xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อไทยถอย“แก้รธน.-กม.ปรองดอง” ประชาธิปัตย์รุกหนักเชือด“ยิ่งลักษณ์”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญกันไปแล้วเมื่อ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยประชุมสภาฯวันแรกใช้เวลาไม่นานนัก ก็ปิดประชุม

กรอบเบื้องต้นที่สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรวางไว้และแจ้งต่อที่ประชุมสภาฯวันดังกล่าวก็คือ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไปรอบนี้ จะให้การประชุมในทุกวันพุธเป็นการพิจารณาร่างกฎหมาย ส่วนการประชุมในวันพฤหัสบดีให้พิจารณาเรื่องไม่เกี่ยวกับกฎหมาย เช่นรายงานของคณะกรรมาธิการฯชุดต่างๆ เป็นต้น

ซึ่งก็เป็นหลักปกติของการประชุมสภาฯอยู่แล้ว แต่ก็จะทำให้ได้รู้ว่าต่อไปการประชุมสภาฯทุกวันพฤหัสบดี จากเดิมที่อาจมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ต่างๆ ที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระแต่ต่อไปก็จะไม่มีแล้ว

เมื่อสภาฯเปิดประชุมกันแล้ว ทำให้นับจากนี้สังคมก็ต้องติดตามกันว่า ประชุมสภาฯรอบนี้จะเป็นอย่างไร มีอะไรต้องให้ติดตามตรวจสอบกันต่อไป

แม้ล่าสุดดูเหมือนว่าฝ่ายพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด จะยอมถอยร่นในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการออกพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ หรือกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิดให้กับทักษิณ ชินวัตรกับพวก

แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะหากเมื่อใดนายใหญ่ ทักษิณ ชินวัตร สั่งการมายังลูกสมุนในพรรคเพื่อไทยให้เร่งรัดดำเนินการทั้งการออกกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิดหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เชื่อได้ว่าบรรดาพลพรรคในรัฐบาลและในพรรคเพื่อไทยจะต้องขมีขมันดำเนินการเอาให้ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งโดยเฉพาะการออกกฎหมายปรองดอง

ขณะที่เรื่องการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้เห็นแน่นอน และเป้าใหญ่ก็คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆ คงเป็นแค่ตัวประกอบเท่านั้น

“ทีมข่าวการเมือง”ขอโฟกัสเรื่องสำคัญๆที่จะเกิดขึ้นในสภาฯในช่วงสมัยประชุมนี้ว่ามีเรื่องอะไรต้องติดตามและควรเฝ้าจับตามอง

เริ่มจากเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ชัดเจนระดับหนึ่งว่า ทักษิณ ชินวัตรและเพื่อไทย ยังคงต้องการจะฉีกรัฐธรรมนูญปี 50 ต่อไปแต่เพื่อให้ทุกย่างก้าวเป็นไปด้วยความรอบคอบ ไม่ต้องมาสะดุดอีก ดังนั้นก็จะทำอย่างรอบคอบมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันเรื่องจะให้ยกเลิกหรือล้มเลิกไปนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะทักษิณและเพื่อไทยมีหลักคิดเดียวกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลเพื่อไทย

ดังนั้นก็ต้องล้มเลิกหรือฉีกทิ้งให้ได้ หากไม่ได้ก็ต้องแก้ไขรายมาตรา เพื่อลดทอนอำนาจของฝั่งตรงกันข้ามไม่ให้มีฤทธิ์มีเดชมากนัก โดยเฉพาะพวกองค์กรอิสระทั้งหลายและศาลด้วยโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ

การที่พรรคร่วมรัฐบาลมีมติออกแถลงการณ์กลางโรงแรมมิราเคิล เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 55 หลังการประชุมพรรคร่วมรัฐบาล แม้ดูแล้วอาจเหมือนกับว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะยอมถอยไม่เร่งรัดดำเนินการทั้งการโหวตรับรองร่างแก้ไขรธน.วาระ 3 แต่ก็เป็นการถอยเพื่อรอตั้งหลักทำการใหญ่เสียมากกว่า เนื่องจากหากดูแถลงการณ์พรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าวรวมถึงพวกที่อยู่ในคณะทำงานศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็พอเห็นเค้าลางบางอย่างได้ว่า เป็นการถอยเพื่อรอทำการใหญ่ในอนาคต

สำหรับเนื้อหาในแถลงการณ์พรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าวมีใจความสำคัญก็คือ

1.ให้จัดตั้งคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบและเร่งด่วน ทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการเพื่อเป็นแนวทางให้พรรคร่วมรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ได้ร่วมกันพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสมให้แก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป ภายใต้บริบทของการทำความเข้าใจและการร่วมมือกันของทุกฝ่าย

2.ในระหว่างการรอผลการศึกษาของคณะทำงานดังกล่าว ควรจะมีการชะลอการลงมติในวาระที่ 3 ไปสักระยะหนึ่งก่อน

3.ให้สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลโดยการร่วมมือกับทุกภาคส่วน รณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความมุ่นมั่นของพรรคร่วมรัฐบาลที่กล่าวมาข้างต้น โดยเน้นการสถาปนาหลักนิติรัฐ นิติธรรม ให้ปรากฏเป็นจริงในสังคม เพื่อให้สามารถบริหารและพัฒนาประเทศไปได้ตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา

ทั้งนี้คณะทำงานศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะมีตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดมาร่วมเป็นคณะทำงานอันประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 7 คน ได้แก่ นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา นายวราเทพ รัตนากร อดีตรมช.คลัง นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการ ผอ.พรรคเพื่อไทย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรมว.ยุติธรรม นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร และนายสามารถ แก้วมีชัย

ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา 2 คน ได้แก่ นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง นายชยุต ภุมมะกาญจนะ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคชาติพัฒนา 1 คน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ส.ส.นครราชสีมา และพรรคพลังชล 1 คน คือ นายสันตศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

เบื้องต้น คณะทำงานฯ ชุดนี้มีหน้าที่ศึกษาประเด็นต่างๆที่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าสิ่งใดมีผลผูกพันและไม่ผูกพัน เพื่อนำไปสู่การพิจารณาโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าสามารถโหวตในวาระ3 ได้หรือไม่ หรือหากมีการแก้ไขเป็นรายมาตรา จะแก้ไขในประเด็นใดบ้าง โดยคาดกันว่าน่าจะใช้เวลาศึกษาทุกอย่างอย่างน้อยก็ประมาณ 3-4 เดือน

มองดูแล้วคณะทำงานชุดนี้ คงไม่พ้นโภคิน พลกุลจะต้องมานั่งกุมบังเหียน คุมทิศทางการแก้ไขรธน.ของรัฐบาล ด้วยการนั่งเป็นประธานคณะทำงานชุดนี้แน่นอนและมีการเคาะกันมาแล้วว่าจะนัดประชุมนัดแรก 7 สิงหาคมนี้

ดูจากรายชื่อทั้งหมดแล้วก็ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้นเป็นแค่พวกนักเลือกตั้ง-นักการเมืองที่มองประชาธิปไตยเพียงแค่สิ่งที่ต้องนำมาสร้างประโยชน์ให้แต่กับฝ่ายตัวเองและต้องใช้รัฐธรรมนูญมาสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับฝ่ายตัวเองมากที่สุด ดังนั้นพวกนี้ก็ต้องจะหาช่องทางอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่การรื้อทำลายหรือชำเรารัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ได้

ยิ่งหากสำรวจแนวคิดการเมืองและรัฐธรรมนูญของโภคินที่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนรวมถึงตอนที่ไปเป็นพยานฝั่งผู้ถูกร้องในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญในชั้นศาลรธน.ก็จะเห็นได้ว่า โภคินมีแนวคิดเรื่องการให้แก้ไขรธน.ทั้งฉบับผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าแก้ไขรธน.รายมาตรา รวมถึงเป็นคนซึ่งไม่ยอมรับคำสั่งของศาลรธน.ในคดีนี้มาตลอดตั้งแต่การรับคำร้องไว้พิจารณาจนถึงคำวินิจฉัยของศาลรธน.ที่ออกมา

แนวทางของคณะทำงานชุดนี้ โภคินน่าจะมีบทบาทสำคัญอย่างมาก แต่จะออกมาแบบไหนต้องรอให้กรรมการชุดนี้ได้เริ่มทำงานไปสักระยะก่อน

ส่วนเรื่องกฎหมายปรองดองนั้น เวลานี้ก็ชัดเจนอีกเช่นกันว่า ยังอยู่ระหว่างการชะลอเรื่องเอาไว้ แม้จะเป็นเรื่องที่ค้างการพิจารณาเป็นวาระแรกของระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฏรก็ตาม ซึ่งแม้ฝ่ายผู้เสนอกฎหมายทั้งพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ-สามารถ แก้วมีชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทยและคณะ-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทยและคณะ จะยังไม่ได้ถอนร่างกฎหมายออกจากสภาฯ แต่ทางรัฐบาลโดยเฉพาะวิปรัฐบาลก็ชัดเจนระดับหนึ่งว่า จะยังไม่ผลักดันให้สภาฯพิจารณากฎหมายปรองดองในช่วงนี้

โดยอ้างว่าจะขอรอผลการทำประชาเสวนาทั่วประเทศเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชน ต่อร่างกฎหมายปรองดองก่อนแล้วค่อยว่ากัน ซึ่งกระบวนการประชาเสวนาดังกล่าวพบว่า กรมการพัฒนาชุมชน ยังเพิ่งจะวางแผนดำเนินการเท่านั้น ยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่างโดยเฉพาะการไปตั้งเวทีประชาเสวนากับประชาชนทั่วประเทศ

หากเป็นไปตามนี้คือรอผลประชาเสวนาก่อน ไม่มีการลักไก่จู่ๆ ก็ดันกฎหมายปรองดองเข้าสภาฯเลยแบบเล่นทีเผลอ ก็เชื่อว่า กว่ากฎหมายปรองดองจะเข้าสภาฯก็อาจไปช่วงประชุมสภาฯสมัยหน้าก็ได้

เว้นแต่มีการเร่งทำประชาเสวนาให้เร็วขึ้นและทำแบบรวบรัด แล้วเอาผลประชาเสวนามาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการออกกม.ปรองดอง แบบนี้ก็เชื่อว่าแรงต้านกฎหมายนิรโทษกรรมคงเกิดขึ้นตามมาแน่นอน

ส่วนเรื่องการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านนั้น เวลานี้ยังอยู่ในช่วงการดูข้อมูลหลายอย่างของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์อยู่ ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ว่าจะอภิปรายแบบไหน จะอภิปรายนายกรัฐมนตรีคนเดียวหรืออภิปรายรัฐมนตรีคนอื่นพ่วงไปด้วยในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจเช่น เรื่องการรับจำนำข้าว -ความผิดพลาดในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ เป็นต้น

ซึ่งความชัดเจนตรงนี้ต้องรอไปจนกว่าจะถึงช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงจะเริ่มเห็นรูปเห็นร่าง ตอนนี้ฝ่ายค้านก็แบ่งทีมแยกกันเก็บข้อมูลเรื่องลับๆของรัฐบาลกันไปก่อน ถึงเวลาค่อยมาประชุมกันว่าจะเชือดยิ่งลักษณ์แบบไหน ให้ตายคาสภาฯให้ได้

ประชุมสภาฯ รอบนี้ ดูแล้ว เมื่อการแก้ไขรธน.-การออกกม.ปรองดอง ฝ่ายรัฐบาลถอยร่นไปแล้ว ก็เหลือแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเป็นไฮไลท์สำคัญให้ผู้คนคอยติดตาม แต่ปชป.จะทำการบ้านมาได้ดีแค่ไหน หลายคนยังเชื่อในคำพูดที่ว่า

ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ได้ดีกว่าเป็นรัฐบาล!
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
กำลังโหลดความคิดเห็น