ประธานสภาฯ ยันไม่เคยพูดให้ถอนปรองดอง ย้ำแค่ยื้อไปก่อน อ้างไม่ใช่หน้าที่ ไม่มีอำนาจไปขอให้คนชงถอนออก โยนมติสมาชิกโหวตเท่านั้น เผยเพื่อไทยกำลังถกอยู่ เชื่อมีข้อสรุปร่วมพรรคร่วมแน่ รับหนุนแก้ รธน.รายมาตราแทน อ้างสำนักเลขาฯ ของบฯ พันล้านตั้ง ส.ส.ร.แค่เตรียมการเหตุร่างจ่อวาระ 3 แล้ว คาดมีมติเอายังไงต่อก่อน 8 ส.ค. ลั่นไม่ได้ทำเพื่อคนคนเดียว
วันนี้ (30 ก.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.15 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรถอนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ... จำนวน 4 ฉบับ ออกจากระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ตนขอยืนยันว่าไม่เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะให้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ มีแต่ให้สัมภาษณ์บอกว่าเห็นควรให้ยื้อออกไปก่อน เพื่อที่จะให้มีการทำประชาเสวนา และตนเคยให้สัมภาษณ์อีกว่าไม่เคยไปพูดกับเจ้าของญัตติให้ถอนร่างฯ ออกไป เพราะไม่ใช่หน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องไปคุยกับผู้เสนอ เรื่องนี้เป็นอำนาจของที่ประชุม เป็นเรื่องของสมาชิก และคำตอบสุดท้ายที่จะถอนก็ต้องเป็นมติของสมาชิก ซึ่งในความเห็นของตนยืนยันว่าต้องยื้อร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ออกไปก่อนและทำประชาเสวนาเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตรงนี้จะเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งให้หลายฝ่ายหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ก็ต้องรอมติของที่ประชุม ส.ส. ซึ่งตอนนี้พรรคเพื่อไทยกำลังประชุมหารือ รวมถึงจะหารือร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลและก็จะมีข้อสรุปออกมา เมื่อถามว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะนำมวลชนมาปิดล้อมสภาฯ ในวันที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ นายสมศักดิ์กล่าวว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 ส.ค.นี้ตนได้เรียกประชุมนัดพิเศษ ซึ่งไม่มีญัตติเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองฯ และไม่มีการหารือในประเด็นนี้ เพื่อที่จะได้รอคำตอบจากพรรคร่วมรัฐบาลว่าเห็นอย่างไร
เมื่อถามว่าหลายฝ่ายอยากให้ประธานสภาฯ ถอนญัตตินี้ออกไปเลย นายสมศักดิ์ กล่าวยืนยันว่าตนไม่มีอำนาจ ต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่อำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎร และที่ผ่านมาตนก็ได้ไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องหาคนที่เห็นด้วยกับเราในหลักการที่เราอยากให้ยื้ออกไปก่อน
ประธานสภาผู้แทนราษฎรยังกล่าวถึงกรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรกล่าวถึงกรณีทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยที่มีแนวโน้มว่าจะให้แก้ไขเป็นรายมาตราว่า ตนเคยให้สัมภาษณ์ตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ก.ค.ว่า เห็นว่าแนวทางที่น่าจะไม่มีปัญหาคือการแก้รายมาตราเพราะไม่ต้องไปตีความให้ยุ่งยาก เมื่อถามว่าการที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เสนองบประมาณจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เพื่อใช้กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 1,000 ล้านบาท นายสมศักดิ์กล่าวว่า ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต้องเตรียมความพร้อมไว้ก่อน เพราะถ้าถึงเวลาแล้วอาจจะไม่ทันการณ์ และเป็นไปตามขั้นตอน เพราะตอนนี้ถึงการลงมติวาระ 3 จึงต้องมีการของบประมาณตรงนี้ไว้รองรับ และสมมติว่ามีการถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ออกไปตรงนี้งบประมาณก็ต้องถอนออกไปด้วยก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเป็นการเตรียมการเท่านั้นเอง
เมื่อถามว่า กังวลเรื่องเหตุความวุ่นวายในสภาฯ เพราะฝ่ายค้านก็ไม่เห็นด้วยกับทั้งร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ...และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า ทั้ง 2 เรื่องยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปของสมาชิกว่าจะมีมติในเรื่องดังกล่าวอย่างไรก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 8 ส.ค.นี้ ส่วนที่กลุ่มพันธมิตรฯ ยืนยันว่าไม่ว่าจะเลื่อนไปวันไหนก็ต้องพร้อมที่จะมาชุมนุมทันทีหากมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ นั้น ตนก็ทำได้ดีที่สุดแค่เลื่อนออกไปเท่านั้น ข้อสรุปต้องขึ้นกับสมาชิก
“ผมเป็นเพียงแค่ผู้ดำเนินรายการ ไม่มีอำนาจไปทำอะไรหรือไปสั่งใคร ซึ่งจุดยืนของผมยืนยันว่าให้ยื้อออกไปไม่ใช่ให้ถอนร่าง ส่วนจะยื้อในรูปแบบไหนก็ไปว่ากันอีกที ขอยืนยันว่าไม่ได้ทำเพื่อคนคนเดียวแน่นอน มองผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก” นายสมศักดิ์กล่าว