รมช.เกษตรฯ ล้อมคอกเรียก 47 ผู้ว่าฯ หารือโครงการพยุงราคายาง 1.5 หมื่นล้าน รับเงินยูโรร่วง กระทบราคาทั้งระบบ ย้ำ รัฐขายต่อต้องไม่ขาดทุน เชื่อ ชาวสวนยางพอใจราคากลาง แม้ไม่ถึง 120 บาทต่อ กก.จับมือกระทรวงอุตสาหกรรมแปรรูปยางเพิ่มมูลค่า
วันนี้ (23 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 47 จังหวัดพื้นที่ปลูกยางพารา ว่า เป็นการประชุมเพื่อหารือรายละเอียดหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติของโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อที่จะให้ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการระดับจังหวัดได้รับทราบ และนำไปจัดประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อสื่อสารข้อมูลรายละเอียดการดำเนินโครงการให้เป็นที่ทราบในพื้นที่ต่อไป โดยตนได้จัดทำคู่มือการดำเนินโครงการมอบให้ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด เพื่อใช้สำหรับทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมไปถึงการสรุปสถานการณ์ยางพาราทั้งในและต่างประเทศเป็นข้อมูลพื้นฐาน
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมส่วนใหญ่ให้การตอบรับมาตรการ และเห็นตรงกันว่า เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น โดยรัฐบาลต้องมีมาตรการระยะยาว เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบให้มีความเข้มแข็ง และสร้างรายได้เข้าประเทศ นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ได้สะท้อนจากสถานการณ์จริง เช่น สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการบางสถาบัน ยังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ การซื้อยางมาขายในราคาโครงการ และอยากให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เข้าไปดูแลใกล้ชิด ตนจะรีบสั่งการในส่วนนี้ ขณะเดียวกันผู้ว่าฯยังอยากให้องค์การสวนยางเพิ่มจุดรับซื้อมากขึ้นด้วย
รมช.เกษตรฯ กล่าวต่อถึงสถานการณ์ราคายางในขณะนี้ด้วยว่า จากสถานการณ์ค่าเงินยูโรตกต่ำมากที่สุดในรอบ 12 ปี ทำให้มีผลกระทบต่อราคายางทั้งตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ และตลาดภายในประเทศ อาทิ ตลาดในญี่ปุ่นตกลงมาที่ 3 บาทกว่าต่อกิโลกรัม ตลาดเซียงไฮ้ตกลงมา 7 กว่ากิโลกรัม ขณะที่ของไทยตลาดกลางหาดใหญ่ ตกลง 1.50 บาท อย่างไรก็ตาม โครงการยังยืนยันจะเดินหน้าต่อ โดยตนมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในยุโรปและเวทีโลกอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบสต๊อกยางพารา คาดว่า จะได้รับรายงานภายในสัปดาห์นี้ ตนคิดว่า ผลผลิตที่เก็บเข้ามา หากมีการเจรจาขายได้กับผู้ซื้อที่เป็นผู้ผลิตโดยในต่างประเทศ พร้อมที่จะนำยางในโครงการออกจำหน่าย แต่ขายต้องไม่ขาดทุน หรือหากต้องขายต่ำกว่าราคาซื้อจะขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นครั้งๆ ไป
ส่วนกรณีที่ม็อบเกษตรกรเรียกร้องราคายางให้ได้ 120 บาทต่อกิโลกรัมนั้น นายณัฐวุฒิ เปิดเผยว่า ส่วนใหญ่ ผู้ว่าฯ ไม่ได้กังวล เพราะเชื่อว่าเกษตรกรจะเข้าใจ เนื่องจากราคาที่รัฐบาลกำหนดไว้ ถือว่าน่าพอใจในปัจจุบัน และบวกกับความผันผวนของเศรษฐกิจในเวทีโลก ตนเชื่อว่า ถ้าประชาชนเห็นว่า รัฐบาลตั้งใจ และทุ่มเท เชื่อว่า จะได้รับการยอมรับ อย่างไรก็ตาม เรื่องที่หารือกันจะรายงานที่ประชุม ครม.และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์ร่วมกัน ซึ่งนายกฯสั่งให้ตนประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการวางแผนส่งเสริมการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า