วุฒิสภาเริ่มลงคะแนนเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่แล้ว!! ส.ว.เสนอชื่อ “นิคม-พิเชต-สุนันท์-เกชา” ลุ้นรอบแรก พบคะแนน “พิเชต” นำโด่งได้ 63 “นิคม” ตามมาได้ 43 แต่เหตุคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งต้องลงใหม่อีกรอบ ล่าสุดผลการลงคะแนนลับครั้งที่ 2 พบ “นิคม” ได้ 77 เสียง ส่วน “พิเชต” ได้ 69 ทำให้รอง ปธ.วุฒิฯ ได้เก้าอี้ไปครองสำเร็จ
วันนี้ (14 ส.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. การประชุมวุฒิสภานัดพิเศษ โดยมีวาระเลือกประธานวุฒิสภา แทน พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ส.ว.สรรหา ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา เหตุศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก แต่รอลงอาญา 2 ปี ฐานขึ้นเงินเดือนตนเองสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน
ทั้งนี้ สำหรับขั้นตอนการเลือกประธานวุฒิสภานั้น สมาชิกมีสิทธิ์เสนอชื่อผู้สมควรได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาได้คนละ 1 ชื่อ และต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 10 คน โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ จะต้องกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมคนละไม่เกิน 10 นาที จากนั้นจะใช้วิธีการลงคะแนนลับ ในกรณีที่มีการเสนอชื่อ 2 ชื่อให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือก แต่หากได้คะแนนเท่ากันให้เลือกใหม่อีกครั้ง โดยผู้ได้รับเลือกจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือ 73 เสียง แต่หากมีการเสนอชื่อเพียงผู้เดียว ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาทันที
ก่อนเข้าวาระ ส.ว.ได้หารือถึงขั้นตอนการลงคะแนนลับ โดยนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา หารือว่า ที่ผ่านมาพบว่ามีการถ่ายภาพการกาคะแนนในบัตรลงคะแนน จากนั้นนำไปคุยกับเพื่อน ส.ว.ได้ลงคะแนนให้กับบุคคลนั้นๆ แล้ว ซึ่งถือว่าการลงคะแนนดังกล่าวไม่เป็นความลับ ดังนั้นที่ประชุมควรหามาตรการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก
ในประเด็นข้อเสนอดังกล่าว นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนเห็นด้วย และข้อเสนอดังกล่าวถือว่าจะช่วยสร้างความโปร่งใส ดังนั้นเสนอให้ ส.ว.ที่จะลงคะแนนนำโทรศัพท์มือถือฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ก่อน ทั้งนี้ยังมี ส.ว.เลือกตั้ง อภิปรายคัดค้านข้อเสนอดังกล่าว อาทิ นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ อภิปรายว่า เลือกประธานวุฒิสภา 2 ครั้ง ไม่เห็นต้องดำเนินการอย่างที่มีผู้เสนอ วันนี้ส่อบรรยากาศไม่มั่นใจ และไม่ไว้วางใจของพวกเราต่อกันและกัน ควรทำอย่างที่เคยทำ ไม่เช่นนั้นให้เจ้าหน้าที่นำตะกร้าเก็บโทรศัพท์ของ ส.ว.เพื่อไม่ได้เสียเวลาพูดกันมาก ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ตลก แต่ขำไม่ออก น่าอาย เราเป็น ส.ว. ไม่ควรทำกันถึงขนาดนั้น
พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ ส.ว.มุกดาหาร อภิปรายว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเสนอให้เก็บโทรศัพท์ หรือตรวจร่างกายเพื่อความปลอดภัย หากต้องการเช่นนั้น แน่จริงให้ถอดกางเกง เหลือแต่กางเกงชั้นใน
“คนเราอย่าระแวงกันมากเกินไป ทำงานมาด้วยกัน 4-5 ปีแล้ว เป็นผู้ใหญ่ทั้งนั้น จะมีความระแวงเป็นเด็กๆ อยู่อีกหรือ ส.ว.ไม่ใช่อนุบาล ดังนั้นผมขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่วางไว้เป็นบรรทัดฐานในการเลือกประธานวุฒิสภาที่ผ่านมา” พ.ต.ท.จิตต์กล่าว
นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร อภิปรายว่า “ผมเห็นด้วยกับ พ.ต.ท.จิตต์ หากเช่นนั้นไม่ต้องใส่เสื้อนอก ไทไม่ต้องผูก จะได้สะอาดไร้มลทิน เราเลือกมาแล้วหลายครั้ง ไม่เคยมีการร้องเรียกกล่าวหาใดๆ โตๆ กันแล้ว ไม่อยากพูด ทุกคนมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ขอให้ดำเนินการไปตามขั้นตอน”
ขณะที่ นพ.อนันท์ อริยะชัยพาณิชย์ ส.ว.สุรินทร์ อภิปรายยอมรับว่า ที่ผ่านมาตนใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพการลงคะแนนอยู่บ่อยๆ แต่ไม่ใช่นำไปเรียกร้องเอาเงินจากบุคคลใด หรือขออามิสสินจ้างจากใคร
ต่อมาเมื่อเวลา 10.55 น. ที่ประชุมเปิดโอกาสให้มีการเสนอชื่อบุคคลที่จะเข้ารับการคัดเลือกเป็นประธานวุฒิสภา โดยนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เสนอชื่อ นายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา, นางเกศินี แจวัฒนะ ส.ว.อยุธยา เสนอชื่อน.ส.สุนันท์ สิงห์สมบูรณ์ ส.ว.สรรหา, นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ส.ว.สรรหา เสนอชื่อของนายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา และนายพรพจน์ กังวาร ส.ว.ระนอง เสนอชื่อนายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี
จากนั้นนางพรทิพย์ โล่ห์จันทระปรีดา รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ขึ้นทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจับฉลากเพื่อลำดับการขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ และให้แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม
โดย น.ส.สุนันท์ ซึ่งจับฉลากเป็นผู้แสดงวิสัยทัศน์คนแรก กล่าวว่า หากตนได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภาหญิงคนแรก ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ที่ไม่ด้อยไปกว่าสตรีที่บทบาทสำคัญในเวทีโลก เช่น นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา นางอองซาน ซูจี และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ นอกจากนั้นจะทำงานด้วยความเป็นกลาง ด้วยความเข้มแข็ง และพาวุฒิสภาไปสู่ความสำเร็จ
ต่อด้วยนายพิเชต แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่า ตนไม่ถือว่าเป็นผู้แทนของ ส.ว.สรรหา ให้ประชันแข่งกับผู้แทนของ ส.ว.เลือกต้ง เพราะยึดว่าการสรรหาหรือเลือกตั้งเป็นเพียงวิธีการให้ได้มาซึ่ง ส.ว.ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น และเมื่อมาเป็น ส.ว.แล้วล้วนมีบทบาทความรับผิดชอบเหมือนกันหมด ตนมองว่าหากยึดติดกับที่มาของส.ว.จะไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่สามารถสร้างความาสมานฉันท์ หรือปรองดองได้ หากใครถามว่าตนว่าอยู่สีไหน ตนตอบด้วยความมั่นใจคือ สีแดง ขาว น้ำเงิน คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
“หากได้รับการสนับสนุน ยืนยันจะทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แม้วุฒิสภาเป็นส่วนหนึ่งการเมือง แต่จะไม่นำไปเป็นปัญหาทางการเมือง อยากเห็นวุฒิสภาเป็นกุญแจสำคัญในการขจัดความขัดแย้งในสังคม ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ต้องการความร่วมมือจาก ส.ว.ทุกคน ผมจะทำงานแบบเปิดกว้าง และรับฟังความคิดเห็น ผมจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องสุขภาพของผมยืนยันว่าแข็งแรง” นายพิเชตแสดงวิสัยทัศน์
ตามด้วย นายเกชากล่าวว่า ตนจะตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่วนรวม มุ่งมั่น ทำงานเพื่อประเทศชาติ และฝ่ายนิติบัญญัติ หากได้รับเลือกประธานวุฒิสภาจะควบคุมการบริหารราชการ ทำหน้าที่เป็นกลาง ปราศจาคอคติ เพื่อรักษาภาพพจน์รัฐสภา วุฒิสภา และประเทศชาติ ที่จะปรากฎสู่สายตาประเทศและประชมคมโลก นอกจากนั้นจะทำงานด้วยความเสมอภาค ให้เกียรติ ส.ว.ทุกคน พร้อมยอมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ส่งเสริมให้เกิดความปรองดอง ผลักดันการทำงานทุกๆ ด้านให้มีประสิทธิภาพ ยึดข้อบังคับประชุม และประมวลจริธยธรรมวุฒิสภานอกจากนั้นจะสนับสนุนการทำงานของกรรมาธิการอย่างเต็มที่ รวมถึงพัฒนาองค์กรวุฒิสภาให้มีความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
“ผมขอโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ เข้ามาทำงานตามเจตนารมย์ที่วางไว้ว่าจะทำงานเพื่อประชาชน และประเทศชาติ โดยผมจะอุทิศเวลาให้กับการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งทำงานโปร่งใส ซื่อสัตย์ และจะคิดหรือตัดสินใจด้วยตนเอง” นายเกชากล่าว
จากนั้น นายนิคมกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ว่า ตลอดเวลา 4 ปีที่ทำหน้าที่ในตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 พิสูจน์ให้เห็นแล้วได้ทำให้องค์กรวุฒิสภาเป็นที่พึ่งของประชาชน ปราศจากการครอบงำทางการเมือง ซึ่งตนมีวิสัยทัศน์ที่จะเสนอ 4 ประการ คือ 1. จะทำหน้าหน้าที่อย่างเป็นกลาง ยึดหลักกฎหมาย นิติรัฐ และนิติธรรม ซึ่งบุคคลที่จะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้ ต้องรอบรู้ ชัดเจนในระเบียบข้อบังคับการประชุมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นแล้วจะไม่ทำหน้าที่ตามการกดดันของพรรคการเมืองหรือตามกระแสสังคม 2. ส่งเสริมการทำงานของกรรมาธิการให้มีความเข้มแข็ง ทำงานอย่างมีอิสระ ซึ่งที่ผ่านมาผลการทำงานของกรรมาธิการไม่ได้นำไปสู่ภาคปฏิบัติ ดังนั้นตนจะผลักดันให้รายงานผลการศึกษาของกรรมาธิการนำไปสู่การปฏิบัติ แก้ไข 3. สร้างความเข้มแข็งในการสรรหา คัดกรอง บุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ นอกจากนั้นจะสนับสนุนการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ และ 4. จะทำให้ ส.ว.เป็นองค์กรหลักในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
“ผมจะเพิ่มงบประมาณในส่วนของกรรมาธิการให้มากขึ้น โดยจะนำงบประมาณส่วนของประธานวุฒิสภา ไปสนับสนุนให้เกิดการทำงานที่เข้มแข็ง นอกจากนั้นผมมีจุดแข็ง คือ ทำงานมาทุกตำแหน่ง ทั้งบริหารการคลัง แพทย์ สาธารณสุข และผมเป็นคนความจำดี ผมขอโอกาสให้ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา เพราะขณะนี้เหลือการดำรงตำแหน่งอีก 1 ปีครึ่งเท่านั้น” นายนิคมกล่าว
จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภาได้ลงคะแนนเลือก โดยเป็นการลงคะแนนลับ อย่างไรก็ตามก่อนการลงคะแนน ได้มีส.ว.หารือถึงประเด็นการนับองค์ประชุมว่าจะใช้จำนวนผู้มาลงชื่อเข้าประชุม หรือจำนวนผู้มาแสดงตน ทั้งนี้จากการหารือกันนานเกือบ 1ชั่วโมงที่ประชุมสรุปให้ยึดจำนวนผู้ที่มาลงชื่อเข้าประชุม คือ 146 คน
โดยผลการลงคะแนนลับครั้งแรก ปรากฏว่า นายพิเชต ได้ 63 คะแนน นายนิคม ได้ 46 คะแนน นายเกชา ได้ 35 คะแนน และน.ส.สุนันท์ ได้ 2 คะแนน ซึ่งผลปรากฏว่า นายพิเชต ที่ได้คะแนนสูงสุดแต่กลับไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก คือ 73 คะแนน จึงต้องลงคะแนนเลือกกันใหม่อีกครั้งหนึ่งกับผู้ที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 คือ นายนิคม ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการลงคะแนนอีกครั้งหนึ่ง
ล่าสุดมีรายงานว่า หลังจากลงคะแนนลับเสร็จสิ้นแล้ว พบว่า นายนิคม ได้ 77 คะแนน ขณะที่นายพิเชต ได้ 69 คะแนน ทำให้นายนิคมได้เป็นประธานวุฒิสภาคนต่อไป