xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ "ไอเอ็มเอฟ" จับโกหก "ประธานแบงก์ชาติ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระหว่าง นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กับ นางธาริษา วัฒนเกษ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย คนก่อนหน้า นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ คนปัจจุบัน เปรียบเหมือนงูกับเชิอกกล้วย

เจอกันทีไร งูแพ้ทางทุกที ถูกเชือกกล้วยมัดลำตัวที่เป็นเมือกลื่น จนดิ้นไม่หลุด ยิ่งดิ้นก็ยิ่งรัดแน่น

สมัยทีนางธาริษา ยังเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติอยู่ มักจะถูกนายวีรพงษ์ ในเสื้อคลุมนักเศรษฐศาสตร์โจมตีอย่างุรุนแรงหลายครั้งว่า แบงก์ชาติ จะเป็นต้นเหตุให้เศรษฐกิจไทยพบกับความฉิบหาย เพราะไม่ยอมลดดอกเบี้ย ไม่ยอมทำให้ค่าเงินบาทอ่อน เพื่อช่วยผู้ส่งออก ตามความต้องการของนายวีรพงษ์ ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว เป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับอัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาท

จนนางธาริษา ต้องตอบโต้นายวีระพงษ์ว่า เรื่องค่าเงินบาท จะเอาความรู้สึกมาพูดไม่ได้ ต้องเอาข้อมูลมาดูกัน และอย่าดูค่าเงินบาทเป็นรายวัน อย่านำไปเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เพราะเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มที่จะแข็งค่า การพิจารณาค่าเงินบาทต้องเทียบกับคู่ค้า ซึ่งเงินบาทเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับเงินสกุลอื่น ๆ มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นบ้างแต่เป็นเพียงเล็กน้อย และหากเทียบกับบางสกุลเงินบาทแข็งค่าขึ้นน้อยกว่า และไม่ได้ทำให้ไทยเสียความสามารถทางการแข่งขันในภาพรวมของการส่งออก
การสวนกลับของนางธาริษาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทำให้นายวีรพงษ์ เงียบไปเลย และหลังจากนั้นต่อมาอีกสองสามปี เศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ถึงกาลฉิบหาย ตามคำทำนายของนายวีรพงษ์ การส่งออกกลับขยายตัวขึ้น ทั้งๆที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ มีค่าแข็งขึ้น

การส่งออกมาลดลงอย่างตกใจ จนไทยอาจจะขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ในยุครัฐบาลนายกฯนกแก้ว ที่มีนายวีรพงษ์เป็นหัวเรือใหญ่ด้านเศรษฐกิจนี่แหละ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤติยูโรโซน แต่อีกปัจจัยที่สำคัญคือ นโยบายที่ผิดพลาด โดยเฉพาะ การรับจำนำข้าว ที่ทำให้ข้าวไทยราคาสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้การส่งออกข้าวลดลงไปถึง 45 %

ก่อนรับตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย หรือ กยอ. นายวีรพงษ์ เคยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรับจำนำข้าวอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นการทำลายโครงสร้างตลาดข้าวในประเทศ และเป็นช่องทางฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่หลังจากเป็นประธาน กยอ,แล้ว ยังไม่เคยมีใครได้ยินนายวีรพงษ์ พูดถึง นโยบายรับจำนำข้าวอีกเลย

งูกับเชือกกล้วย มาเจอกันอีกครั้ง คราวนี้นายวีรพงษ์สวมหมวกอีกใบหนึ่ง เป็นประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติ ที่มีเป้าหมายชัดเจนว่า จะรื้อนโยบายการเงิน ที่แบงก์ชาติทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ยุคที่ม.ร.ว. จตุมงคล โสณกุล เป็นผู้ว่าการ ต่อเนื่องมาถึงยุคของนางธาริษา จนมาถึงยุคนายประสาร ผู้ว่าการ คนปัจจุบัน คือ การดำเนินนโยบายการเงิน โดยมีเป้าหมายเพื่อ รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ด้วยการกำหนด เป้าหมายเงินเฟ้อ ( inflation targeting)

นายวีรพงษ์นั้น ต้องการให้แบงก์ชาติใช้นโยบายการเงิน เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพื่อป้องกันเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อนั้น แก้ไม่ได้ เนื่องจาก เศรษฐกิจทั่วโลกมีการเชื่อมโยงกัน แบงก์ชาติ ควรเน้นการดูแลค่าเงินบาท ไม่ใช่ดูแลอัตราดอกเบี้ย และปริมาณเงิน

ความหมายของนายวีรพงษ์ก็คือ ให้ดอกเบี้ยถูกๆ อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาด ทำค่าเงินบาทให้อ่อน เพื่อจะได้ส่งออกมากขึ้น

ถ้านายวีรพงษ์เป็นตัวแทนพ่อค้าอย่างเดียว ความต้องการเช่นนี้ไม่มีอะไรผิด เพราะพ่อค้าย่อมต้องการให้ดอกเบี้ยถูก แบงก์ปล่อยสินเชื่อมากๆ จะได้ขายของได้เยอะ มีกำไรมากๆ แต่บัดนี้ นายวีรพงษ์ เป็นประธานแบงก์ชาติด้วย ซึ่งธนาคารกลางทั่วโลก มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ไม่ให้เกิดเงินเฟ้อ ไม่ให้เกิดฟองสบู่ คอยกระตุกขานักการเมือง ที่มีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายการคลังอย่างอีลุ่ยฉุยแฉก เท่าที่จะทำได้ในขอบเขตอำนาจของตัวเอง แต่ประธานแบงก์ชาติคนนี้ กำลังบีบให้ผู้ว่าแบงก์ชาติ เปลี่ยนนโยบายการเงิน ให้สอดคล้องกับ นโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทย
เชือกกล้วยจึงต้องทำหน้าที่อีกครั้ง ด้วยการพูดถึงบทบาทของประธานแบงก์ชาติคนปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาว่า นายวีรพงษ์กำลังสับสนกับบทบาทของตัวเอง

"เท่าที่ฟังความเห็นของท่าน ดูเหมือนท่านยังแยกไม่ออกว่าพูดในฐานะอะไร เข้าใจว่าท่านพูดในฐานะประธานกรรมการแบงก์ชาติ แต่เนื้อหาที่พูดส่วนใหญ่เป็นมุมมองทางการเมือง ซึ่งอันนี้อาจสร้างความสับสนให้กับตลาดได้" นางธาริษากล่าว

นอกจากนี้ นางธาริษา ยังเล็คเชอร์ บทบาทของประธานแบงก์ชาติว่า การทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ ธปท. หรือแม้แต่การประธานกรรมการขององค์กรใดๆ นั้น หน้าที่หลัก คือ สนับสนุนให้องค์กรนั้นสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนกรณีที่ตัวประธานกับองค์กรมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่การหารือควรต้องเป็นการหารือกันภายใน ไม่ควรให้คนนอกรับทราบเพราะอาจเกิดความสับสนได้

เรื่องความขัดแย้งระหว่างประธานแบงก์ชาติกับ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ไปถึงไอเอ็มเอฟ ก็เพราะว่า นายวีรพงษ์ไปอ้างในงานเสวนาเรื่อง "พลวัตรเศรษฐกิจไทย ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก" ซึ่งจัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า ความเห็นของเขาเกี่ยวกับต่อนโยบายการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อนั้น สอดคล้องไปในทางเดียวกับ นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ตอนที่ นาง ลาการ์ด เดินทางมาประเทศไทย ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินของโลก โดยนางลาการ์ด มีความเห็นว่า ต้นเหตุของความไม่มั่นคงของประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศเล็กๆ คือ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ใช่เรื่องเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยนจะมีเสถียรภาพได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ การเคลื่อนย้ายของเงินทุน

นางธาริษา สงสัยว่า ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟพูดอย่างนั้นจริงหรือ จึงสอบถามไปยังไอเอ็มเอฟ ซึ่งได้รับคำปฏิเสธว่า ไม่จริง และทำให้ไอเอ็มเอฟ ต้องทำหนังสือชี้แจงมายังธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการว่า การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นบทบาทพื้นฐานของนโยบายการเงิน ในการรักษาเสถียรภาพทางเศราฐกิจ ประเทศไทย เป็นตัวอย่างของประเทศเกิดใหม่ที่ประสบความสำเร็จ ในการนำเป้าหมายเงินเฟ้อ มาใช้ และในช่วงระหว่างปี2008 -2011 ที่ไทยได้รับกระทบจากวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่ น และน้ำท่วมใหญ่ในประเทศ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ที่น่าเชื่อถือของไทย มีส่วนสนับสนุนการขยายตัว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

แม้ว่า หนังสือฉบับนี้ จะไม่มีข้อความใดเลยที่พาดพิงถึง คำพูดของนายวีรพงษ์ แต่เนื้อหาโดยรวม เป็นการปฏิเสธในคำกล่าวอ้างของนายวีรพงษ์ที่พยายามบอกว่า ไอเอ็มเอฟเองก็ยังเห็นด้วยว่า การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อนั้น ใช้ไม่ได้แล้วในโลกปัจจุบัน

พูดกันในภาษาชาวบ้านก็คือ ไอเอ็มเอฟบอกว่า คำพูดของ ประธานแบงก์ชาติของไทย ไม่เป็นความจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น