“ราเมศ” พร้อมด้วย กลุ่มกรีน ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบจริยธรรมตำรวจทั้ง “เพรียวพันธ์-อดุลย์” หลังยอมรับบินไปฮ่องกง พบ “ทักษิณ” ซัดถึงเป็นญาติแต่ต้องบังคับใช้กฎหมาย ชี้ ปชช.อาจขาดความเชื่อมั่น ไม่ไว้วางใจ ตร. ด้านผู้ตรวจการฯ เผยหากมีมูลพร้อมส่งต่อนายกฯ ตัดสิน แต่หากเห็นแย้งคำชี้แจงก็มีสิทธิไต่สวน
วันนี้ (27 ก.ค.) นายราเมศ รัตนะเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ และนายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานฯ ขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณียอมรับว่า เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้ต้องโทษหนีคดีอาญาที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เนื่องจากเข้าข่ายขัดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยตำรวจ
โดยนายราเมศกล่าวว่า แม้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ และพ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นญาติกัน แต่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็น ผบ.ตร. มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้สัมฤทธิผล ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ต้องโทษหนีคดี การบังคับใช้กฎหมายนั้นหากละเว้นคำว่าเพราะเป็นญาติเป็นการผิดต่อจริยธรรมอย่างรุนแรง
“เราไม่ห้ามท่านเพรียวพันธ์เดินทางไปต่างประเทศ แต่ต้องไปในฐานะเจ้าหน้าที่ที่ประสานเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดกลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม แต่นี่ท่านกลับไปพบแล้วไม่ดำเนินการใดๆ ถือว่าเข้าข่ายขัดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจอย่างชัดเจน” นายราเมศกล่าว
ด้าน นายจาตุรันต์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวสะท้อนถึงปัญหาจริยธรรมของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์อย่างร้ายแรงที่สุด อาจส่งผลให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นและนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจองค์กรตำรวจ แม้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์จะเป็นพี่ชายของคุณหญิงพจมาน อดีตภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่การที่ ผบ.ตร.เดินทางไปพบผู้ต้องโทษหนีคดี ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่สามารถจำแนกแยกแยะความเป็นส่วนตัวและความสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ของข้าราชการระดับสูงได้เลย ซึ่งก็มีข่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณก่อนหน้านี้ด้วย จึงขอให้ผู้ตรวจฯใช้อำนาจตรวจสอบบุคคลทั้งสอง
“การเดินทางไปเข้าพบผู้ร้ายหลบหนีอาญาแผ่นดิน แล้วไม่ดำเนินการเพื่อจับกุมตามระบบขั้นตอนของกฎหมาย หรือทำการที่เป็นเหตุให้ตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความยำเกรงผู้ร้ายคนดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่องานราชการในการบังคับใช้กฎหมายขององค์กรตำรวจไทยให้เสื่อมทราม ประชาชนจะขาดความเชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจการทำหน้าที่รักษากฎหมายขององค์กรตำรวจไทยในที่สุด ขณะเดียวกัน ถ้าผู้ที่มีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็จะส่งผลให้ประชาชนชาดความเชื่อมั่น และอาจนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจองค์กรตำรวจที่เป็นหน้าด่านของระบบยุติธรรม และผู้รักษากฎหมาย ประชาชนก็จะไม่เชื่อมั่นศรัทธาในกฎหมายบ้านเมืองและนำไปสู่สภาวะไร้ขื่อแปของบ้านเมืองในอนาคตได้” นายจาตุรันต์กล่าว
ด้าน นายเฉลิมศักดิ์กล่าวว่า หลังรับคำร้องแล้วหากผู้ตรวจฯเห็นว่าอยู่ในอำนาจก็จะต้องส่งเรื่องให้กับผู้บังคับบัญชาของ ผบ.ตร. ซึ่งในที่นี้น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจสอบว่ามีการกระทำตามที่มีการร้องจริงหรือไม่ หากจริงแล้วมีการดำเนินการอย่างไร โดยแจ้งกลับมายังผู้ตรวจฯ ทราบ แต่ถ้าผู้ตรวจฯ ไม่เห็นด้วยต่อคำชี้แจงดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าหลักฐานตามคำร้องมีมูลก็สามารถเปิดการไต่สวนสาธารณะได้