตาม จึงต้องถามว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่ดูแลคนที่มีปัญหา เช่น คนที่เป็นหนี้นอกระบบ หรือคนที่ได้รับเงินเยียวยาน้ำท่วมไม่ทั่วถึง
ส่วนการขึ้นภาษีสรรพสามิต เหล้า และบุหรี นั้น ครม.เงาเห็นด้วย แต่มีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องเหล้าเถื่อน ให้ระมัดระวังตรวจสอบด้วย เพราะเหล้าขาว ขายอยู่ขวดละ 60 บาท 34 บาท อยู่ในรูปแบบของภาษี ทำให้เหล้าขาวมีมูลค่าแค่ 26 บาท เมื่อเพิ่มอีก 7.50 บาทเป็น 67.50 บาทต่อขวด เป็นภาษี 41.50 บาท เหล้า 26 บาท ซึ่งจะมีส่วนต่างในเรื่องภาษีสุงมาก จนเป็นแรงจูงใจให้มีการผลิตเหล้าเถื่อน จึงขอให้รัฐบาลดูแลปัญหาเหล้าเถื่อน ควบคู่ไปด้วย

** ผลาญงบจัดงานรัฐบาลพบประชาชน

นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่รัฐบาลจะจัดงาน " รัฐบาลพบประชาชน ทุน เพื่อคุณภาพชีวิต" ในวันที่ 25-26 ส.ค.นี้ว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา มีการแถลงข้อมูลจากรัฐบาล และชี้แจ้งว่าเข้าใจผิดการแถลงดังกล่าว เป็นการแถลงข้อเท็จจริง ข้อมูลที่จะให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า ไม่สมควรไม่ว่าแถลงด้วยเหตุผลใด เพราะเท่าที่ทราบมาจากกระทรวงการคลังคือ จะมีการเบิกจ่ายงบประมาณในการใช้จัดงานดังกล่าว ประมาณ 30-40 ล้านบาท ซึ่งพรรคเห็นว่า การกู้เงินไม่จำเป็นต้องมีการเชิญ หรือจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ที่มีทั้งคอนเสิร์ต และรถแห่รอบเมือง เรื่องดังกล่าวถือว่า เป็นการละลายงบประมาณโดยใช่เหตุ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการจัดกิจกรรมดังกล่าว และใช้เงินงบประมาณอย่างมีคุณค่า
นายณัฏฐ์ ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหายางพาราของรัฐบาลว่า ไม่อยากให้รัฐบาลมองปัญหาชาวสวนยางพารา ออกมาประท้วงเป็นเรื่องการเมือง เพราะการชุมนุมของชาวสวนยางมีทุกภาค ไม่ใช่เฉพาะภาคใต้เพียงพื้นทีเดียว ซึ่งในวันที่ 22 ส.ค. ทางส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะประชุมกันเพื่อหาทางออกช่วยชาวสวนยางพาราที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ และในวันที่ 23 ส.ค. จะขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หาทางช่วยเหลือชาวสวนยางพารา เพราะที่ผ่านมา การทุ่มงบประมาณ 30,000 ล้านบาท ไปแทรกแซงราคายางพารา ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา และยังทำให้ราคายางพาราตกไปเหลือกิโลกรัมละ 60 กว่าบาทเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น