ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ประธาน ป.ป.ช.ขึ้นเชียงใหม่มอบรางวัลบรรษัทภิบาลดีเด่นให้ 2 บริษัทพื้นที่ภาคเหนือ ระบุบริษัทที่ทำดี ไม่ทุจริต ใส่ใจสังคมต้องช่วยกันยกย่อง พร้อมหวังบริษัทอื่นๆ หันมาทำตาม ชี้ทุจริตเหมือนของแสลงอาจถูกปากแต่สุดท้ายก็เป็นภัยแก่ตัว แนะทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไข ย้ำประเทศอยู่ลำบากหากประชาชนเชื่อโกงก็ได้ถ้าทุกคนได้ประโยชน์
วันนี้ (26 ก.ย.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลบรรษัทภิบาลดีเด่น ภาคเหนือ ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคารคณะบริหารธุรกิจ อาคาร 2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนายฤทธิพงศ์ เตชะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายสรภพ เชื้อดำรง รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ให้การต้อนรับ
พิธีมอบรางวัลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ขับเคลื่อนกลไกธรรมาภิบาลภาคธุรกิจเอกชน” ที่ ป.ป.ช.ดำเนินการร่วมกับหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่มีการมอบรางวัลดังกล่าว ภายใต้เป้าหมายที่มุ่งรณรงค์และเสริมสร้างวัฒนธรรมความสุจริต และส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจเอกชน ผ่านการมอบรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูกลุ่มผู้ประกอบการค้าหรือสมาชิกหอการค้าจังหวัดที่มีแนวทางการประกอบธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส และซื่อสัตย์สุจริต
ในการคัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับรางวัลจะมีคณะกรรมการจรรยาบรรณหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหอการค้าจังหวัดที่เกี่ยวข้องเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ และพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรได้รับรางวัลในระดับภูมิภาคจากทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ
สำหรับภาคธุรกิจเอกชนในภาคเหนือที่ได้รับรางวัลบรรษัทภิบาลดีเด่น 5 ภูมิภาค ภาคเหนือ ประจำปี 2555 มีทั้งสิ้น 2 ราย ได้แก่ บริษัท อีจิซเทค จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ และบริษัท หมูอินเตอร์ฟาร์ม จำกัด จังหวัดลำพูน
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การมอบรางวัลในครั้งนี้เป็นการยกย่องเชิดชูและสร้างขวัญกำลังใจแก่บริษัทที่ดำเนินการอย่างสุจริต โปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่บริษัทอื่นๆ รวมทั้งเพื่อให้บริษัทเหล่านี้ได้ชักนำให้บริษัทอื่นๆ หันมาให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจสมัยใหม่ควรปฏิบัติ รวมทั้งเพื่อให้บริษัทต่างๆ ได้ร่วมกันต่อต้านการทุจริต ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมเป็นอย่างมาก
ขณะเดียวกัน การจัดพิธีดังกล่าวขึ้นในสถานศึกษาก็เพื่อเป็นตัวอย่างให้นักศึกษาได้เห็นว่ามีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสแล้วสามารถดำรงอยู่ รวมทั้งมีความเจริญก้าวหน้าได้โดยที่ไม่ต้องทุจริตแต่อย่างใด
นายปานเทพกล่าวต่อไปว่า สำหรับตนแล้วคิดว่าการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลร้ายต่อสังคมรุนแรงพอๆ กับปัญหายาเสพติด ถือเป็นเรื่องที่กัดกร่อนความก้าวหน้าของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าเราคงไม่สามารถทำให้การทุจริตหายไปหมดได้ ดังนั้นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำก็คือ ช่วยกันทำให้การทุจริตลดลง เพื่อไม่ให้สังคมในยุคของลูกหลานไม่เหลืออะไร บางคนอาจจะบอกว่าเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่จะต้องดูแลเรื่องดังกล่าว แต่การปราบปรามการทุจริตนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย อีกทั้งหน้าที่ดังกล่าวเป็นของทุกคนในสังคมที่จะต้องช่วยเหลือกัน มากกว่าจะโยนภาระไว้ที่ ป.ป.ช.เพียงฝ่ายเดียว
ประธานกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวด้วยว่า ต้องขอชื่นชมภาคเอกชน โดยเฉพาะนายดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานสภาหอการค้าไทยที่ริเริ่มและให้ความสำคัญต่อการต่อต้านการทุจริตในสังคมไทย ทุกวันนี้เราได้เห็นผลการสำรวจความคิดเห็นที่ว่ายอมรับการโกงได้หากทุกคนได้รับประโยชน์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก หากสังคมเชื่อเช่นนี้กันหมดแล้วประเทศชาติก็อยู่ได้ลำบาก ในมุมมองของตนการทุจริตก็เหมือนกับการกินของแสลง แม้จะอร่อยถูกปากในตอนแรกแต่ท้ายที่สุดก็เป็นผลร้ายต่อร่างกาย ดังนั้นเราต้องทำให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าหากไม่มีการทุจริตประเทศชาติจะก้าวหน้าไปได้ไกลกว่านี้