"อุดมเดช" เผยวิปรัฐบาล เตรียมชง 2 ทางเลือกแก้ รธน. ทั้งฉบับ หรือแก้เป็นรายมาตรา ให้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลตัดสินใจ รับหากโหว9 วาระ 3 กลัวเสียงไม่พอ แถมอาจถูกยื่นศาลฯวินิจฉัยอีกรอบ ยัน 1 ส.ค.ไม่พิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดอง วอนพันธมิตรฯ อย่านำมวลชนมาชุมนุม เล็งดึงทุกภาคส่วนรวม พร้อมเสนอฝ่ายค้านยื่นร่างกฎหมายประกบ
นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวภายหลังการประชุมวิปรัฐบาล ว่าในวันนี้ (30 ก.ค.) มีการหารือเรื่องระเบียบวาระการประชุมสภาฯ ที่จะเปิดสภาฯ ในวันที่ 1ส.ค.นี้ โดยจะมีการนำวาระที่สำคัญขึ้นมาพิจารณา ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีการพูดคุยกับตัวแทนของพรรคร่วมรัฐบาลที่ทำหน้าที่วิปรัฐบาลว่า มีข้อดีและข้อเสีย ระหว่างการแก้ไขรายมาตราและการแก้ไขทั้งฉบับ ทั้งที่เคยยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงมาตรา 291 ซึ่งโอกาสที่จะลงมติในวาระ 3 จะเป็นอย่างไรได้บ้าง โดยจะมีการนำข้อสรุปทั้งหมดไปให้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาร่วมกันในวันที่ 31 ก.ค.นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เนื่องจากการประชุมในวันนี้ป็นเพียงการประชุมวิปรัฐบาลเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าวิปรัฐบาล ที่มาจากพรรคร่วมมีความเห็นอย่างไร นายอุดมเดช กล่าวว่า ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าความเห็นส่วนใหญ่เหมือนกับที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม โดยบางคนเห็นว่าควรแก้ไขรายมาตราในมาตรา 291 และบางส่วนก็มีความกังวลกับการใช้ดุลพินิจขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ถึงแม้คำวินิจฉัยจะมีความชัดเจนลงมติวาระ 3ได้ แต่หลายคนกังวลว่าอาจจะมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและอาจจะมีการรับคำร้องอีกครั้ง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็อาจจะทำให้ชะงักได้ อีกทั้งกังวลว่าหากลงมติในวาระ 3 ก็อาจจะมีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก จึงอาจทำให้ได้เสียงไม่เท่าเดิม ทำให้ต้องพิจารณาในเรื่องนี้ว่าเมื่อถึงเวลาลงมติแล้วเสียงสนับสนุนจะเหลือเท่าไหร่ ซึ่งมีความกังวลในเสียงสนับสนุนของวุฒิสมาชิกและส.ส. ที่แม้จะมีพรรคร่วมรัฐบาบลก็ต้องมีการรับฟังว่ามีความกังวลในการลงมติวาระ 3 เป็นอย่างไร
ส่วนแนวโน้มจะเสนอแนวทางใดที่เป็นทางออกที่ดีที่สุด นายอุดมเดช กล่าวว่า มีทั้ง 2 แนวทาง ซึ่งการแก้ไขรายมาตราก็ต้องดูว่าจะแก้ไขมาตราใดบ้าง แต่หากแก้จำนวนมากก็อาจจะมีกระบวนการขัดขวางรวมทั้งแปรญัตติมากในแต่ละมาตรา แต่บางส่วนก็เห็นว่าเราเลือก ส.ส. เป็นตัวแทนก็น่าจะทำหน้าที่แก้ไขได้ก็เป็นแนวทางที่ดีที่สุด แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแบบนี้ก็ต้องดูว่ากระบวนการไหนจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด
สำหรับการประชุมสภาฯนัดพิเศษ ในวันที่ 1 ส.ค.นี้นั้น นายอุดมเดช กล่าวว่า จะมีเรื่องที่ประธานสภาฯ แจ้งต่อที่ประชุมให้รับทราบ แต่ไม่มีการบรรจุวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯ ซึ่งตนอยากจะบอกกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า ว่าวันที่ 1 ส.ค.นี้เป็นการประชุมนัดพิเศษ ไม่มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯ จึงไม่มีเหตุผลที่กลุ่มพันธมิตรฯ จะปลุกระดมมวลชนให้มาประท้วง
ส่วนการถอนร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯ ออกจากวาระการประชุมสภาฯนั้น ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน แต่ต้องถามผู้ที่ยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวและความเห็นจากพรรคร่วมรัฐบาลที่จะหารือกัน ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าบรรยากาศในขณะนี้ยังไม่เหมาะสมที่จะพิจารณาเรื่องนี้ และบางส่วนเห็นว่าการสร้างความปรองดองเป็นเรื่องที่ดี คนในสังคมยังเรียกร้องกันอยู่ จึงอยากเรียกร้องให้มาร่วมสร้างความปรองดองด้วยกัน โดยเฉพาะฝ่ายค้านที่อยากเรียกร้องให้ร่วมเสนอกฎหมายปรองดอง และนำมาพิจารณากันว่าร่างกฎหมายปรองดองฉบับใดเป็นประโยชน์ต่อสังคมก็ค่อยพิจารณาร่างกฎหมายปรองดองฉบับนั้น อย่างไรก็ตามการหารือของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในวันพรุ่งนี้(31 ก.ค.) จะมีท่าทีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและแนวทางการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯ ที่ชัดเจน
ขณะที่นายชวลิต วิชยสุทธิ์ วิปรัฐบาลฯ เลขานุการกรรมาธิการวิสามัญคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ อีกทั้งยังเป็น คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ทั้ง 2 ประเด็นวิปฯได้เสนอแนวทาง และเหตุผลปัจจัยต่างๆในการตัดสินใจ แต่ขึ้นอยู่กับแกนนำพรรคว่าจะเอาอย่างไร ส่วนตัวมองว่าหากมีการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญต่อ เชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภาก็น่าจะร่วมด้วยเช่นเดิม ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองนั้น ยืนยันทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนร่วม และยังมองว่าทางออกที่ดีคือต้องเปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายค้านมีส่วนร่วม โดยอาจจะส่งร่างกฎหมายมาประกบเพื่อประกอบการตัดสินใจจากประชาชน