xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.โอด ครม.เมิน กม.ลูกเปิดเผยราคากลาง ชี้ทำตรวจสอบได้ แย้มผุดคุ้มครองพยาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ป.ป.ช.จัดงานรวมพลคนต้านทุจริต ปธ.ปาฐกถาพิเศษความโปร่งใสกับการพัฒนาสังคมไทย ชี้การบริหารงานภาครัฐต้องชัดเจน ข้อมูลข่าวสารต้องโปร่งใส ใช้กฎหมายเสมอภาค ยันระเบียบเปิดเผยราคากลางใน กม.ลูกทำให้ตรวจสอบได้ แต่ ครม.กลับทำเฉย ระบุภาคการเมืองไม่ร่วมมือทำปัญหาคอร์รัปชันไม่ดีขึ้น ด้าน “วิชา” รับกำลังถก ก.พ.ออกระเบียบคุ้มครองพยาน

วันนี้ (6 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรม “รวมพลคนต้านการทุจริต” ตามโครงการพัฒนาเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล ขณะที่ในช่วงบ่ายได้เชิญตัวแทนภาคเอกชนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย โดยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความโปร่งใสกับการพัฒนาสังคมไทย” ตอนหนึ่งว่า ความโปร่งใส คือ ความสว่างที่จะมองเห็นทั้งหมด สำหรับประเทศไทยความโปร่งใส จะเน้นไปที่กิจกรรมการบริหารงานภาครัฐ ซึ่งต้องมีความชัดเจน กล่าวคือจะทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับสาธารณชนต้องชัดเจน ต้องบอกล่วงหน้าว่าจะทำอะไร มีแนวทาง มีวัตถุประสงค์อย่างไร ใครได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ รวมถึงมีมาตรการป้องกันความเสี่ยง เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นด้วย

ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า หากกระบวนการของความโปร่งใสเกิดขึ้นได้ ผลที่จะตามมาคือความศรัทธา ความไว้วางใจจากประชาชน สังคม ก่อนนำไปสู่การพัฒนาร่วมกัน และความโปร่งใสนี่เองจะเป็นตัวกลาง ที่จะเชื่อมความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน ไปสู่หน่วยงาน เป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาประเทศ และสังคม ขณะที่หลักของความโปร่งใสมีหลักประกันเริ่มต้น ตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญ จากกรณีสิทธิที่จะรับรู้ข่าวสารข้อมูลสาธารณะ ตามมาตรา 56 และความโปร่งใสนี้ยังเป็นตัวกลางที่อยู่ในหลักธรรมาภิบาล โดยเป็นหนึ่งในเสาหลักของความมีธรรมาภิบาล ควบคู่กับหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นความเสมอภาคในการใช้กฎหมาย หลักคุณธรรมที่เป็นความถูกต้อง ดีงาม หลักความมีเมตตาธรรม หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ รวมไปถึงความคุ้มค่าด้วย

ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า สำหรับ ป.ป.ช.เองก็มีการออกระเบียบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส มีการวางระเบียบให้มีการเปิดเผยราคากลางไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ระบุโดยให้หน่วยงานของรัฐไปจัดทำรายละเอียดราคากลาง พร้อมบอกรายละเอียดการคำนวณว่ามาจากส่วนใดบ้าง สามารถให้ประชาชนตรวจสอบได้ ซึ่ง ป.ป.ช.เคยเสนอกฎระเบียบไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว แต่ ครม.ยังไม่ได้ดำเนินการ

“การทุจริตยังเป็นปัญหาและตัวลิดรอนความเจริญของประเทศไทย จึงมีความจำเป็นที่ต้องให้เกิดความโปร่งใส โดยอาศัยความจริงใจจากภาครัฐ เพราะไทยกำลังเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 เพื่อให้ประเทศไทยสามารถยืนหยัดในเวทีนานาชาติอย่างมีความสง่างาม โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีชี้วัดปัญหาคอร์รัปชันและความโปร่งใสของไทย ยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้นมาจาการขาดความร่วมมือจากภาคการเมือง” นายปานเทพกล่าว

จากนั้นที่ประชุมได้ประกาศเจตนารมณ์เครือข่าย ป.ป.ช.จำนวน 3 ข้อ ได้แก่ 1. การส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการของภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจเอกชน และทุกภาคส่วนให้ใช้หลักธรรมาภิบาล บรรษัทภิบาล ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะความโปร่งใสและความซื่อสัตย์สุจริต 2. กล้ายืนหยัดที่จะเฝ้าระวังตรวจสอบการใช้อำนาจ หรือการดำเนินงานของภาครัฐ ชอบธรรม รวมทั้งแจ้งข้อมูลเบาะแส อันจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 3. การถือว่าการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต เป็นภารกิจของทุกคนในชาติ และเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ตลอดจนสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อขยายผลเจตนารมณ์ให้กว้างขวางครอบคลุมทั่วแผ่นดินไทย

ด้าน นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บรรยายพิเศษเรื่อง “เทคนิคการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพยาน” ตอนหนึ่งว่า ในกฎหมายฉบับใหม่ที่มีการบังคับใช้นั้นได้มีการคุ้มครองพยานมากขึ้น และการคุ้มครองไม่ได้หมายถึงการคุ้มครองพยานบุคคลอย่างเดียว แต่พยานในที่นี้เหมายถึงทุกส่วน ตั้งแต่คนที่มาชี้ข้อมูลเบาะแส ข้อมูลเอกสาร หรือข้าราชการที่แจ้งข้อมูลเปิดเผยการทุจริต ทั้งนี้ การคุ้มครองพยานที่เป็นข้าราชการก็ต้องมีมาตรการพิเศษ เพราะการเปิดเผยข้อมูลทุจริตที่เกี่ยวกับผู้บังคับบัญชานั้นอาจจะถูกโยกย้ายไม่เป็นธรรม หรือบางกรณีก็อาจจะอยากย้ายเพราะไม่ต้องการทำงานกับผู้บังคับบัญชาคนเก่า ดังนั้นจึงต้องมีระเบียบที่จะสมควรได้รับการโยกย้ายและไม่ถูกกลั่นแกล้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม ซึ่งประเด็นนี้ ป.ป.ช.อยู่ระหว่างการหารือกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.ร.) เพื่อหาแนวทางบังคับใช้ระเบียบต่อไป

นายวิชากล่าวว่า นอกจากนี้ระเบียบใหม่ยังให้มีการจัดตั้ง ป.ป.ช.จังหวัด เพื่อเชื่อมโยงงานกับ ป.ป.ช.ส่วนกลาง กล่าวคือ กระบวนการตรวจสอบจะเริ่มตั้งแต่ในพื้นที่ มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น เป็นการทำงานเชิงรุก

“ขบวนการโกงตอนนี้ไม่ได้ทำคนเดียว แต่ทำกันระบบที่ต้องหาคนร่วมโกงด้วย ขบวนการโกงทั้งหลายมีตั้งแต่รุ่นเล็กไปถึงระดับชาติกระทำกันเป็นทอดๆ จนกลายเป็นระบบอุปถัมภ์เพื่อชื้อโกง เพราะเชื้อชั่วไม่มีวันตายเหมือนเป็นมะเร็งร้าย” นายวิชากล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น