ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง กรณีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบางสะพาน จ.ประจวบฯ ร้องฟันนายก อบต.-กรมที่ดิน-ผู้ว่าฯ-รมว.ทส.ละเลยปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยนำป่าพรุออกเอกสารสิทธิ 18 แปลง ชี้ไม่ใช่ที่หวงห้ามอยู่ในเกณฑ์ออกหนังสือรับรองได้ แถมอธิบดีฯ ตั้ง กก.สอบแล้วจึงไม่ละเลยงาน
วันนี้ (15 ส.ค.) ที่ศาลปกครองกลาง นายสัมฤทธิ์ อ่อนคำ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวน และองค์คณะ มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านพื้นที่ป่าพรุ ป่าเสม็ด ต.แม่รำพึง ต.กำเนิดนพคุณ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวม 41 ราย ยื่นฟ้อง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่รำพึง, นายก อบต.กำเนิดนพคุณ, เจ้าพนักงานที่ดิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สาขาบางสะพาน, นายอำเภอบางสะพาน, ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, อธิบดีกรมที่ดิน, อธิบดีกรมป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องที่ 1-11 กรณีหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยปล่อยให้ผู้ถูกฟ้องที่ 6-11 นำพื้นที่ป่าพรุ ป่าชายเลน หรือป่าเสม็ด ไปออกเอกสารสิทธิจำนวน 18 แปลง รวมเนื้อที่ 310 ไร่ 74 ตารางวา
โดยศาลพิเคราะห์คำฟ้อง ข้อกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน 18 แปลง เป็นกรณีการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 จำนวน 8 แปลง และกรณีการขอออกตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองทำประโยชน์ตามมาตรา 58 จำนวน 10 แปลง ซึ่งข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานเอกสารในการออกหนังสือรับรองทำประโยชน์ น.ส.3, น.ส.3 ก. สอดคล้องกับรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงวันที่ 2 ก.ค. 50 ที่คณะกรรมการซึ่งผู้ถูกฟ้องที่ 6 ตั้งขึ้นกรณีมีผู้ร้องเรียนการออกเอกสารสิทธิ ซึ่งฟังได้ว่าการออก น.ส.3 และ น.ส.3 ก. ที่ดิน 18 แปลงระหว่างปี 2507-2523 หลักเกณฑ์ขณะนั้นเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 และฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2497) ที่ออกตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 โดยอาศัยหลักฐานเป็นแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) และได้มีการสอบสวนพิสูจน์การทำประโยชน์ ซึ่งทุกแปลงผู้ยื่นคำขอต่างยืนยันว่าได้ครอบครองและทำประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว และมีการประกาศคำขอคำรับรองเพื่อให้มีการคัดค้าน และผู้ปกครองท้องที่ก็ได้รับรองว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือที่สงวนหวงห้าม หรือที่ดินซึ่งราชการเห็นว่าควรสงวนไว้เพื่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีจำนวน 14 แปลงที่ผู้ยื่นคำขอมีหลักฐานเป็นแบบการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ กรณีจึงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเกณฑ์ที่อาจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 และ น.ส.3 ก.ให้ได้ กรณีจึงถือว่ามีการออกหนังสือรับรองตามหลักเกณฑ์ประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว
ส่วนที่เมื่อมูลนิธิสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย กล่าวหาว่ามีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินป่าพรุ ม.7 ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 22 แปลงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องที่ 6 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้เพิกถอน น.ส.3 ก.จำนวน 1 ฉบับที่มีการนำหลักฐานสำหรับที่ดินแปลงอื่นมาใช้เป็นหลักฐานแล้ว ผู้ถูกฟ้องจึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงพิพากษายกฟ้อง