ศาล รธน.สวนกลับ “เฉลิม” กล่าวหาเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางคดีแก้ รธน.ไม่โปร่งใส เหน็บเคยเป็นถึง รมว.ยุติธรรม น่าจะรู้ดีถึงกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องคำพิพากษา ด้านโฆษก ศาล รธน.แถลงแจ้งความเอาผิดแก๊งแดง 6 คดี ฐานข่มขู่ คุกคาม ขืนใจ ดูหมิ่น ตุลาการ ชี้จำเป็นต้องปกป้ององค์กร
วันนี้ (30 ก.ค.) นายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 55 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามต่อบุคคล คือ 1. นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และ 198 และข้อหาทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว และการตกใจโดยการขู่เข็ญ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 จากการกล่าวปราศรัยที่หน้าบริเวณรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 55 ที่ผ่านมา
คดีที่ 2 นายก่อแก้ว พิกุลทอง ในข้อหาข่มขืนใจเจ้าพนักงาน ให้ปฏิบัติการอันไม่ชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษา ในการพิจารณาพิพากษาคดี หรือทำการขัดขวางการพิจารณา หรือพิพากษาของศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139, 140 และมาตรา 198 และข้อหาทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว ความตกใจโดยการขู่เข็ญ ตามประมวลกกหมายอาญา มาตรา 392 จากการปราศรัยต่อกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง เวทีเขตมีนบุรี เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. และจากการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 55 ที่ผ่านมา
คดีที่ 3 จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และดูหมิ่นศาลในการพิจารณาพิพากษาคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 198 จากการแถลงข่าวผ่านทางทีวีเอเชียอัพเดต เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 55
คดีที่ 4 นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จว่าคณะตุลาการกระทำความผิดเพื่อให้ได้รับโทษทางอาญา ที่กองปราบปราม เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 55 ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172-174
คดีที่ 5 กลุ่มบุคคลประกอบด้วย 1. นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ 2. นายมาลัยรักษ์ ทองชัย 3. น.ส.เพ็ญสุดา สินธุญา 4. น.ส.นวพร ประเสริฐอำนวย 5. นายวิสันต์ บุญประกอบ 6. น.ส.สุวรรณา แสงรัตน์ 7. นายวันชัย สหกิจ 8. น.ส.สุพร แซ่จึง 9. นายไพโรจน์ ทิพวารี 10. น.ส.ปราณี ปรางทอง
11. นายอิทธิวัฒน์ อนุวัตรวิมล 12. นายถนอม สุทธินันท์ 13. นายปาน พลหาญ 14. นายแดง บำเพ็ญสิน 15. นายมะลิ หอระดาน 16. นายสุรเดช บัณดิต 17. น.ส.นันทกา อินทรานนท์ 18. นายนคิรินทร์ ทุมพันธ์ 19. นายไพร็อท ภูกาน 20. นายธีรชัย อุตรวิเชียร 21. ว่าที่ร้อยตรีณราสิน ศรีสันต์ 22. น.ส.สำเนียง นาคพิทักษ์ 23. นางเวียง ศรีคร้าม 24. นายสมศักดิ์ นาคา 25. นายศุภชัย ตระกูลธนกร และ 26. นายสุริน เพ็ชรรัตน์ ในข้อหาร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ว่าคณะตุลาการกระทำความผิดเพื่อให้รับโทษทางอาญา ที่สถานีตำรวจภูธรคูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 55 ซึ่งถือว่ามีความผิดตามประมวลกกหมายอาญา มาตรา 172-174
และคดีที่ 6 นายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ และพวกไม่ทราบชื่อ จำนวนประมาณ 50 คน ในข้อหาร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และดูหมิ่นศาลในการพิจารณาพิพากษาคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 136 และ มาตรา 198 เหตุเกิดบริเวณหน้าอาคารสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับเหตุที่ต้องร้องทุกกล่าวโทษดังกล่าว เนื่องจากภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการรับพิจารณาวินิจฉัยกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่แล้ว บุคคลเหล่านี้ได้มีการแถลงข่าว ปราศรัย ตลอดจนใช้วิธีการต่างๆ เพื่อบีบบังคับข่มขืนใจให้วินิจฉัยคดีให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนเอง โดยมีการกระทำเป็นกระบวนการ ร่วมกันเป็นตัวกลาง แบ่งหน้าที่กันทำปราศจากความเคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง จึงจำเป็นที่สำนักงานต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง อันเป็นภัยร้ายแรงต่อความสงบของบ้านเมือง ซึ่งในส่วนของบุคคลอื่นที่ได้กระทำในลักษณะเดียวกัน แต่ยังไม่ปรากฏชื่อนั้น ทางสำนักงานจะดำเนินการในลักษณะเดียวกันต่อไป
“การร้องทุกข์เป็นหนทางเดียวที่สำนักงานจะปกป้องสถาบันได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติอื่นใดที่จะปกป้องตัวเราเองได้ นอกจากการใช้กระบวนการขอความยุติธรรมจากศาล และชี้แจงต่อสารธารณะ ซึ่งการดำเนินการไม่ได้เกี่ยวข้องกับคณะตุลาการ เพราะสำนักงานเป็นนิติบุคคล เมื่อมีอะไรมากระทบก็สามารถที่จะดำเนินการเองได้ โดยทางสำนักงานจะมีคณะทำงานพิจารณาว่าจะมีหนทางใดที่จะปกป้องสถาบันเอาไว้ และในข้อเท็จจริงเราไม่มีเจตนาที่จะมุ่งร้ายกับใคร แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชัดเจนว่ามีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย ผรุสวาท อาฆาตมาดร้ายตุลาการ ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การกระทำหรือคำกล่าวไหนจะผิดจะถูกศาลจะเป็นผู้พิสูจน์ แต่ในส่วนที่เป็นการหมิ่นประมาทตุลาการเป็นการเฉพาะตัวนั้น ทางตุลาการก็จะวิเคราะห์ด้วยตนเอง ถ้าเห็นว่าทำให้ตนเองเกิดความเสียหาย ท่านก็จะดำเนินการด้วยตนเอง แต่ในชั้นนี้ยังไม่พบว่ามีตุลาการไปดำเนินการแจ้งความเป็นการส่วนตัว”
นายสมฤทธิ์ยังได้กล่าวชี้แจงกรณีที่นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา ให้ความเห็นว่าคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนเพียง 4 คน ส่วนอีก 4 คนคลุมเครือไม่ออกไปทางใด ส่งผลให้ทางสำนักงานกฤษฎีกาต้องไปตีความคำวินิจฉัยก่อนจะเสนอแนวทางว่ารัฐบาลควรทำอย่างไรว่า ที่จริงแล้วคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการทั้ง 8 คน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 4 ต่อ 4 เท่านั้น ประกอบด้วย กลุ่มแรกที่บอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 291 เป็นอำนาจของรัฐสภาจะแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตราก็ได้ ประกอบด้วย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายบุญส่ง กุลบุปผา นายชัช ชลวร และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ส่วนตุลาการอีก 4 คนก็มีความเห็นว่าไม่สามารถแก้ทั้งฉบับได้ แต่หากถามว่าจะต้องฟังเสียงทางไหน ก็ต้องไปดูตามคำวินิจฉัยกลาง ในประเด็นที่ 2 ที่ทางศาลรัฐธรรมนูญได้เสนอแนวทางไปให้แล้วว่ารัฐสภาควรจะทำอย่างไรต่อไป
ด้าน นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ระบุว่าการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางก่อนคำวินิจฉัยส่วนตน แสดงว่ามีความไม่โปร่งใสว่า การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวอาจจะทำให้ประชาชนและสังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระบวนการเกี่ยวกับการทำคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการฯ นั้น เมื่อองค์คณะตุลาการฯ ได้นัดประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจาก่อนการลงมติ ตุลาการฯ ทุกคนต้องจัดทำคำวินิจฉัยส่วนตนมาก่อนแล้ว และเมื่อลงมติเสร็จเรียบร้อยทุกคน ตุลาการฯ ก็จะต้องส่งคำวินิจฉัยส่วนตนให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทันที เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและความเหมาะสม
โดยการตรวจสอบดังกล่าวทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของคำวินิจฉัยทั้งถ้อยคำ รูปแบบ วรรคตอน คำผิดคำถูก และตัวบทกฎหมาย ดังนั้น คณะทำงานต้องใช้เวลาพอสมควรในการตรวจสอบ และหลังจากการตรวจสอบแล้วต้องเสนอคำวินิจฉัยกลางให้องค์คณะพิจารณา ส่วนคำวินิจฉัยส่วนตนจะนำเสนอตุลาการฯแต่ละคนพิจารณา ซึ่งตุลาการฯแต่ละคนจะเห็นด้วยกับการเสนอขอแก้ไขของคณะทำงานหรือไม่ก็ได้ หรือตุลาการฯอาจจะปรับปรุงความเห็นเพิ่มเติมที่ไม่ใช่มีผลเปลี่ยนแปลงสาระ สำคัญของคำวินิจฉัยส่วนตนให้สมบูรณ์ก็ได้ ทั้งนี้ เมื่อเสร็จแล้วก็จะส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งก่อนที่จะส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่มีคำวินิจฉัย
“การตรวจสอบความถูกต้องของคำวินิจฉัยกลาง และคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปในลักษณะเดียวกับศาลอื่นๆ ที่จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องก่อน ซึ่งในอดีต ร.ต.อ.เฉลิมก็เคยดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม จึงคิดว่าน่าจะเข้าใจความถูกต้องของคำพิพากษาศาลยุติธรรมเป็นอย่างดี และก่อนหน้านี้ในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการฯแต่ละคนก็ออกมาภายหลังคำวินิจฉัยกลางเช่นกัน”
นายพิมลกล่าวว่า การเผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการฯ ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดให้เผยแพร่คำวินิจฉัยลงในเว็บไซต์ของสำนักงานฯ แต่ตุลาการฯ เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ กระทบต่อการเมืองการปกครองของประเทศ และอยู่ในความสนใจของประชาชน ก็ควรที่จะมีการเผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการฯ ให้ทราบโดยทั่วกัน