xs
xsm
sm
md
lg

“ปริญญา” ชี้ผลวิจัยป้องกันซื้อเสียง กกต.ให้ใบเหลืองไร้ผล ยุบพรรคใช้ญาติพี่น้องลงสมัครแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาพจากแฟ้ม)
กกต.เปิดผลวิจัย “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง” มอบหมาย “ปริญญา” รองอธิการบดี มธ.ดำเนินการ ชี้ชาวบ้านรับเงินแต่ไม่เลือกมีมาก แต่กลับพบให้สินน้ำใจเพิ่มขึ้น ชี้มาตรการ กกต.ให้ใบเหลืองไร้ผล เกิดสองมาตรฐาน ส่วนการยุบพรรคยังให้ญาติพี่น้องสงสมัครแทน แนะจัดกระบวนการชาวบ้านคิดด้วยตัวเอง และให้ลงโทษรายบุคคลโดยไม่ต้องยุบพรรค

วันนี้ (17 ส.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ”ข้อเสนอวาระแห่งชาติ : ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงอย่างยั่งยืน” โดยนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดสัมมนาฯ ว่า การซื้อสิทธิขายเสียงถือเป็นปัญหาของทุกคนและเป็นปัญหาของชาติ จึงทำให้มีการตั้ง กกต.ขึ้นมาเพื่อควบคุมให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริต โปร่งใส แต่ที่ผ่านมามี กกต.ถึง 3 ชุด ปัญหาการซื้อสิทธิจึงยังไม่หมดไป จนปัจจุบัน กกต.พยายามรณรงค์เผยแพร่ความรู้ แต่ผลงานก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ สาเหตุเชื่อว่ามาจากผู้สมัคร พรรคการเมืองมุ่งเอาชนะการเลือกตั้ง จึงทุจริตซื้อเสียงโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายทั้งในการเลือกตั้งระดับชาติและท้องถิ่น

“ประเทศไทยจนถึงวันนี้ก็ยังมีการเดินแถวรับเงิน นับว่าเป็นประเทศแปลกประหลาด น่าอายนัก ส่งผลไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ได้คนไม่ดีเข้ามาได้ทำหน้าที่เข้ามาถอนทุน ซึ่งหลังการสัมมนาครั้งนี้จะนำเสนอแผนการป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ช่วยกันป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก โดยทุกฝ่ายต้องช่วยกัน และหวังภาคประชาชนที่จะไม่รับเงิน สิ่งของจากนักการเมือง พรรคการเมือง เพราะ กกต.ทำงานเพียงฝ่ายเดียวคงไม่สัมฤทธิ์ผล” นายอภิชาตกล่าว

สำหรับผลวิจัยเรื่อง ‘การป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง’ ทางสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งได้มอบหมายให้นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะเป็นผู้ดำเนินการ โดยการวิจัยดังกล่าวได้มีการสุ่มตัวอย่างผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศจำนวน 941 คน ในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 54 ที่ผ่านมา โดยพบว่า ในส่วนการเลือกตั้งระดับชาติปัจจุบันการใช้เงินเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตนเองในการเลือกตั้งระดับชาติ มีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งน้อยลงจากเดิม และไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการแพ้หรือชนะการเลือกตั้งอีกต่อไป

โดยข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งยอมรับว่ารับเงินจากผู้สมัคร แต่ไม่เลือกผู้สมัครรายนั้น ถึงร้อยละ 46.79 และที่ตอบว่าแม้ไม่ได้รับเงินก็จะเลือก มีร้อยละ 48.62 ส่วนผู้ที่ตอบว่าเลือกเพราะได้รับเงินมีเพียง 4.59 ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการสัมมนากลุ่มย่อยของผู้นำชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ที่พบว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกผู้สมัครเพราะเงิน

นอกจากนี้ยังพบว่า ความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนที่มีเพิ่มขึ้นและความรู้สึกผิดที่รับเงินแล้วไม่เลือกหรืออาจเป็นบาปที่เลือกลดลงไป ทำให้ในการตัดสินใจเลือกตั้ง ส.ส.ระดับชาติ ปัจจุบันผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล โดยจากผลสำรวจในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 54 แม้ในแบบแบ่งเขต ซึ่งเลือกเฉพาะชอบตัวบุคคลคิดเป็นร้อยละ 46.26 ขณะที่เลือกเพราะชอบนโยบายพรรค ร้อยละ 37.64 และเลือกเพราะอยากได้หัวหน้าพรรค ร้อยละ 16.10 แต่เมื่อรวมผลสำรวจระหว่างการเลือกเพราะชอบนโยบายพรรคและอยากหัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ เท่ากับว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประชาชน เลือกพรรคมากถึงเลือกความเป็นพรรคมากกว่า 53.74 ซึ่งการนำระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนมาใช้ทำให้พรรคการเมืองต้องแข่งขันกันในทางนโยบายมากขึ้น ตัวผู้สมัครมีความสำคัญลดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกพรรคมากขึ้น ส่งผลให้การใช้เงินซื้อเสียงได้ผลน้อยลง นอกจากนี้ความแตกแยกแบ่งข้างทางการเมืองในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ยังทำให้ประชาชนพิจารณาเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล และทำให้การรับเงินแล้วไม่เลือกมีมากขึ้น

“การให้เงินปัจจุบันไม่ใช่ความสัมพันธ์ในลักษณะการซื้อและการขายเสียงอีกแล้ว เพราะการให้จะไม่มีการตรวจสอบควบคุมให้คนรับเงินต้องเลือกตนเอง แต่เป็นการให้ลักษณะให้เปล่าคล้ายเบี้ยเลี้ยงหรือสินน้ำใจ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับเงินก็ไม่รู้สึกว่าถ้าได้รับแล้วไม่เลือกจะเป็นบาปหรือเป็นการไม่ซื่อสัตย์ โดยจำนวนเงินที่มีการจ่ายกันก็เพียง 300-500 บาทไม่มากเหมือนสมัยก่อน ซึ่งผู้สมัครที่ยังใช้เงินก็รู้ว่าได้ผลน้อย แต่ที่ยังต้องจ่ายเพราะหลัวแพ้หรือกลัวว่าอีกฝ่ายให้เงินจึงต้องให้เงินด้วย”นายปริญญากล่าว

ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นการซื้อเสียงยังมีผลชี้ขาดต่อการแพ้ชนะ และจำนวนที่มีการจ่ายสูงกว่าการให้เงินในการเลือกตั้งระดับชาติ ยิ่งพื้นที่เล็กเท่าใดจำนวนเงินยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น โดยทั่วไป มักจะสูงกว่า 1 พันบาท และหลายแห่งสูงกว่า 2 พันบาท และการตัดสินใจเลือกของประชาชนจะดูตัวบุคคลมากกว่าตัวพรรค

สำหรับการประเมินผลมาตรการทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาการซื้อเสียง เห็นว่ามาตรการของ กกต.ที่สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครหรือผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง ที่เรียกว่าการให้ใบเหลืองนั้น ทั้งก่อนและหลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ไม่ได้ก่อให้เกิดผลแต่ประการใด เพราะผู้สมัครหรือผู้ที่ได้รับเลือกตั้งรายนั้นยังคงสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ได้ ขณะที่จะเกิดปัญหาในเรื่องสองมาตรฐานในการตัดสินพิจารณา เพราะก่อนการประกาศรับรองผลเป็นอำนาจเด็ดขาดของ กกต.แต่หลังการประกาศรับรองผลเป็นอำนาจของศาลฎีกา กลายเป็นความผิดเดียวกันแต่กระบวนการพิจารณาต่างกัน ซึ่งเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา การที่ศาลไม่มีวิธีพิจารณาคดีเลือกตั้งเป็นการเฉพาะและไม่กำหนดกรอบระยะเวลาบังคับทำให้การพิจารณาคดีล่าช้าเมื่อเทียบกับ กกต.ที่จะมีกรอบระยะเวลาที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีหลังการเลือกตั้ง

ส่วนการทุจริตเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาคพิจารณานั้นเห็นว่า การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาครวดเร็วกว่าศาลฎีกา ขณะที่มาตรการยุบพรรคและการตัดสิทธิการเลือกตั้ง 5 ปี นั้น เป็นมาตรการที่ไม่ได้ผล ไม่ได้ทำให้เกิดผู้สมัครหน้าใหม่ที่เป็นคนใหม่จริงๆ มีแต่ญาติพี่น้องของผู้สมัครหน้าเก่าที่ถูกตัดสิทธิ และทำให้ระบบพรรคการเมืองของไทยอ่อนแอลง เพราะเมื่อมีการยุบพรรคก็จะมีการตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิก็จะส่งพี่น้องลงมาใหม่ และมีการลดจำนวนกรรมการบริหารพรรคลง ซึ่งผู้ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่ไม่ได้ลงสมัคร

สำหรับมาตรการที่กำหนดให้การขายเสียงเป็นความผิด เว้นแต่มาแจ้งให้ กกต.ทราบภายใน 7 วัน และมีมาตรการจูงใจด้วยการให้ผู้แจ้งทุจริตได้สินบนครึ่งหนึ่งของค่าปรับ เมื่อคดีนี้ถึงที่สุด ข้อเท็จจริงพบว่า ไม่มีการมาแจ้งและดำเนินคดีเลย จึงเป็นมาตรการที่ไม่ได้ผล ทั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งพอจะทราบเหตุทุจริตแต่ที่ไม่มาแจ้งเพราะกลัวเดือดร้อน การแก้จึงต้องแก้ที่ทำอย่างไรให้ประชาชนที่รับเงินกล้าที่จะมาแจ้ง ส่วนการกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ก็ไม่ได้มีผลทำให้คนมาเลือกตั้งมากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่ที่ไปเลือกตั้งไม่ใช่เพราะถูกบังคับ ซึ่งเหตุผลของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ก็เพื่อให้คนไปเลือกตั้งมากจนการเลือกตั้งไม่ได้ผล แต่ผลที่ได้ไม่คุ้มค่าและกลับเป็นการสร้างภาระให้ กกต.โดยไม่จำเป็น ดังนั้น เหตุที่มาตรการทางกฎหมายไม่ได้ผล เพราะปัญหาการซื้อเสียงไม่ใช่การขาดมาตรการทางกฎหมาย แต่เป็นเรื่องของคนที่ไม่ทำตามกฎหมายและเป็นปัญหาระบบอุปถัมภ์ และการใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินคดีกับผู้ซื้อเสียงไม่ได้ผล ในการทำให้ผู้ร้องเรียนไว้วางใจและรู้สึกปลอดภัย

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาซื้อเสียงแบ่งเป็นสองส่วน คือ การแก้ปัญหาที่คนต้องมีการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนทำให้ประชาชนเป็นพลเมือง การมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์ว่าการซื้อเสียงเป็นความผิดได้ผลน้อยมาก ควรปรับวิธีการเผยแพร่ประชาธิปไตยจากที่เน้นไปบอกชาวบ้านว่าต้องทำอะไร หรือใช้วิธีเชิญวิทยากรไปพูดให้ชาวบ้านมีความรู้ มาเป็นการจัดกระบวนการให้ชาวบ้านคิดวิเคราะห์ปัญหาและลงมือแก้ไขปัญหาด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอนักการเมือง เพราะเมื่อชุมชนพึ่งตนเองได้ การซื้อเสียงก็จะหมดไป และเมื่อชุมชนเข้มแข็งก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่นๆ ซึ่งจะเป็นรากฐานที่เข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยและของประเทศไทยต่อไป ขณะที่ในส่วนของนักการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งทราบดีอยู่แล้วว่าการใช้เงินในปัจจุบันได้ผลน้อย จึงน่าที่จะต้องจัดกระบวนการตกลงกันของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ว่าจะไม่ใช้เงินการซื้อเสียงก็จะหมดไป แต่ในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ยังมีการใช้เงินซื้อเสียงมาก อาจทำได้ยาก แต่ก็ควรทำในกระบวนการแบบเดียวกันควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อที่การซื้อเสียงของเลือกตั้งทั้งถิ่นจะได้หมดไปภายในเวลาไม่นาน

ส่วนการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทางกฎหมายนั้น เห็นว่าการเลือกตั้งระดับชาติ ควรให้ศาลฎีกาเป็นผู้ตัดสินเพียงอย่างเดียว โดย กกต.เป็นผู้ส่งคำร้อง มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งให้มีวิธีพิจารณาเป็นการเฉพาะมีกรอบเวลาชัดเจน โดยเมื่อเลือกตั้งเสร็จให้ประกาศผลการเลือกตั้งทันที ซึ่งจะแก้ไขปัญหาสองมาตรฐาน ลดภาระกกต.เพื่อที่จะสามารถทุ่มเทให้กับภารกิจในการสอบสวนรวบรวมหลักฐานได้มากขึ้น เช่นเดียวกับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาคต่อไป แต่ต้องมีวิธีพิจารณาการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น โดยการทำสำนวนเลือกตั้งท้องถิ่นและการมีมติส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์ให้เป็นอำนาจของ กกต.จังหวัด

ส่วนมาตรการยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ควรเปลี่ยนเป็นการลงโทษและการตัดสิทธิเป็นรายบุคคลแทน โดยอาจเพิ่มโทษให้รุนแรงมากขึ้น และควรมีการยกเลิกการกำหนดให้การขายเสียงเป็นความผิด เพราะไม่ได้ผล แต่ให้คงเรื่องสินบนนำจับไว้ และควรมีระบบคุ้มครองผู้ร้องและพยานให้มากขึ้น เพื่อประชาชนจะได้กล้ามาร้องเรียนและไม่กลับคำให้การ ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งเป็นหน้าที่เพื่อลดภาระให้กกต.มาตรวจสอบว่าใครไม่ไปใช้สิทธิ์และต้องถูกตัดสิทธิ์ ส่วนที่สำคัญมากที่สุด กกต.จะต้องทำให้กกต.จังหวัด ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นในการคัดเลือกกกต.จังหวัด ต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบมากขึ้น ควรให้ประชาชนในจังหวัดร้องคัดค้านได้ ถ้าหากเห็นว่า กกต.จังหวัดคนใดไม่เป็นกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น