xs
xsm
sm
md
lg

สภาทนายความ เตือน! ขบวนการข่มขู่ศาล รธน.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“สภาทนายความ” ออกแถลงการณ์กรณีการข่มขู่ กดดันการวินิจฉัยชี้ขาดคดีมาตรา 68 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันศุกร์ที่ 13 ก.ค.นี้ว่า ที่ผ่านมามักมีบุคคล กลุ่มบุคคล และสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงทิศทางการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันดังกล่าว เข้าข่ายชี้นำ หรือข่มขู่ กดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (11 ก.ค.) นายเจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่ายนโยบายและแผนงาน สภาทนายความ ออกแถลงการณ์กรณีการข่มขู่ กดดันการวินิจฉัยชี้ขาดคดีมาตรา 68 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันศุกร์ที่ 13 ก.ค.นี้ว่า ที่ผ่านมามักมีบุคคล กลุ่มบุคคล และสมาชิกพรรคการเมืองบางคนได้แสดงความคิดเห็น หรือรวมตัวชุมนุมในที่สาธารณะหรือบริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะข่มขู่ กดดัน และชี้นำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยคดีในทางที่เป็นคุณแก่ตนเองและพวกพ้อง เมื่อใดที่ศาลมีคำวินิจฉัยที่เป็นคุณแก่ตนเองและพวกพ้อง ก็จะชื่นชมว่ามีความเป็นกลาง มีความยุติธรรม แต่เมื่อใดที่มีคำวินิจฉัยที่เป็นผลร้ายแก่ตนเองและพวกพ้องก็จะกล่าวหาว่าไม่มีความเป็นกลาง ไม่มีความยุติธรรม ซึ่งสภาทนายความได้ติดตามข่าวสารในเรื่องนี้มาตลอด สภาทนายความเห็นว่าการวินิจฉัยชี้ขาดคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

นายเจษฎากล่าวว่า รัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมตามบทบัญญัติ ในมาตรา 45 และมาตรา 63 ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่การใช้เสรีภาพดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น รวมทั้งต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นด้วย การแสดงความคิดเห็นหรือรวมตัวกันในลักษณะข่มขู่ กดดัน และชี้นำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อาจเป็นการกระทำความผิดฐานข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยอำนาจหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย และอาจเป็นการดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณา และพิพากษาของศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 และมาตรา 298

นอกจากนี้ การข่มขู่ กดดัน และชี้นำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการทำลายระบบตุลาการที่เป็นเสาหลักในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สภาทนายความจึงขอเรียกร้องให้ยุติการข่มขู่ กดดัน และชี้นำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาพิพากษาคดีโดยอิสระและเที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ. 2550 และขอสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีโดยปราศจากอคติ
กำลังโหลดความคิดเห็น