ส.ส.เสื้อแดงพร้อมแกนนำนปช. รุกหนักจี้ "สุรพงษ์" รับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ สอบเหตุกระชับพื้นที่แดง พร้อมยื่นชื่อปชช.ถอด 7 ตุลาการ อ้างก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ "ธิดา" ติงขอชื่อปชช.ก่อนถอน ผิดตรรกะ
วันนี้ (1ส.ค.) ที่รัฐสภา นายเหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช. พร้อมด้วยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนพ.เชิดขัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ยื่นหนังสือส่งมอบ “ยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสังหาร” ให้กับนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
โดยในเนื้อหาของหนังสือระบุว่า ให้รัฐมนตรีโปรดส่งมอบคำประกาศ ยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสังหารประชาชนกลางกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนเมษายน และพฤกษาคม 2553” ให้แก่นายทะเบียนศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อให้ศาลฯ ได้มีเขตอำนาจศาลในการดำเนินการพิจารณาตามอำนาจที่ตราไว้ในธรรมนูญกรุงโรม อันประเทศไทยได้รับรองไว้แล้ว (แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรอง) กับบรรดาผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติดังกล่าว
ด้านนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วยส.ส.พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช.อาทิ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้นำรายชื่อประชาชนเข้ายื่นเพิ่มเติมจำนวน 15,000 คนต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 รักษาการปรานวุฒิสภา เพื่อยืนยันถึงเจตจำนงในการถอดถอนตุลาการรัฐธรรมนูญ 7 คน เนื่องจากก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ และทำตัวเหนือบทบัญญัติรัฐธรมนูญมาตรา 68 กรณีที่รับคำร้องการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐมธรรมนูญมาตรา 291
ประธานนปช.กล่าวต่อว่า โดยที่ผ่านมาได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงในการถอดถอน พร้อมทั้งยื่นรายชื่อประชาชนจำนวน 23,500 ชื่อแล้วเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. แต่ปรากกว่ามีรายชื่อไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบของทางราชการ ทั้งนี้นางธิดา ยังได้กล่าวติงหลักเกณฑ์การยื่นรายชื่อประชาชนว่าทำให้เกิดความยุ่งยาก เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ผิดตรรกะ
ขณะที่ นพ.เหวง กล่าวว่า ความจริงความผิดพลาดเล็ก ๆน้อย ๆที่ไม่ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมายตนก็พร้อมที่จะเซ็นรับรองว่ารายชื่อดังกล่าวเป็นของจริง และหากเกิดความผิดพลาดก็พร้อมที่จะรับผิดชอบ แต่ขณะนี้ผู้ที่ลงรายชื่อไว้อยู่ทั่วประเทศ ทั้งจังหวัดยะลา แม่ฮ่องสอน และนราธิวาส จะให้ลงวันที่ใหม่ก็เป็นเรื่องยาก
ด้านนิคม กล่าวว่า จากการตรวจสอบรายชื่อผ่านทางกกต. สำนักทะเบียนราษฎร์ ซึ่งพบว่ามีรายชื่อประชาชนจำนวน 7,515 ไม่เข้าเกณฑ์ เนื่องจากเป็นลงวันที่ก่อนที่จะมายื่นแสดงเจตจำนง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อบังคับของวุฒิสภา ก่อนที่จะยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) แต่หากเห็นว่ามีปัญหาก็จะหารือกับวุฒิสภาเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดให้กับประชาชนในการตรวจสอบ
สำหรับรายชื่อตุลาการรัฐธรรมนูญ 7 คน ประกอบด้วยนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานฯ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร นายเฉลิมพล เอกอุรุ นายนุรักษ์ มาประณีต นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ถูกยื่นถอดถอน