กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง
ภายหลังหลังที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย พ้นความหนักใจในเรื่องคดีล้มล้างการปกครอง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชี้ว่าไม่ได้เป็นกระทำที่ขัดต่อมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ
ส่งผลให้เรื่องการปรับครม.เริ่มกลับมาถูกจับตามองและมีการตรวจสอบกระแสข่าวความเป็นไปได้อย่างคึกคัก
“ยิ่งลักษณ์3”จะเกิดขึ้นเมื่อใด รัฐมนตรีคนไหนจะถูกปรับออกหรือปรับเปลี่ยนโยกย้ายกระทรวง -ใครบ้างที่จะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในการปรับครม.ที่จะเกิดขึ้น
กระแสข่าวและการวิเคราะห์จากคนในเพื่อไทยว่า ความเป็นไปได้ในการปรับครม.มีได้แค่ 2 สูตร
สูตรที่หนึ่ง ปรับครม.ก่อนเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ประกาศแล้วว่าเมื่อมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฏร ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและครม.ทั้งคณะ
แต่ยังไม่ระบุช่วงเวลาที่แน่ชัดว่าจะเป็นช่วงไหนของสมัยประชุมสภาฯ คาดกันว่า คงรอให้สภาฯเปิดไปก่อนอย่างน้อย 1 เดือนเป็นอย่างต่ำ ถึงค่อยยื่นญัตติซักฟอก ยกเว้นแต่มีสถานการณ์การเมืองบางอย่างแปรเปลี่ยน ประชาธิปัตย์ก็อาจยื่นเร็วขึ้นหรือยื่นช้าลงก็ได้
อีกหนึ่งสูตรคือปรับครม.หลังเสร็จสิ้นการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือให้เสร็จสิ้นศึกซักฟอกไปก่อนแล้วค่อยว่ากันทีเดียว ซึ่งหากออกมาสูตรนี้ น่าจะเป็นการปรับใหญ่
ทั้งสองสูตรดังกล่าว คือจะปรับก่อนหรือปรับหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไป
ถึงปรับก่อนอภิปรายก็ไม่มีผลใดๆ ต่อตัวยิ่งลักษณ์สำหรับศึกซักฟอกอยู่แล้ว เพราะอย่างไรเป้าใหญ่ของฝ่ายค้านในการเปิดอภิปรายฯก็คือตัวยิ่งลักษณ์เท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆ จะเป็นน้ำจิ้มเติมความเผ็ดร้อนในศึกซักฟอกเพื่อเชื่อมโยงไปให้ถึงตัวยิ่งลักษณ์เท่านั้น
แม้ต่อให้ปรับรัฐมนตรีบางคนที่ดูแล้วอาจเป็นเป้าใหญ่ในศึกซักฟอกออกไปก่อน เพื่อหวังจะทำให้ดีกรีการอภิปรายลดทอนความแรงลงไปเพราะรัฐมนตรีที่ดูแล้วจะโดนฝ่ายค้านซัดหนักกลางสภาฯ ถูกปรับออกไปแล้ว แต่ของแบบนี้ ประชาธิปัตย์ก็สามารถอภิปรายโยงไปให้ถึงยิ่งลักษณ์และทักษิณ ชินวัตรได้ไม่ยาก
สมมุติเช่น สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ซึ่งน่าจะโดนซักฟอกหนักในหลายเรื่องเพื่อโยงไปให้ถึงตัวยิ่งลักษณ์และทักษิณ ในประเด็นเรื่องการทำงานแล้วมีลักษณะอาจไปเอื้อประโยชน์ให้กับทักษิณ
ถึงปรับสุรพงษ์ออกจากรมว.ต่างประเทศ แล้วเอาคนอื่นมาเป็นแทน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ฝ่ายค้านยุติการอภิปรายเรื่องนโยบายการต่างประเทศต่างๆ เช่น กรณีการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาของนาซ่าและกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา ไปได้
ต่อให้ยิ่งลักษณ์หรือรมว.ต่างประเทศคนใหม่ที่จะมาแทนสุรพงษ์ไม่ชี้แจงการอภิปรายของฝ่ายค้านโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของนายสุรพงษ์ที่โดนปรับออกไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประชาธิปัตย์ไม่อภิปรายพาดพิงไปถึงตัวยิ่งลักษณ์และทักษิณแน่นอน
แต่ข้อดีของการปรับครม.ก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจในทางการเมืองแล้วก็มีผลระดับหนึ่งคือหากปรับรมต.บางคนที่ดูแล้ว ไม่มีผลงานหรือทำงานมีปัญหาออกไปก่อน ก็จะทำให้การอภิปรายของฝ่ายค้านแม้จะพยายามโยงไปให้ยิ่งลักษณ์และทักษิณ แต่ก็ทำให้น้ำหนักความรุนแรงถูกลดทอนไประดับหนึ่ง อีกทั้งในความรู้สึกของประชาชน ก็จะมองว่ารมต.คนไหนที่ดูแล้วไม่เอาอ่าวไม่มีผลงาน ยิ่งลักษณ์ ก็ได้ปรับออกไปแล้ว
ขณะที่ข้อเสียของการปรับครม.หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็มีหลายประการ
อาทิ หากรัฐมนตรีคนไหนโดนซักฟอกหนักกลางสภาฯ แจงไม่ได้ ชี้แจงไม่ขึ้น สังคมเห็นชัดว่าทำงานไร้ประสิทธิภาพ เคลียร์คำอภิปรายของฝ่ายค้านในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นไม่ได้ ยิ่งหากฝ่ายค้านเชื่อมโยงไปถึงตัวยิ่งลักษณ์-ทักษิณ ได้ก็จะทำให้ยิ่งลักษณ์เสียตามไปด้วย
การปรับออกหลังเสร็จสิ้นศึกซักฟอกก็อาจช้าไม่ทันการ จะพากันเดี้ยงหนักกลางสภาฯไปทั้งตัวยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีที่โดนฝ่ายค้านถล่มเละกลางสภาฯ
กรณีแบบนี้ เห็นมาแล้วหลายครั้งหลายครา อย่างกรณี ที่ทักษิณ ชินวัตร อุ้มสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กรณีเรื่องข้อกล่าวหาการทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ ที่ปล่อยให้เรื่องลุกลามบานปลาย ทั้งที่ไม่ยอมปรับออกตั้งแต่แรกๆ
เมื่อเกิดการขุดเรื่องซีทีเอ็กซ์ แล้วมาปรับออกจากตำแหน่งรมว.คมนาคมหลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ปรากฏว่าช้าเกินแกงไปแล้ว ฝ่ายค้านลากเรื่องซีทีเอ็กซ์โยงไปถึงทักษิณจนคนเชื่อกันไปหมด จนทำให้เรื่องซีทีเอ็กซ์กลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้กระแสนิยมในตัวทักษิณเริ่มติดลบกับเรื่องทุจริตคอรัปชั่น
อย่างไรก็ตาม สำหรับยิ่งลักษณ์ พบว่าถึงตอนนี้ยังไม่มีรัฐมนตรีคนไหนในรัฐบาลตัวเองมีข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตร้ายแรง ชนิดอาการหนักหนาสาหัสแบบที่สุริยะโดนเรื่องกรณีซีทีเอ็กซ์ คงมีเพียงรัฐมนตรีบางคนซึ่งถูกวิจารณ์ว่าทำงานไม่เป็น บริหารงานไร้ประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้ ก็เป็นไปได้ที่ทักษิณและยิ่งลักษณ์ ก็อาจเลือกตัดสินใจปรับครม.หลังเสร็จศึกซักฟอก แม้ส่วนใหญ่เชื่อว่าน่าจะปรับก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจมากกว่า
ท่ามกลางกระแสข่าวที่ออกมาหลายระลอกว่า จะมีความชัดเจนหลังผ่านพ้นวันที่ 26 กรกฏาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของทักษิณ ชินวัตร พอผ่านวันดังกล่าวแล้ว ทักษิณคงตัดสินใจแล้วว่าจะเอาอย่างไร
เพราะเดิมทีเดียวทักษิณตั้งใจปรับครม.ตั้งแต่หลังพวก 111 ไทยรักไทยพ้นโทษแบนคดีการเมืองเมื่อปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาแล้ว เพื่อให้ตำแหน่งการเมืองกับพวก 111 ไทยรักไทยที่อยู่ช่วยงานทักษิณมาตลอดตั้งแต่สมัยพรรคพลังประชาชนจนถึงมีส่วนสำคัญในการอยู่เบื้องหลังชัยชนะของเพื่อไทยในการเลือกตั้ง
อีกทั้งยังเป็นการทำงานครบ 5 เดือนพอดีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2 จึงเป็นจังหวะเหมาะที่จะมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งในครม.
แต่พอศาลรธน.รับวินิจฉัยคำร้องคดีแก้ไขรธน.เมื่อ 1 มิถุนายน ก็ทำให้แนวคิดการปรับครม.ต้องพักไว้ก่อน แต่พอศาลรธน.ยกคำร้องไปแล้ว เรื่องการปรับครม.ก็เลยถูกคนในรัฐบาลและเพื่อไทยพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยกระแสข่าวการปรับครม.ที่ออกมาต่อเนื่องเวลานี้ พบว่ามีหลายกลุ่มในเพื่อไทยพยายามสร้างข่าวออกมาในลักษณะโยนหินถามทางรวมถึงดักทางฝายตรงข้ามเพื่อแย่งเก้าอี้กันเอง
เช่น เก้าอี้ รมว.มหาดไทย ก็มีข่าวลือหลายกระแส บางกระแสที่เชียร์เฉลิม อยู่บำรุง ก็บอกเฉลิมจะกลับมาเป็นมท. 1 ส่วนยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ จะเหลือแค่รองนายกรัฐมนตรีตำแหน่งเดียว ส่วนคนที่จะไปเป็นรองนายกฯแทนเฉลิม ก็คือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.
บางกระแสไปถึงขั้นว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์จะมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีควบรมว.มหาดไทย แม้ก่อนหน้านี้พล.ต.อ.เพรียวพันธ์จะยืนกรานว่าจะอยู่เป็นผบ.ตร.จนเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. 55 จนเป็นที่มาของกระแสข่าวที่ว่าทักษิณและคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร น้องสาวพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เห็นว่าควรจะปรับครม.หลังเสร็จศึกอภิปรายฯ เพื่อรอพล.ต.อ.เพรียวพันธ์
ทว่าพอมีการตั้งพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นว่าที่ผบ.ตร.เสร็จ ก็ปรากฏว่าพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ชักพูดจาไม่เหมือนเดิมแล้วคือไม่ยืนยันว่าจะอยู่จนถึง 30 ก.ย. 55 แต่บอกว่า หากต้องไปทำงานการเมืองจริง ก็จะไม่ขอไปแย่งคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) เพราะถนัดงานปราบปรามยาเสพติด
แบบนี้ เลยมีความเป็นไปได้ว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์น่าจะได้มีตำแหน่งใหญ่ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์แต่จะเป็นก่อนหรือหลัง 30 ก.ย. ก็ยังไม่มีใครรู้
ขณะที่รัฐมนตรีหลายคนซึ่งถูกเก็งกันว่าน่าจะโดนปรับออกแน่นอนเพื่อเอาตำแหน่งไปให้คนในเพื่อไทยคนอื่นได้เข้ามาเป็นรมต.กันบ้างโดยเฉพาะพวกรัฐมนตรีที่ได้ตำแหน่งตามโควต้าการเมือง ก็ต้องปรับออกให้คนอื่นได้ขึ้นมาเป็นบ้าง
ซึ่งตอนนี้ ก็มีชื่อออกมากันหลายคนแต่ก็ยังเป็นแค่กระแสข่าวและการคาดการณ์เท่านั้น บางรายก็อาจได้อยู่ต่อก็ได้ หรือบางชื่อก็ค่อนข้างชัวร์ว่าไม่รอดโดนปรับออกแน่นอน
ชื่อที่ปรากฏออกมาก็มีหลายคน อาทิ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณฑัต รมว.กลาโหม-พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม- สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ -จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม-ศักดา คงเพชร รมช.ศึกษาธิการ -ภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์-ชูชาติ หาญสวัสดิ์ รมช.มหาดไทย-ฐานิสร์ เทียนทอง รมช.มหาดไทย-พล.ต.ท.ชัชจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม-นลินี ทวีสิน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข เป็นต้น
ดูๆไปแล้วไม่ว่าจะปรับครม.ช่วงไหนหรือแบบไหน ก็เป็นการปรับครม.เพื่อผลทางการเมืองกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์และตัวทักษิณ ชินวัตรรวมถึงกับพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก หาใช่ปรับโดยยึดประชาชนและประเทศชาติเป็นศูนย์กลางแต่อย่างใด
ดังนั้นจะปรับแบบไหน ปรับใครบ้าง ประชาชนอย่างเราก็อย่าได้ไปคาดหวังอะไรมากนักเลย เพราะปรับไปอย่างไรก็คงไม่ดีขึ้นหากยังมีผู้นำรัฐบาลสมองกลวงแบบ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร